ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาอุตฯท่องเที่ยว เตรียมเสนอ สสว.หนุนระบบสารสนเทศ กลไก เพิ่มขีดความสามารถแรงงาน รองรับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ระบุ ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ และแรงงานต้องปรับตัว คาด ใช้เวลา 1 ปี ยกระดับมาตรฐานแรงงานไทย พร้อมรับศึกอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการยังใช้โอกาสนี้ ขยับฐานราคาสู่สมดุลราคาค่าบริการ ตามหลักดีมานด์ และซัปพลาย ด้านผู้ประกอบการโรงแรม มอง “เอาท์ซอร์ส” เป็นทางออก ลดการแบบภาระค่าใช้จ่าย ด้านปลัดกระทรวงท่องเที่ยว เพิ่งตื่น นัด หารือเอกชน วิเคราะห์ปัญหา
เริ่มแล้วกับการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ วันละ 300 บาท ตามประกาศของกระทรวงแรงงาน ผู้ประกอบการต้องก้มหน้ารับ ขณะที่แรงงานก็หนาวๆ ร้อนๆ กลัวเก้าอี้สั่นคลอน หลายคนกำลังมองหาทางออก ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เริ่มเห็นการปรับตัว รองรับนโยบายนี้
***เสนอ สสว.ติดดาบแรงงาน****
นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานฝ่ายนโยบาย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในวันอังคารที่ 3 เม.ย.ศกนี้ สทท.เตรียมเสนอให้ สสว.ให้เงินสนับสนุนการพัฒนาขีดความสามารถของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ด้วยการสนับสนุน คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นระบบสารสนเทศ พร้อมจัดโครงการฝึกอบรมที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้แก่แรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ถือเป็นการยกระดับแรงงานของอุตสาหกรรม ให้มีประสิทธิภาพ ทัดเทียม หรือคุ้มค่า กับเงินค่าแรงที่จะได้เพิ่มขึ้น จากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท
ทั้งนี้ สทท.มองว่า การชะลอเวลาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คงไม่สามารถทำได้ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายระบุ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการ และ แรงงาน จะต้องดำเนินการนับจากนี้ต่อไป คือ การใช้แรงงานที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในด้านการตลาดเพิ่มรายได้ ให้ทันกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น จากจำนวนแรงงานที่มีอยู่ ส่วนภาคแรงงาน จะต้องปรับเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มความขยันในการทำงาน ภาครัฐจะมีส่วนช่วยในเรื่องของการให้ความรู้เพิ่มเติม
เบื้องต้นหลังปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จะเกิดการปรับตัวเข้าสู่สมดุลในราคาค่าบริการ ตามหลักดีมานด์ และซัปพลาย ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ปรับขึ้นค่าแรง เกิดการขยับราคาค่าบริการ ราคาห้องพัก ให้เข้าสู่ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะในอุตสาหกรรมนี้จะมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้านาน 1 ปี ซึ่งก็จะทยอยครบรอบ นับจากนี้ และจะเห็นว่า ระยะแรก จะใช้แรงงานอย่างจำกัด ไม่มีการจ้างงานเพิ่ม หรือจ้างงานใหม่ มาแทนคนเก่าที่ลาออก แต่ก็จะไม่ปลดแรงงานที่มีอยู่เดิม เพราะโดยธรรมชาติ ในอุตสาหกรรมนี้ยังถือว่าขาดแคลนแรงงานคุณภาพอยู่แล้ว
“ต้นทุนค่าแรงงาน คิดเป็น 20-30% ของต้นทุนทั้งหมดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงอีก 40% ก็จะเฉลี่ยเป็นต้นทุนแรงงานที่จะเพิ่มขึ้นอีกราว 12% คือ เพิ่มเป็น 40-42% ของต้นทุนรวม ซึ่งจะหนักมากสำหรับผู้ประกบอการเอสเอ็มอี ซึ่ง สทท.เห็นด้วยกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ต้องการให้ปรับขึ้นแบบขั้นบันไดภายใน 3 ปี แต่เมื่อรัฐบาลยังเดินหน้ามาตรการนี้ เราก็ต้องหันมาปรับตัวเอง ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถของแรงงานให้คุ้มค่าเงิน และยังได้ประโยชน์ในการเตรียมพร้อมเข้าสู่การแข่งขันในเวทีเปิดเสรีอาเซียน ในปี 2558 ด้วย หากมองแบบเป็นกลาง รัฐบาลก็พยายามใช้มาตรการทั้ง 2 ขา คือ ปรับขึ้นค่าแรง และปรับลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ให้แข่งขันในอาเซียนได้ ที่ผ่านมา สทท.ก็เซ็น MOU กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในการจัดคอร์สฝึกอบรม” นายกงกฤช กล่าว
****ใช้เอาท์ซอร์ส ลดต้นทุนค่าใช้จ่าย****
ทางด้าน นางบุณฑริก กุศลวิทย์ นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก กล่าวว่า เบื้องต้น การปรับตัวของผู้ประกอบการโรงแรมเพื่อรองรับการปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำ นี้ คือ การหันไป จากบริษัทภายนอก (เอาท์ซอร์ส) เข้ามาทำงานในบางส่วน เน้นที่ไม่ใช่งานหลักของธุรกิจ ได้แก่ แผนกรักษาความปลอดภัย และ แผนกช่าง เป็นต้น ส่วน งานบริการ งานต้อนรับ ซึ่งถือเป็นหัวใจของธุรกิจนี้ ทางโรงแรมก็ยังคงจ้างพนักงานเช่นเดิม
ความพยายามลำดับต่อไปของผู้ประกอบการ คือ ผลักดันให้โรงแรมของตัวเอง มีนักท่องเที่ยวเข้าพักเพิ่มขึ้น จาก 60-70% ในขณะนี้ เพิ่มเป็นให้ได้เฉลี่ยทั้งปี 70% เป็นอย่างน้อย เพราะแม้ช่วงนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไปได้ดี จากอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ แต่รัฐบาลไม่ได้มองว่าราคาห้องพักโรงแรมเฉลี่ยยังต่ำอยู่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยมีราคาห้องพัก ไม่แตกต่างจาก 10 ปีก่อน ทั้งที่อัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว
****ปลัดฯเชิญเอกชนแก้ปัญหา******
นายสุรพงษ์ เตชะหรูวิจิตร นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็น โรงแรมขนาดเล็ก มีการเอาท์ซอร์ส หลายแผนก เพื่อคุ้มต้นทุนการผลิต เช่น แผนก เบเกอรี่ แผนกทำความสะอาดห้องพัก และ แผนกรักษาความปลอดภัย แผนกซักรีด เป็นต้น ซึ่งจะไม่กระทบกับการให้บริการแขกที่เข้าพัก
นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า วันที่ 5 เม.ย.นี้ กระทรวงจะเชิญตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สมาคมโรงแรมไทย มาหารือ ประเด็นการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เพื่อรับฟังปัญหา ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะเสนอรัฐบาลให้เลื่อนการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำออกไป คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวง เป็นเรื่องที่ภาคเอกชน จะต้องไปดำเนินการเองกับหน่วยงานเจ้าของเรื่อง