xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษา รธน.ผู้ตรวจฯ เห็นพ้อง ปชช.รับร่างแก้ รธน.แล้ว ไม่ต้องเข้าสภาอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กิตติศักดิ์ ปรกติ (แฟ้มภาพ)
คณะที่ปรึกษารัฐธรรมนูญผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นชอบตัดขั้นตอน รธน.มาตรา 150 และ151 ระบุหาก ปชช.รับร่างแก้ไข รธน.แล้วให้เสนอพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเลย ไม่ต้องเข้าสภาอีก เหตุหวั่นเกิดข้อขัดแย้งใครยืนข้างกษัตริย์-ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 28 มี.ค. นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน แถลงภายหลังการประชุมว่า ในที่ประชุมมีกรรมการที่ปรึกษาฯคนหนึ่งได้เสนอให้พิจารณาว่า การที่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่... พ.ศ.... ที่รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลเสนอรวม 3 ร่างที่มีการระบุว่า หลังให้ประชาชนลงประชามติแล้ว ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย โดยให้นำมาตรา 150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญ 50 มาบังคับใช้โดยอนุโลม ซึ่งมีความหมายว่าหากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย และไม่ถวายคืนมายังรัฐสภาให้รัฐสภาพิจารณาลงมติ อาจทำให้เกิดข้อขัดกันในระบบโดยไม่จำเป็นหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันในเชิงวิชาการ โดยมีข้อยุติร่วมกันว่า เมื่อประชาชนลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ให้ประธานรัฐสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยได้เลย ไม่จำเป็นต้องให้รัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนมาพิจารณาอีก และในข้อเท็จจริงแม้พระมหากษัตริย์อาจใช้พระบรมราชวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้ แต่ตามประวัติศาสตร์แล้วพระมหากษัตริย์ไม่เคยใช้พระราชอำนาจในเรื่องการยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่มีการลงประชามติโดยประชาชนแล้ว

“กรรมการที่เสนอเห็นว่าถ้าหากให้มีการนำรัฐธรรมนูญ 50 มาตรา 150 และ 151 ที่บัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติมาบังคับใช้โดยอนุโลมกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้น อาจทำให้เกิดปัญหาการขัดกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนได้ ตัวอย่างเช่น หากประชาชนลงประชามติแล้วมีการทูลเกล้าฯ ขึ้นไปและพระมหากษัตริย์ทรงไม่ถวายคืนกลับมา รัฐสภาก็ต้องมาพิจารณาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ก็จะเกิดปัญหาว่ารัฐสภาจะเห็นด้วยกับพระมหากษัตริย์หรือเห็นด้วยกับประชาชน ซึ่งเป็นข้อโตแย้งโดยไม่จำเป็น จึงควรมีการบัญญัติเพียงว่าหากประชาชนมีประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ก็ให้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระมหากษัตริย์แล้วจบเลย”

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณากรณีที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 เขียนรับรองการห้ามแก้ไขเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรูปแบบของรัฐ ว่าหากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผู้โต้แย้งในเรื่องดังกล่าว ใครจะเป็นผู้ตัดสิน เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินอาจจะต้องเป็นผู้ที่รับเรื่องร้องเรียน แต่ที่ประชุมยังไม่ได้ข้อยุติโดยจะพิจารณากันในครั้งต่อไป ในวันที่ 4 เม.ย.นี้ เวลา 16.00 น. อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับกับเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพราะเป็นคนละเรื่องกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมครั้งนี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรก หลังจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวประชุมเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น