xs
xsm
sm
md
lg

“บวร” สวด “บิ๊กบัง” อัลไซเมอร์เงื่อนไขปฏิวัติ ยังด้านคิดพับ คตส.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (แฟ้มภาพ)
ราษฎรอาสาฯ ร่อน จม.เปิดผนึกจวก คปค.ปฏิวัติสร้างความขัดแย้งบานปลาย ย้อนคำพูด “บิ๊กบัง” จี้รับผิดชอบ สับล้มเหลวทำตามเงื่อนไขปฏิวัติ ยังคิดกลบเกลื่อนความผิดพลาด จ้องยุบคตส.ล้างคดีช่วยเหลือคนทำผิด

วันนี้ (26 มี.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบวร ยะสินธร ผู้ประสานงานกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ และผู้มีหน้าที่ผดุงความยุติธรรมในบ้านเมือง โดยเนื้อความจดหมายฉบับนี้ระบุว่า ด้วยปรากฏว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้กระทำการดูหมิ่น ดูแคลนประชาชน ด้วยการยึดอำนาจและประกาศให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยอ้างสาเหตุแห่งการยึดอำนาจในเวลานั้นไว้อย่างหนึ่ง ครั้นได้อำนาจมาแล้วนอกจากจะมิได้กระทำการตามสัจวาจา ยังบังอาจกระทำการเพื่อกลบเกลื่อนลบล้างผลที่ได้กระทำไปในครั้งนั้นอย่างน่าละอาย ดังความต่อไปนี้

1. พล.อ.สนธิ ได้ให้เหตุผลของการยึดอำนาจไว้ว่า จะแก้ไขความเสื่อมศรัทธาในการบริหารราชการแผ่นดิน ความไร้ประสิทธิภาพในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการตรวจสอบอำนาจรัฐ ซึ่งได้ก่อให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นอย่างกว้างขวาง โดยไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

นอกจากนี้ จดหมายฉบับนี้ยังระบุต่อว่า ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองฯ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ขึ้นมาทำหน้าที่ และ คตส.ได้มีการตรวจสอบตามคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปฯ จนได้ผู้กระทำผิด และได้นำผู้กระทำผิดบางส่วนส่งฟ้องจนศาลได้มีคำพิพากษา และบางส่วนอยู่ระหว่างดำเนินการ ปรากฏในเวลาต่อมาว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 พล.อ.สนธิ ในฐานะประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา แนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอแนวทางเลือกในการสร้างความปรองดองต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยจะให้ผลการพิจารณาของ คตส.สิ้นผลลงและให้ดำเนินการใหม่ ไปจนถึงขั้นให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด อันทำให้เห็นได้ว่า พล.อ.สนธิ กำลังอ้างการสร้างความปรองดอง เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิด โดยการลบล้างผลงานของ คตส. ซึ่งเป็นคณะกรรมการฯที่ตนเองเป็นผู้แต่งตั้ง โดยในครั้งแรกนั้น อ้างว่า “ไม่อาจหาตัวผู้กระทำผิด...” ครั้นเวลานี้ได้ผู้กระทำผิดมาแล้ว ก็คิดวิธีการช่วยเหลือโดยอ้างการปรองดอง โดยลืมไปว่า การได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ก็ได้อ้างเหตุจำเป็นดังกล่าวในการยึดอำนาจไว้ด้วย

2. พล.อ.สนธิ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ยังได้แสดงสาเหตุอื่นอีกว่า มีปัญหาความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนที่ถูกปลุกปั่นให้แบ่งแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายจนเสื่อมสลายความรู้รักสามัคคีของชนในชาติอันเป็นวิกฤตการณ์รุนแรงทางสังคม แม้หลายภาคส่วนจะได้ใช้ความพยายามแก้ไขวิกฤตการณ์ดังกล่าวแล้วแต่ก็ไม่เป็นผล กลับมีแนวโน้มว่าจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นถึงขั้นใช้กำลังเข้าปะทะกัน ซึ่งอาจมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อได้ จึงจำเป็นต้องกำหนดกลไกการปกครองที่เหมาะสมแก่สถานการณ์ขึ้นมาใช้

นายบวรกล่าวผ่านจดหมายต่อว่า แต่ปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาในภายหลังว่า คณะปฎิรูปฯ มิได้มีการกำหนดกลไกการปกครองใดๆ ที่เป็นการปฏิรูปฯ และก่อให้เกิดแนวทางในการป้องกันความรุนแรง ซ้ำความขัดแย้งในมวลหมู่ประชาชนกลับเพิ่มมากขึ้น จนนำไปสู่ความรุนแรงมากยิ่งกว่าก่อนการยึดอำนาจเสียอีก จึงสามารถกล่าวได้ว่า คำพูดของ พล.อ.สนธิ เป็นเพียงลมปากที่กระทำไปให้หลงเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในบ้านเมืองจะดีขึ้น เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 แทนฉบับที่ยกเลิกไป ดังนั้น พล.อ.สนธิ จึงมิอาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามมาและมีความรุนแรงยิ่งกว่าเหตุการณ์ก่อนการเข้ายึดอำนาจ

นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยังได้เข้าชื่อยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การมี ส.ส.ร.ขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ อันอาจเข้าข่ายความผิดในการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 แห่งรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติมาแล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยไม่ได้ทำประชามติมารับรองหลักการก่อนจึงเป็นการละเมิดอำนาจของมหาชน ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ซี่งมีอำนาจแห่งศักดิ์สูงกว่ามติของรัฐสภา ผู้เป็นเพียงตัวแทนของเจ้าของอำนาจอธิปไตย

3. นอกจากนี้ พล.อ.สนธิ ยังได้ย้ำถึงความจำเป็นที่ต้องกำหนดกลไกทางปกครองที่คำนึงถึงหลักนิติธรรมตามประเพณีการปกครองของประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแต่ก็ปรากฏว่า คณะปฏิรูปฯ ได้มีประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 13, 26 แต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง และยอมให้สามารถปฏิบัติหน้าที่โดยมิได้เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ต่อพระเจ้าอยู่หัว อันเป็นประเพณีปฏิบัติ ทั้งยังกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ทั้งที่มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นกฎหมายแม่ของ พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ต่อเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 แล้ว ก็มิได้มีการสรรหา กกต.ชุดใหม่ และเมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 โดยยกเลิก พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 กกต.ชุดดังกล่าวซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2541 ต้องหมดวาระลงทันที และต้องสรรหาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ก็มิได้กระทำ ความสับสนวุ่นวายเหล่านี้ ล้วนเกิดจากการไม่ปฏิบัติตามหลักนิติธรรมและตามประเพณีการปกครอง เป็นการลุแก่อำนาจจนบ้านเมืองเกิดความเสียหาย เพราะการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ทุกครั้งหลังวันที่ 7 ตุลาคม 2550 เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 จึงเป็นโมฆะทั้งสิ้น ความเสียหายต่างๆ เหล่านี้ พล.อ.สนธิ ในฐานะหัวหน้าคณะปฎิรูปฯ จะต้องรับผิดชอบ

4. และในประการที่ พล.อ.สนธิ ได้เคยให้คำมั่นว่า จะปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ พันธกรณีตามสนธิสัญญา หรือความตกลงระหว่างประเทศ และปรากฏเป็นการยืนยันในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ที่ว่า “...ตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว...” ซึ่งในกฎบัตรสหประชาชาติ พ.ศ. 2491 ข้อ 21 (1) ได้กำหนดหลักการสำคัญไว้ว่า การเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารประเทศ ผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค และให้แต่ละประเทศกำหนดหลักการปกครองของตนเอง ซึ่งของไทยเป็นแบบราชอาณาจักร หลักการปกครองจึงต้องสอดคล้องในแบบราชอาณาจักร การที่คณะปฏิรูปฯใช้คำว่าปฏิรูปแต่ในการปฏิบัติมิได้มีสิ่งใดที่บ่งบอกว่ามีการทำการปฏิรูปประเทศ ให้เป็นแบบราชอาณาจักรและสอดคล้องกับกฎบัตรสหประชาชาติแต่อย่างใด การเลือกตั้งยังบังคับให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรค อำนาจการปกครองของพระมหากษัตริย์ก็ยังปะปนกับอำนาจการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐสภาก็มีที่มาจากประชาชนฝ่ายเดียว ซึ่งถือเป็นตัวแทนสถาบันชาติเท่านั้น หาได้มีตัวแทนจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันศาสนา เพื่อให้ได้รัฐสภาจาก 3 สถาบันหลักของชาติ ที่เป็นรูปแบบของรัฐสภาในแบบราชอาณาจักรไม่

ทั้งนี้ ช่วงท้ายของจดหมายระบุว่า ความผิดพลาดของคณะปฏิรูปฯภายใต้การนำของพล.อ. สนธิ ในเรื่องต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น นับเป็นความผิดอย่างร้ายแรง เป็นการนำคำว่าปฏิรูปมาใช้บังหน้าเพื่อให้การยึดอำนาจการปกครองมีความชอบธรรมเท่านั้น ซึ่งที่สุดแล้วประเทศไม่ได้ประโยชน์แต่อย่างใด เป็นการให้ความหวังลมๆ แล้งๆ กับประชาชน

คำประกาศต่อประชาชน ตลอดจนคำกล่าวอ้างใดๆ ล้วนถือเป็นคำมั่นสัญญากับประชาชน กลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบันและคณะ จึงขอเรียกร้องให้ พล.อ.สนธิ ได้แสดงความรับผิดชอบ และยุติความพยายามในการกลบเกลื่อนความผิดพลาดและบิดเบือนประเด็นไปในแนวทางที่เรียกว่า การสร้างความปรองดอง เพราะคำพูดหรือเหตุผลใดๆ ที่ พล.อ.สนธิจะนำมาใช้อ้างย่อมไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือต่อสังคมอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น