“กิตติศักดิ์” เสนอผู้ตรวจส่งหนังสือด่วนที่สุดถึง กมธ. ชี้ให้ ปธ.สภาฯ ลงนามสนองพระบรมราชโองการ รธน.ใหม่ เข้าข่ายขัด รธน. อาจทำให้ตกไปทั้งร่าง แนะควรให้ศาล รธน.ชี้ขาดมุมมองเปลี่ยนแปลงการปกครองหรือไม่ พร้อมทั้งเสนอให้บัญญัติคำว่า “หากประชาชนเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ” เหมือนที่เคยปฏิบัติมาในอดีต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 4 เม.ย. นายกิตติศักดิ์ ปรกติ โฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุม ว่าคณะกรรมการฯมีมติให้เสนอผู้ตรวจฯใน 3 ประเด็น 1. กรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ร่างที่คณะรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอ มีบทบัญญัติที่ระบุว่าให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ แทนนายกรัฐมนตรี ตามที่เคยเป็นมานั้น คณะกรรมการที่ปรึกษาฯเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 195 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินให้รัฐมนตรีลงนามสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งเมื่อตรวจดูรัฐธรรมนูญ 50 แล้ว ไม่พบว่ามีการบัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงถือว่าการจะให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 50 รองรับไว้
2. กรณีร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ บัญญัติให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัย ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบรัฐเป็นอย่างอื่นหรือไม่ ตามที่รัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 291 บัญญัติไว้เป็นข้อห้าม คณะกรรมการที่ปรึกษาเห็นว่า การจะวินิจฉัยเรื่องนี้ควรเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และเพื่อความเรียบร้อย จึงเสนอให้มีการปรับปรุงร่างฯ ที่เสนอทั้ง 3 ร่างฯในมาตรา 291/13 ว่า “เมื่อครบ 7 วัน นับแต่วันที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้ว ให้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา เมื่อได้รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว และไม่มีผู้เสนอความเห็นเป็นอย่างอื่น ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปยัง กกต.โดยเร็ว เพื่อดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติ” ว่าจะเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นหรือไม่
และก่อนที่ประธานรัฐสภาจะส่งความเห็นไปยัง กกต. ถ้านายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส.-ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบแล้วนั้น มีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง รูปแบบของรัฐ ให้เสนอความเห็นต่อประธานรัฐสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองรูปแบบรัฐ ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป
3. การที่ร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับระบุว่า หากประชาชนลงมติรับรองแล้ว และมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ พระมหากษัตริย์ทรงยับยั้งไม่ส่งกลับมา ให้รัฐสภาลงมติยืนยันโดยให้นำมาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญ 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ประเด็นนี้คณะกรรมการที่ปรึกษาเห็นว่า การให้รัฐสภาลงมติยืนยันนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 50 มาตรา 3 ทั้งยังเป็นการมิบังควรอย่างยิ่งทางการเมือง จึงควรมีการเสนอให้มีการบัญญัติว่า “หากประชาชนเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ” เหมือนที่เคยปฎิบัติมาในอดีต
“ทั้ง 3 ประเด็นนี้ ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาฯ เห็นว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน โดยเฉพาะการให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เกรงว่าถ้ากรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐสภา ไม่ได้มีการตรวจสอบหรือฉุกคิดให้ดี โดยยังคงยืนยันให้เป็นไปตามทั้ง 3 ร่างฯ ที่สุดแล้วการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้ อาจกลายเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ เพราะเมื่อประธานรัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ก็จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญทันทีและตกไปในที่สุด จึงเสนอให้ผู้ตรวจการฯ พิจารณาหากเห็นด้วยกับที่กรรมการที่ปรึกษาเสนอก็ให้มีหนังสือด่วนที่สุด ภายใน 1-2 วันนี้ ถึงกรรมาธิการฯ เพื่อให้มีการแก้ไขกรณีดังกล่าวเสีย”