ทีมวิจัยปรองดอง สถาบันพระปกเกล้า ยันไม่มีธงทำรายงาน อ้างเหตุโละคดี คตส. เพราะไม่เป็นที่ยอมรับ พร้อมสอนอยากปรองดองต้องมองถึงความชอบธรรม หัดปรับเปลี่ยนกฎไปตามสภาพ โบ้ย “ชวน หลีกภัย” เมินตอบแบบสอบถามเองจะหาว่าไม่เป็นกลางได้อย่างไร
ที่รัฐสภา วันนี้ (28 มี.ค.) ในการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มี นางรัชฏาภรณ์ แก้วสนิท ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธาน กมธ.มีวาระการพิจารณาศึกษารายงานวิจัยเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองของสถาบันพระปกเกล้า ซึ่งได้เชิญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้ามาร่วมชี้แจง ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ไม่ได้มา แต่ได้ส่งตัวแทนเป็นคณะผู้วิจัยนำโดย นายนิยม รัฐอมฤต รองหัวหน้าคณะวิจัย เข้าชี้แจงแทน
โดยบรรยากาศการประชุม สถาบันพระปกเกล้า ถูกรุมตั้งคำถามถึงข้อสงสัยวิธีการทำงานและข้อเสนอแนวทางเลือกของคณะการวิจัย
โดย นายนิยม กล่าวว่า ในประเด็นคำถามที่ว่าจะให้มีการโละคดี คตส.นั้น เพราะเห็นว่าในเมื่อเราจะสร้างความปรองดอง แม้ว่า คตส.จะถูกตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้น แต่ก็ถือว่าไม่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ถ้าจะสร้างความปรองดอง ต้องมองถึงความชอบธรรมไว้ด้วย ซึ่งเราสามารถใช้กระบวนการตามปกติของกฎหมายในการพิจารณาคดีได้เช่นกัน
ส่วนในเรื่องวิธีการทำงานโดยเฉพาะที่ตั้งคำถามถึงการเรียบเรียงน้ำหนักของเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทำไมสถาบันพระปกเกล้ากลับไม่ลงรายละเอียดในเหตุการณ์อื่นๆ ด้วยนั้น เนื่องจากเรายึดเหตุการณ์ความขัดแย้งหลักๆ โดยแบ่งออกเป็นช่วงเวลาซึ่งยอมรับว่าไม่เน้นลงรายละเอียดทุกคดีมากขนาดนั้น
นายนิยม กล่าวว่า ส่วนเรื่องการสอบถามความเห็นของ 47 ผู้ทรงคุณวุฒิอย่างที่กล่าว เราพยายามทำให้ครอบคลุมทุกฝ่าย แบ่งเป็น 8 ประเภท คือ นักการเมือง พันธมิตรฯ นปช.นักวิชาการ สื่อมวลชน กมธ.ปรองดอง นักการเมืองอาวุโส และอดีตนายกฯ ซึ่งแต่เดิมตั้งใจว่า นอกจากมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แล้ว ยังได้เชิญ นายชวน หลีกภัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายบรรหาร ศิลปอาชา แต่ปรากฏว่า นายชวน ไม่ตอบรับแสดงความคิดเห็น เช่นนี้จะหาว่าไม่เป็นกลางได้อย่างไร
ทั้งนี้ ยืนยันว่า การทำงานของคณะผู้วิจัยไม่มีการตั้งธงการศึกษาไว้แต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการหาทางออกที่ทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ และขอฝักฝ่ายเพื่อประโยชน์สุขของบ้านเมือง
“แนวทางเลือกที่เราเสนอ เพราะเห็นว่าสังคมยังไม่ลงรอยกันอยู่ ซึ่งถ้ามีสิ่งใดสามารถปรับเปลี่ยนความเสียหายได้ก็ควรทำไม่ใช่หรืออย่างไร ไม่ใช่มาคงกฎเกณฑ์ทั้งที่สภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป ซึ่งเราก็แค่เสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เห็นไม่ใช่การออกแบบใหม่ ดังนั้น ทางสถาบันพระปกเกล้าจึงเชื่อว่าแม้รายละเอียดจะรวบรวมอยู่ภายในเล่มรายงานผลการศึกษาไม่ได้หมด แต่ในเรื่องแนวทางการสร้างความปรองดองคงไม่ไกลจากที่เรานำเสนอมากนัก ซึ่งแต่ละฝ่ายเองก็ต้องยอมลดท่าทีและเห็นความปรองดองร่วมกันก่อนด้วยจึงจะสามารถเห็นพ้องทำตามข้อเสนอแนวทางเลือกได้” นายนิยม กล่าว