xs
xsm
sm
md
lg

“สมเจตน์” ปูด อดีต ปธ.คมช.ไม่รับมุก “เสธ.หนั่น” ส่งคำถามไปให้ล่วงหน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม (แฟ้มภาพ)
อดีต คมช.มั่นใจ “บิ๊กบัง” คงจุดยืนรักชาติ ไม่เชื่อรับจ็อบ “แม้ว” งงไม่ตอบคำถามทั้งที่“เสธ.หนั่น” ส่งคำถามไปให้ล่วงหน้า สะกิดไม่คุ้มกับตกเป็นจำเลยสังคม จี้เคลียร์ปมรัฐประหาร 19 ก.ย. ติงข้อเสนอ ส.ปกเกล้าโยนบาป คตส. หวังฟอกผิด “นช.แม้ว” จะเกิดชนวนขัดแย้งรอบใหม่

วันนี้ (22 มี.ค.) พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะอดีตหัวหน้าคณะสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธาน คมช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา เกี่ยวกับเบื้องหลังของการรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.49 ว่า ส่วนตัวเชื่อว่าบุคคลระดับ พล.ต.สนั่น ย่อมรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรัฐประหารอยู่แล้ว แต่ก็มีเจตนาดีที่ถามออกไปเช่นนั้น เพื่อต้องการให้ พล.อ.สนธิ ได้มีโอกาสชี้แจงต่อสังคม เพราะที่ผ่านมากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มักนำไปพูดว่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี อยู่เบื้องหลังรัฐประหาร ทั้งที่ พล.อ.เปรมเคยยืนยันแล้วว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ไปอยู่ร่วมในเหตุการณ์ก็เพราะเป็นประธานองคมนตรี ที่ต้องเข้าเฝ้าฯเมื่อเกิดเหตุการณ์ ที่สำคัญ พล.อ.เปรมก็ไม่ได้นำคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.ในขณะนั้น ซึ่งประกอบด้วย พล.อ.สนธิ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข และ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ เข้าเฝ้าฯ อีกด้วย

“เรื่องนี้ พล.อ.สนธิ ควรที่จะออกมาชี้แจง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดว่า พล.อ.เปรม มีส่วนเกี่ยวข้อง เชื่อว่า พล.ต.สนั่นรู้เรื่องนี้ดีอยู่แล้ว และไม่ได้ต้องการให้เป็นปมปัญหา แต่ถามก็เพื่อให้ พล.อ.สนธิมีโอกาสที่จะไขความกระจ่างต่อสังคม” พล.อ.สมเจตน์กล่าว

พล.อ.สมเจตน์กล่าวด้วยว่า ตนทราบมาก่อนแล้วว่า พล.ต.สนั่นส่งคำถามดังกล่าวนี้ไปล่วงหน้าแล้ว จึงเชื่อว่าเป็นเจตนาดี เพราะหากไม่หวังดีก็คงไม่ส่งไปล่วงหน้า และถามสดในตอนนั้นไปแล้ว จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใด พล.อ.สนธิจึงไม่ตอบคำถาม ทั้งที่เรื่องราวก็ไม่ได้ถึงขั้นเป็นความลับที่จะตายไปพร้อมกันอย่างที่ พล.อ.สนธิระบุ อย่างไรก็ตาม ยืนยันได้ว่า พล.อ.สนธิเป็นคนที่มีความรักประเทศชาติเป็นอย่างมาก เพราะผู้ที่เสียสละมาทำรัฐประหาร ที่หากทำไม่สำเร็จก็เท่ากับว่ามีโทษถึงประหารชีวิต ย่อมมีความคิดที่ลึกซึ้งมากกว่านี้ เพียงแต่คนทั่วไปอาจจะไม่เข้าใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำงานของ พล.อ.สนธิ ในฐานะประธาน กมธ.ปรองดองฯ ถูกตั้งคำถามว่าเอื้อประโยชน์ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในการปลดล็อกเรื่องคดีความต่างๆ พล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า ตนในฐานะอดีตผู้ใต้บังคับบัญชา ก็ยังมีความเชื่อใจในตัว พล.อ.สนธิว่า ยังมีจุดยืนเดิมที่มีความรักชาติ และจงรักภักดี และเชื่อมั่นว่า พล.อ.สนธิมีเจตนาบริสุทธิ์ ไม่เชื่อว่ามีการรับงานหรือรับเงินจาก พ.ต.ท.ทักษิณ อย่างที่หลายฝ่ายพยายามตั้งข้อสงสัย เพียงแต่ไม่แน่ใจในวิธีคิดว่าวันนี้ พล.อ.สนธิพยายามทำอะไรอยู่ เรื่องนี้ผู้ที่ตอบคำถามได้ดีที่สุดก็คือตัว พล.อ.สนธิเองที่ต้องออกมาชี้แจงต่อสังคม หากไม่แล้วก็หนีไม่พ้นที่ต้องตกเป็นจำเลยสังคม

เมื่อถามถึง 3 ข้อเสนอเกี่ยวกับการล้มผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ของสถาบันพระปกเกล้าที่นำเสนอผ่าน กมธ.ปรองดองฯนั้นอาจเป็นชนวนความขัดแย้งของสังคมอีกครั้ง พล.อ.สมเจตน์กล่าวว่า จะเห็นได้ชัดว่าทั้ง 3 ข้อเสนอพยายามทำให้เห็นว่าปัญหาความขัดแย้งเกิดจาก คตส. ทั้งที่ คตส.ทำตามหน้าที่ในการตรวจสอบการทุจริตที่เกิดขึ้นจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เป็นต้นตอของความขัดแย้งทั้งหมดต่างหาก ตรงนี้ต้องถามว่าหากหาทางปลดคดีแก้ปัญหาให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้หรือ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับแน่นอน ที่สำคัญจนถึงขณะนี้เหตุการณ์จลาจลเผาบ้านเผาเมืองเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค.53 ข้อเท็จจริงก็ยังไม่ปรากฏ กองกำลังติดอาวุธชุดดำคือใคร วันนี้พวกเรากำลังหลงลืมเหตุการณ์นั้น แล้วมามุ่งกันเรื่องอื่น จนทำให้คนที่เผาบ้านเผาเมืองจะถูกได้รับการยกโทษ และอาจจะได้รับเงินเยียวยาด้วย

“เมื่อเป็นเช่นนี้ การชุมนุมทางการเมืองในอนาคตจะมีความร้ายแรงมากขึ้น เพราะมีรางวัลการันตีว่า หากล้มรัฐบาลได้ก็จะได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 7.75 ล้านบาท พวกที่เผาเมือง หรือปล้น จะได้รับการนิรโทษกรรม คำถามก็จะมีว่า ทำแบบนี้แล้ว สังคมจะปรองดองกันได้จริงหรือ ผมเห็นว่าทั้งสถาบันพระปกเกล้า และ กมธ.ปรองดองฯ ต้องทบทวนผลการวิจัย และหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ให้ได้เสียก่อน และต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ด้วย” พล.อ.สมเจตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น