xs
xsm
sm
md
lg

เสียดาย “บิ๊กบัง” กับ หลักฐานคำพูดตัวเองในอดีต !!!?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) หัวหน้าคณะรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 จะกลายมาเป็นหัวหน้าพรรคเล็กๆอย่างพรรคมาตุภูมิ และที่แทบไม่น่าเชื่อมากกว่าก็ตรงที่ ผู้ที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารกลายเป็นผู้มาเสนอตัวเองเป็นประธานคณะกรรมาธิการปรองดองเสียเอง

คณะกรรมาธิการปรองดองที่ฝ่ายทักษิณคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดการล้างความผิดให้กับทักษิณและพวกพ้องในอดีต และสิ่งที่น่าสนใจก็คือดูเหมือนจะมีธงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายก็คือการล้างผลแห่งคดีทั้งปวงที่เป็นผลงานของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

จนลืมไปแล้วว่า คตส. นั้นตั้งขึ้นมาเป็นเพียงทำหน้าที่อยู่ภายใต้กรอบจำกัดในการสืบสวนสอบสวน แล้วจึงปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินต่อไป ซึ่งไม่ได้อยู่ในฐานะผู้ตัดสินแต่ประการใด

ดังปรากฏในประกาศของคณะรัฐประหารในนาม คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 นั้น ได้บัญญัติหน้าที่เอาไว้ว่า

“ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริต หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างแต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี”


เห็นได้ชัดเจนว่า คตส. ถูกตั้งขึ้นมาเพื่ออำนวยคดีความให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเท่านั้น ไม่ได้ทำตัวเป็นผู้ตัดสินแต่ประการใด

พล.อ.สนธิ อาจลืมไปแล้วด้วยซ้ำว่า ประกาศของ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 1 เรื่องประกาศยึดอำนาจ นั้น ได้บรรยายเอาไว้อย่างไรถึงเหตุผลในการรัฐประหาร และเป็นเหตุผลต่อมาในการตั้ง คตส. ความว่า:

“ด้วยเป็นที่ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดิน โดยรัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหาราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตอย่างกว้างขวาง

หน่วยงานองค์กรอิสระถูกครอบงำทางการเมืองไม่สามารถตอบสนองเจตนารมณ์ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร
ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ

ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่เคารพเทิดทูนของปวงชนชาวไทยอยู่บ่อยครั้ง

แม้หลายภาคส่วนสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว แต่ยังไม่สามารถที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยุติลงได้

ดังนั้นคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งประกอบด้วยผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขอยืนยันว่าไม่มีเจตนาที่จะเข้ามาเป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน แต่จะได้คืนอำนาจการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กลับคืนสู่ปวงชนชาวไทยโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ รวมไว้เทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพยิ่งของปวงชนชาวไทยทุกคน”


การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดภาพที่ทำให้คนทั่วโลกต้องฉงน เพราะนอกจากจะไม่มีการเสียเลือดเนื้อแล้ว ยังมีประชาชนออกมาเฉลิมฉลองและมอบดอกไม้ให้กับทหารเป็นจำนวนมาก

ยิ่งไปกว่านั้น สวนดุสิตโพล ได้สอบถามความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,019 คน ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549 พบว่าประชาชนร้อยละ 83.98 เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

มาวันนี้แทบไม่น่าเชื่อว่า พล.อ.สนธิ จะเป็นคนที่เขียนด้วยมือและลบด้วยเท้า ในสิ่งที่ตัวเองได้ทำลงไปตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 !!?

ปรากฏว่าเมื่อวันพุธที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2555 ในการเสวนานายงานวิจัยสร้างความปรองดองแห่งชาติของสถาบันพระปกเกล้านั้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ลุกขึ้นตั้งคำถามสำคัญ 3 ข้อ ถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ว่า:

1.ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติ 19 กันยายน พ.ศ. 2549? ไม่เช่นนั้นสังคมจะคลางแคลงใจว่าอำมาตย์ ผู้มีบารมีเหนือรัฐธรรมนูญเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง

2.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ เป็นผู้นำท่านเข้าเฝ้าฯ ใช่หรือไม่ และ พล.อ.เปรมรู้เห็นกับการปฏิวัติหรือไม่?

3.พล.อ.เปรม ได้ขอร้อง พล.อ.สนธิ ให้ออกมาพูดความจริงกับเหตุการณ์ปฏิวัติ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 โดยผ่าน พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ 2 ครั้งใช่หรือไม่ และได้พูดความจริงตามร้องขอหรือไม่?

ความจริงคำถามของ พล.ต.สนั่น นั้นมีนัยสำคัญอย่างมาก เพราะถ้าคู่ขัดแย้งไม่ไกลเลยไปถึง พล.อ.เปรมอย่างที่คนเสื้อแดงเคียดแค้น ความขัดแย้งก็จะจำกัดวงอยู่เพียงกลุ่มที่ทำการรัฐประหารเท่านั้น
ในทำนองเดียวกันหาก พล.อ.เปรมเกี่ยวข้องและหนุนหลังการรัฐประหาร การปรองดองที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ด้วยกลุ่มที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้

แต่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน กลับตอบคำถามนี้ให้เกิดข้อสงสัยมากขึ้น และจะทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไปด้วยการตอบคำถามนี้ว่า:

“ผมรู้สึกละอายตัวเอง สถาบันสอนให้มีความรัก เข้าใจ จงรักภักดีต่อชาติบ้านเมืองอย่างยิ่งที่สุดในชีวิต คำถามนี้ไม่ควรมาถามผม เช่นเดียวกับที่คณะผู้วิจัยของสถาบันพระปกเกล้า คำถามบางประการตายแล้วก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นเรื่องบางเรื่องเมื่อถึงเวลาจะปรากฏขึ้นมาเอง ไม่อยากรื้อฝอยหาตะเข็บในสิ่งที่ขัดแย้ง ถ้าต้องการสร้างความปรองดองต้องยึดหลักการให้อภัย ลืมอดีตบ้าง ไม่เช่นนั้นสังคมไทยจะย้อนยุคสู่ความขัดแย้งมากขึ้น ต้องมองข้ามไปบ้าง เพื่อความปรองดอง อะไรไม่ควรพูดก็อย่าพูด”

บางที พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อาจลืมไปแล้วว่าได้เคยตอบคำถามนี้ในการสัมภาษณ์ในหนังสือ “ลับลวงพราง” ตั้งแต่ปี 2550 แล้ว ซึ่งเขียนโดยนักข่าวสายทหาร น.ส.วาสนา นาน่วม ดังปรากฏข้อความดังนี้:

“พล.อ.สนธิ ได้เปิดใจถึงเบื้องหลังการปฏิวัติว่า นอกจากเพื่อยุติการปะทะนองเลือดของม็อบทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ยังเห็นว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ถูกพาดพิง พร้อมยืนยันว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นคนตั้งเขาเป็น ผบ.ทบ. จึงไม่มีเรื่องหนี้บุญคุณใดๆ

“คนที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร เป็นนักธุรกิจ ที่ความคิดก็อยู่แต่ในเรื่องพวกนี้เป็นหลัก ถ้าผมไม่ปฏิวัติ ก็ยังไม่รู้เลยว่า วันนี้ ชาติบ้านเมือง และสถาบันของเราจะเป็นอย่างไร จะยังมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่หรือไม่” พล.อ.สนธิ กล่าว

พล.อ.สนธิ ระบุว่า การวางแผนปฏิวัติ คิดกันกับ พล.อ.อนุพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ในขณะนั้นแค่ 2 คน ส่วน พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร อดีตแม่ทัพภาค 3 ในเวลานั้น ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเลย เพราะไม่ได้ร่วมวางแผน แต่มาตอนทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม การรวมตัวของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เริ่มจากความไม่เป็นเอกภาพ เพราะวางแผนเฉพาะในกองทัพบก (ทบ.) ก็ทำให้ ผบ.เหล่าทัพ คนอื่นที่แม้จะเป็นเพื่อน ตท.6 ของ พล.อ.สนธิ เพิ่งได้รับเชิญหลังจากการยึดอำนาจสำเร็จแล้ว เพราะ ผบ.เหล่าทัพ ล้วนเป็นคนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่งตั้งมาทั้งสิ้น

โดยคณะปฏิวัติใช้ บ้านเกษะโกมล เป็นที่วางแผน ตั้งแต่วันที่ 16-18 ก.ย. โดยมีแกนนำ 7 คน เข้าร่วมหารือทุกวัน คือ พล.อ.สนธิ พล.อ.อนุพงษ์ พล.ท.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม่ทัพภาคที่ 1 ขณะนั้นเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 พ.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง พ.อ.ธงชัย รอดย้อย นายทหารฝ่ายเสนาธิการของ พล.อ.สนธิ พ.อ.ชัยชนะ นาคเกิด ผู้การกรมรบพิเศษที่ 3 และ พ.ท.ปริญญา รื่นภาควุฒิ ผบ.ร.1 พัน 1 รอ. มือขวาของ พล.อ.อนุพงษ์ โดยมี พล.อ. วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาร่วมด้วย ในวันที่ 18 ก.ย.

พล.อ.สนธิ ปฏิเสธว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติ แต่ยอมรับว่า ตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ ได้มีการเข้าพบ พล.อ.เปรม เรื่อยมา สัปดาห์ละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย เพื่อเล่าสถานการณ์ต่างๆ ให้ฟัง”


พล.อ.สนธิ ในวันนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก จากที่เคยให้สัมภาษณ์ในหนังสือลับลวงพลางอย่างองอาจกล้าหาญเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

น่าเสียดายจริงๆ!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น