ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -“ต้นไม้มีพิษ ย่อมให้ผลไม้ที่มีพิษ” เป็นวาทกรรมที่ฝ่ายต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยาฯ 49 นำมาใช้อ้างในการยกเลิกผลพวงที่เกิดจากการรัฐประหารครั้งนั้นมาโดยตลอด
คนแรกที่หยิบเอาวาทกรรมนี้มาใช้ก็คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนที่ถูกยึดอำนาจนั่นเอง เมื่อครั้งที่เขาให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 2550
ต่อมาทั้งคนเสื้อแดง นักเลือกตั้งในสังกัดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตลอดจนนักวิชาการหางเครื่องของระบอบทักษิณ ก็ใช้วาทกรรมนี้เป็นข้ออ้างมาโดยตลอด
โดยเฉพาะกลุ่มผู้สอนวิชากฎหมาย 7-8 คน ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เรียกตัวเองว่า “คณะนิติราษฎร์” ที่เคยมีการเสนอ “คู่มือประชาชนลบล้างการรัฐประหาร” ให้ยกเลิกผลพวงจากการยึดอำนาจโดยคณะ คมช.ทั้งหมด แล้วให้ทุกอย่างกลับไปมีสภาพเหมือนก่อนวันที่ 19 กันยายน 2549
นั่นหมายถึงว่า ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 ให้มีการนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำผิดทางการเมืองหลังวันที่ 19 กันยา 2549 ทั้งหมด แล้วจ่ายค่าชดเชยให้ผู้เสียหาย ยกเลิกผลการทำงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ(คตส.) โดยอ้างว่า ทั้งหมดอยู่บนหลักการปฏิเสธการรัฐประหาร นำกฎหมายเข้าสู่กระบวนการปกติ
ข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ไม่ได้รับการตอบสนองจากกระแสสังคมทั่วไปนัก นอกจากกลุ่มคนเสื้อแดงและนักการเมืองในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาบันพระปกเกล้าได้ทำรายงานการวิจัยแนวทางการปรองดองแห่งชาติ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) ที่มีประธานคือ พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าพรรคและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นประธานแล้ว ข้อเสนอของงานวิจัยดังกล่าวกลับตรงกับข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ราวกับคัดลอกกันมา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม และการยกเลิกผลทางกฎหมายของ คตส.ด้วยข้ออ้างตามวาทกรรม “ต้นไม้มีพิษ ย่อมให้ผลไม้ที่มีพิษ”
ซึ่งก็ได้รับการขานรับจากนักการเมืองในเครือข่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเกรียวกราว และมีแนวโน้มว่า กมธ.ปรองดองที่คุมเสียงข้างมากโดย ส.ส.พรรคเพื่อไทยจะยึดเอาแนวทางของสถาบันพระปกเกล้าฯ ไปผลักดันต่อเพื่อให้มีผลทางปฏิบัติ โดยผ่านกระบวนการทางรัฐสภาที่พรรคเพื่อไทยคุมเสียงข้างมากอยู่
อย่างไรก็ตาม ตามหลักวิชาการทางกฎหมายแล้ว วาทกรรมที่ยกมาอ้างว่า ในเมื่อการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะเป็นการใช้กำลังอาวุธยึดอำนาจ เปรียบเหมือนต้นไม้ที่มีพิษ ผลพวงทุกอย่างที่ตามมาจากการรัฐประหารครั้งนั้น ก็ต้องไม่เป็นประชาธิปไตย เปรียบเหมือนผลไม้ที่มีพิษ นั้น จะเป็นคำกล่าวอ้างที่ถูกต้องหรือไม่
ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ได้ปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ผลไม้มีพิษ เกิดจากต้นไม้ที่มีพิษจริงหรือไม่” ในงานเสวนาทางวิชาการครั้งที่ 2 ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งได้ทำให้เห็นรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองและนัยของวาทกรรมนี้อย่างชัดเจน
ศ.อมรชี้ว่า นอกจากอาจารย์คณะนิติศาสตร์ สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง และงานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าจะอ้างถึงวาทกรรมดังกล่าวแล้ว ล่าสุดยังมีนักการเมืองอาวุโสคนหนึ่งบอกว่า ถึงอย่างไรก็ต้องมีการนิรโทษกรรมแบบบูรณาการ โดยอ้างว่าที่เขาทำผิดก็เพราะการเมืองผิด ซึ่งลัทธิเผด็จการรัฐประการเป็นต้นเหตุของความผิดทั้งหมด
ข้ออ้างเหล่านี้ เราต้องมาดูข้อเท็จจริงว่า เป็นไปตามนั้นหรือไม่ ก่อนอื่น เราดูง่ายๆ ว่า คนไม่ใช่ต้นไม้ เพราะคนมีทั้งดีและเลว ผลงานการปฏิวัติจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับคนที่ทำการปฏิวัติหรือคุณภาพของการปฏิวัติ ไม่ใช่มาสรุปเอาง่ายๆว่า ผลงานที่มาจากการปฏิวัติเป็นผลไม้ที่มีพิษทั้งหมด
คำอุปมาอุปมัยนี้จึงผิดพลาดตั้งแต่ต้น เป็นการใช้ตรรกะแบบที่คนไม่ทันคิดก็หลงเชื่อ เหมือนกับบอกว่า โต๊ะมี 4 ขา สุนัขมี 4 ขา แล้วสรุปว่า โต๊ะก็คือสุนัข ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงมันไม่ใช่
การจะบอกว่า การรัฐประหาร 19 กันยาฯ 2549 เป็นต้นไม้มีพิษหรือไม่ ต้องมาดูว่าสาเหตุการปฏิวัติมาจากอะไร ซึ่งในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ 2549 บอกว่า โดยที่หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)ซึ่งได้กระทำการยึดอำนาจเป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้นำความกราบบังคมทูลว่า เหตุที่ทำการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ก็โดยปรารถนาจะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุม การบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ อันเป็นวิกฤตการร้ายแรงทางการเมืองการปกครอง และปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชน
นี่คือสาเหตุของการยึดอำนาจ แต่งานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าไม่พูดถึงปัญหานี้ โดยเฉพาะการทุจริต ซึ่ง ศ.อมร กล่าวว่า ตนจะไม่บอกว่ามีอะไรบ้าง แต่เท่าที่ดู ไม่มีประเทศไหนที่แก้กฎหมายเพื่อที่จะขายธุรกิจของตัวเองให้ต่างชาติ
สำหรับผลงานหรือที่เรียกว่าเป็นผลไม้ของการปฏิวัติครั้งนั้นที่เหลืออยู่ ศ.อมรกล่าวว่า ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ 2 อย่าง ซึ่งจะมาดูว่ามีพิษหรือไม่มีพิษ
นั่นก็คือ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีหลายคนเรียกร้องให้ยกเลิก และ ผลงานของ คตส.ซึ่งสถาบันพระปกเกล้าจะให้เพิกถอนผลทางกฎหมายทั้งหมด
ศ.อมรชี้ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 นั้นได้สร้างระบบสถาบันการเมืองที่เป็นเผด็จการโดยนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง มีการบังคับ ส.ส.ให้สังกัดพรรค พรรคการเมืองปลด ส.ส.ได้ นายทุนเป็นคนควบคุมพรรคการเมือง แต่ถ้าถามว่ามาจากไหน ก็มาจากรัฐธรรมนูญ 2540 นั่นเอง และได้สร้างนักการเมืองให้เป็นสถาบันทางการเมืองสูงสุดของประเทศ คุมทั้งรัฐบาล คุมทั้งสภาผู้แทนราษฎร คุมการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งรวมถึงข้าราชการในกระบวนการยุติธรรมด้วย นายทุนพรรคการเมืองจึงกำหนดตัวนายกฯ ได้ กำหนดตัวรัฐมนตรีได้ รวมถึงออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ตัวเองได้
ซึ่งนักวิชาการนักกฎหมายมักจะมองไม่เห็นอำนาจของพรรคการเมืองนายทุน เพราะมัวเพลินดูละครการเมืองบนเวที เห็นการแสดงของพระอกบ้าง นางเอกบ้าง เห็นการแสดงของสภา แต่มองไม่เห็นผู้กำกับการแสดงที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง
เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลไม้ที่มีพิษหรือไม่ ต้องไปพิจารณาเอาเอง
ส่วนผลงานของ คตส.ที่งานวิจัยสถาบันพระปกเกล้าบอกว่าให้ยกเลิกนั้น เอกสารรายงานการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าอ้างว่า เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นในขบวนการยุติธรรมให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม และเป็นการลดเงื่อนไขข้อกล้าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการสอบสวนของ คตส.
เอกสารนี้ไม่ได้บอกเลยว่า ความไม่เชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมตามกระบวนการของ คตส.มีตรงไหนบ้าง แต่บอกว่า เพื่อเป็นการลดข้อกล่าวอ้างของผู้ถูกกล่าวหาในกระบวนการตรวจสอบของ คตส.แสดงว่า สถาบันพระปกเกล้าฯ เกรงใจผู้ถูกกล่าวหามาก
แต่เมื่อดูว่า คตส.มีหน้าที่อะไร ก็พบว่า ประกาศ คปค.เรื่อง คตส.นั้นให้ คตส.มีหน้าที่แค่ทำสำนวนและสอบสวน และมีอำนาจฟ้องคดี ในกรณีที่คนอื่นไม่ยอมฟ้อง และมีอำนาจยึดอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวแค่นั้น ส่วนกระบวนการยุติธรรมในขั้นพิจารณาพิพากาษานั้นเป็นของศาล
นอกจากนั้น เมื่อดูว่า คตส.ทำอะไรให้กระบวนการยุติธรรมของเราไม่เป็นที่เชื่อมั่นตามหลักนิติธรรม เปรียบเทียบกับกระบวนการยุติธรรมตามปกติที่สถาบันพระปกเกล้าให้นำมาใช้ อย่างไหนให้ความเชื่อมั่นแก่หลักนิติธรรมมากกว่ากัน
ยกตัวอย่าง คดีหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาไม่ตรงกับศาลชั้นต้น แต่อัยการสูงสุดสั่งไม่ฎีกา ทั้งที่ 2 ศาลเห็นขัดกัน โดยที่อัยการสูงสุดไม่ยอมบอกให้ชัดเจนว่ามีเหตุผลอะไร เมื่อหาเอกสารมาดูก็หาไม่ได้ เพราะเก็บเงียบเป็นความลับ เมื่อเทียบกับการสอบสวนของ คตส.ที่เปิดเผยใหประชาชนรับรู้มากมาย
ศ.อมรย้ำว่า ปัญหาของบ้านเมืองคือเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนที่ควบคุมสถาบันทางการเมืองสูงสุดของประเทศ ซึ่งเราจะต้องแก้ตรงนี้ ถ้าแก้ไม่ได้ อย่าคิดแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือการเสียดินแดนให้ประเทศเพื่อนบ้าน
นั่นเพราะระบบนายทุนพรรคการเมืองเป็นระบบที่ทำลายประเทศ เป็นการคอร์รัปชั่นหมุนเวียน เข้ามาคอร์รัปชั่น เอาเงินไปแจกประชาชนด้วยการใช้ประชานิยมเกินขอบเขต ให้ประชาชนเลือกตัวเองกลับมา คอร์รัปชั่นอีก หมุนเวียนไปจนกว่าประเทศจะล่มสลาย