xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ตรวจฯชี้3ประเด็นส่อขัดรธน. กมธ.ไม่สนโยนสภาฯถกวาระ2

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 5 เม.ย.) นายประวิช รัตนเพียร ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณี คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ได้เสนอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำหนังสือด่วนที่สุดถึงคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ....ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มี 3 ประเด็น ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เห็นข้อเสนอดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้จะมีการหารือร่วมกัน เพื่อดำเนินการส่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ได้แก่ รัฐบาล ประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมาธิการฯ และผู้ที่เสนอร่างแก้ไขรธน. โดยเร็วที่สุด เมื่อส่งไปแล้วก็แล้วแต่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะพิจารณา ว่ามีข้อคิดเห็นอย่างไร
ทั้งนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ได้ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญแข่งกับใคร แต่เราเห็นปัญหา ก็เสนอไปตามนั้น อยู่ที่อำนาจของคณะกรรมาธิการฯ ว่าจะดำเนินการอย่างไร
" ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์มาก เพราะอยู่ในขณะที่ฝ่ายการเมืองกำลังดำเนินการแก้ไข อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯได้พิจารณาในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 291 หมดแล้ว และได้ผลสรุปออกมาเป็น 3 ประเด็น โดยการประชุมครั้งต่อไป ก็จะมีการพิจารณาลงรายละเอียดรัฐธรรมนูญมากขึ้น" นายประวิช กล่าว

** เผย 3 ประเด็นส่อขัดรธน.

ทั้งนี้ ประเด็นที่คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าขัดรธน.คือ
1. กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ร่าง ที่ครม. และพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ มีบทบัญญัติที่ระบุว่า ให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ แทนนายกรัฐมนตรี ตามที่เคยเป็นมานั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 195 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับ
ราชการแผ่นดิน ให้รัฐมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเมื่อตรวจดูรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว ไม่พบว่ามีการบัญญัติให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงถือว่าการจะให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 50 รองรับไว้
2. กรณีร่างรธน.ทั้ง 3 ฉบับ บัญญัติให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรธน.ในขณะนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบรัฐเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ตามที่รธน.ปี 50 มาตรา 291 บัญญัติไว้เป็นข้อห้าม คณะกรรมการที่ปรึกษาเห็นว่า การจะวินิจฉัยเรื่องนี้ ควรเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และเพื่อความเรียบร้อย จึงเสนอให้มีการปรับปรุงร่างฯ ที่เสนอทั้ง 3 ร่างฯ ในมาตรา 291/13 ว่า "เมื่อครบ 7 วัน นับแต่วันที่สภาร่างรธน.ได้จัดทำร่างรธน.เสร็จสิ้นแล้ว ให้นำเสนอร่างรธน.ต่อประธานรัฐสภา เมื่อได้รับร่างรธน.แล้ว และไม่มีผู้เสนอความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรธน.ดังกล่าวไปยัง กกต.โดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ ว่าจะเห็นชอบกับร่างรธน.นั้นหรือไม่ และก่อนที่ประธานรัฐสภาจะส่งความเห็นไปยัง กกต. ถ้านายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส. -ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ของทั้งสองสภา หรือสมาชิกสภาร่างรธน. มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าร่างรธน. ที่สภาร่างรธน.เห็นชอบแล้วนั้น มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง รูปแบบของรัฐ ให้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรธน.วินิจฉัย โดยให้ศาลรธน.วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว กรณีที่ศาลรธน. วินิจฉัยว่า ร่างรธน. มีลักษณะ เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครอง รูปแบบรัฐ ให้ร่างรธน.นั้นตกไป "
3. การที่ร่างรธน.ทั้ง 3 ฉบับระบุว่า หากประชาชนลงมติรับรองแล้ว และมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งไม่ส่งกลับมา ให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยให้นำ มาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญ 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม คณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่า การให้รัฐสภาลงมติยืนยันนั้น ขัดต่อรธน.ปี 50 มาตรา 3 ทั้งยังเป็นการมิบังควรอย่างยิ่งทางการเมือง จึงควรมีการเสนอให้มีการบัญญัติว่า "หากประชาชนเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ" เหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต
ทั้ง 3 ประเด็น ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่า เป็นประเด็นเร่งด่วน โดยเฉพาะ
การให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เกรงว่าถ้ากรรมาธิการแก้ไขรธน.ของรัฐสภา ไม่ได้มีการตรวจสอบ หรือฉุกคิดให้ดี โดยยังคงยืนยันให้เป็นไปตามทั้ง 3 ร่างฯ ที่สุดแล้วการยกร่างแก้ไขรธน.ขณะนี้ อาจกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก็จะทำให้ร่างรธน.นั้นขัดต่อรธน.ทันที และตกไปในที่สุด

** กมธ.วิ่งรอกที่ประชุมหวิดล่ม

ในวันเดียวกันนี้ มีการประชุมกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ...ที่มี นายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงรายเป็นประธานการประชุม โดยเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของกรรมาธิการฯ ตลอดทั้งวันยังเป็นการเชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติจำนวนที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากกว่า100 คน เข้าชี้แจงคำแปรญัตติ ต่อคณะกรรมาธิการฯ ก่อนจะปิดรับคำแปรญัตติในกำหนดการเดิม คือ เวลา 16.30 น.
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่สมาชิกต่างแปรญัตติในประเด็น มาตรา 291/1 ที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) รวมถึงการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรธน.มาตรา 291 เพื่อยกเลิกรธน.ฉบับปี 50 ทั้งฉบับ เพราะอาจขัดต่อรธน.
อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในห้องประชุมไม่ค่อยราบรื่นนัก อาทิ ในช่วงสาย ที่ ส.ส.และ ส.ว.หลายคนที่มารอคิวนาน เริ่มแสดงความไม่พอใจโวยวายกลางที่ประชุมจนบรรยากาศเริ่มวุ่นวาย
นอกจากนี้กรรมาธิการฯ บางส่วนยังคอยวิ่งรอกไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การประชุมไม่เดินหน้าเท่าที่ควร จนเมื่อถึงคิวนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ มาชี้แจงการแปรญัตติ เมื่อเห็นกรรมาธิการฯ อยู่ในห้องไม่ครบองค์ประชุม จึงขอให้นับองค์ประชุม ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องพักการประชุม 10 นาที

**ไม่สนข้อท้วงติงของผู้ตรวจฯ

สำหรับประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับกมธ. แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การที่ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุ การกำเนินการของกมธ. อาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายสามารถ ให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งข้อสังเกตของที่ปรึกษาผู้ตรวจฯ เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการ แต่อย่างใด ขณะที่ร่างในชั้นกมธ.ยังสามารถอภิปรายและแก้ไขได้ ซึ่งจะเปิดให้สมาชิกได้หารือได้อยู่ อย่างไรก็ตามขอชี้แจงว่า
1.ในประเด็นการระบุว่า ร่างแก้ไขรธน. มีการกำหนดให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น ยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะร่างที่กมธ.เสียงข้างมากลงมตินั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ตามรธน. ทั้งนี้เข้าใจว่าที่ผู้ตรวจฯแสดงความเป็นห่วง คือ ร่างเก่าของครม. ที่รับมติจากที่ประชุม
2. ประเด็นการบัญญัติให้ประธานสภา เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่า ร่างรธน.ที่มีขึ้นใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือไม่นั้น ทั้งนี้ ตนคิดว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของศาลรธน. เพราะการจัดทำรธน.ในช่วงดังกล่าวนั้น เป็นเพียงระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรธน. ซึ่งยังถือว่ายังไม่ถึงที่สุดในการตรากฎหมาย อีกทั้งอำนาจของศาลรธน. ระบุให้วินิจฉัยการออกกฎหมายว่าขัดกับรธน.หรือไม่ อาทิ วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นใหม่ ขัดกับรธน.หรือไม่ ไม่ได้ให้อำนาจถึงการวินิจฉัยว่า ร่างรธน.ใหม่ ขัดกับรธน. หรือไม่ และผู้ที่จะพิจารณาประเด็นนี้ ควรจะเป็นรัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าประเด็นนี้มีปัญหาจริงๆ ก็สามารถไปว่ากันในที่ประชุมสภา ในวาระ 2 ได้ 3. การให้รัฐสภาลงมติยืนยัน หลังการนำขึ้นทูลเกล้าฯ และ เกิดทรงยับยั้ง เป็นหลักการการตรากฎหมายขึ้นใหม่ ที่ระบุในรธน.ปี 50 อยู่เดิม
ส่วนประเด็นการปรับใช้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น นายสามารถ กล่าวว่า เป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับการเลือกตั้งส.ส.ร.ในแต่ละพื้นที่ และใกล้เคียงกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.แบบที่เคยปฏิบัติ เพียงแต่ไม่มีการใช้สิทธิ์ล่วงหน้า หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในต่างประเทศเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติ เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 เม.ย. แล้วจากนั้น ประธานกรรมาธิการฯ จะหารือในที่ประชุมว่าถึงการเสนอร่างแก้ไขรธน. ทั้งนี้ เพื่อเตรียมการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วาระที่ 2 ในวันที่ 10-11 เม.ย. ต่อไป

** อัดกกต.ยอมเป็นลูกไล่รัฐบาล

นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะ กมธ. ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ ... พ.ศ..... กล่าวถึงกรณี นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ( กกต.) ออกมาระบุว่า กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งส.ส.ร.ได้ โดยจะใช้กฏหมายการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่น โดยใช้เวลา 75 วัน จัดการเลือกตั้งได้ทันว่า ไม่เข้าใจท่าทีของ กกต. ว่ามีจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร เพราะในร่างเดิมของ ครม.ได้พูดถึงเรื่องนี้ว่า ให้ กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ร. หรือนำกฏหมายประกอบรธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.หรือ ส.ว. มาใช้โดยอนุโลม ซึ่งที่ประชุมกมธ. ออกมาท้วงติง ถึงความเป็นไปได้ในเรื่องดังกล่าวและมีข้อเสนอให้สอบถามเรื่องนี้ต่อ กกต. ซึ่งต่อมา กกต. มีมติโดยทำหนังสือแจ้งมายัง กมธ.ว่าเห็นควรที่จะออกเป็นกฏหมายประกอบรธน. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.โดยเฉพาะ และที่ประชุมทั้งหมดเห็นด้วย แต่ปรากฏว่า เมื่อนายใหญ่ต้องการรวบรัดให้มีการแก้ไขรธน. และเลือกตั้งส.ส.ร.ให้เสร็จโดยเร็ว จึงเกรงว่าหากจะมีการเลือกตั้งโดยต้องออก พ.ร.บ.ประกอบรธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาอีกฉบับ ก็ต้องใช้เวลาอีก 2-3 เดือน จะล่าช้า จึงให้นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เสนอแปรญัตติ ให้ใช้กฏหมายเลือกตั้งท้องถิ่นเลือกตั้ง ส.ส.ร.แทน โดย กมธ.เสียงข้างมากเห็นชอบด้วย
" ผมแปลกใจว่า ทำไม กกต. จึงไม่ยืนยันจุดยืนเดิม ให้ออกกม.ตั้งส.ส.ร.เป็นการเฉพาะ แต่กลับยอมอ่อนข้อให้รัฐบาล ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระ ไม่อยู่ใต้อาณัติของรัฐบาล แต่กลับทำตัวเป็นลูกไล่รัฐบาลชุดนี้ และการยืนยันระยะเวลา 75 วัน ซึ่งใช้เวลาในการรับรองผลการเลือกตั้งเพียง 15 วัน ขอถามว่า กกต.จะสามารถรับรอง ส.ส.ร.ได้ทัน และเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรมหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งส.ส.และส.ว.ให้ใช้เวลารับรองผลการเลือกตั้ง 30 วัน แต่ กกต.ชุดนี้ก็ไม่สามารถตรวจสอบให้ใบเหลือง ใบแดงได้ทัน จึงมีการปล่อยผีเข้ามาในสภาจำนวนมาก ซึ่งในกรณี ส.ส.ร.หากมีการปล่อยผี ไม่สามารถสอยได้ทัน กกต. จะรับผิดชอบในเรื่องนี้ได้อย่างไร" นายเทพไท กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น