xs
xsm
sm
md
lg

เลขาฯ ส.พระปกฯ เซ็งสังคมตั้งธงเลือกเสพผลวิจัย ยันนิรโทษไม่ใช่บทสรุป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า (แฟ้มภาพ)
เสวนาเสรีภาพสังคมไทย “ธีรยุทธ” จี้ นักวิชาการควรมีความรับผิดชอบ จ่อจัดเสวนาโต๊ะกลมไม่เลือกข้างทุกเดือน เมิน พท.ด่าเอียง “ธเนศ” ชี้ โอกาสหาข้อมูลความจริง เป็นตัวแทนสำนึกสาธารณะ ไม่ยึดบุคคล “โคทม” เตือนต้องไม่ขายตัว “บวรศักดิ์” โอดทุกคนมีธงผลวิจัย ส.พระปกฯ ล่วงหน้า ยันล้ม คตส., นิรโทษแค่ประเด็นไม่ใช่บทสรุป เซ็งต่างคนต่างเลือกเสพเกิดสงครามปรองดอง ยันให้ลืมอดีตไม่ได้ ต้องเปิดเผยเป็นจังหวะ

วันนี้ (28 มี.ค.) ที่ ม.ธรรมศาสตร์ การเสวนาเรื่อง “เสรีภาพในสังคมไทย” โดยมีนักวิชาการจากหลายสถาบันร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดย นายธีรยุทธ บุญมี ผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เสรีภาพจะทำให้คนรู้สึกว่าคนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศ สำหรับเสรีภาพทางวิชาการ เสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมไทยนั้น เห็นว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่ต่อสู้มายากลำบากตั้งแต่ยุคเผด็จการ ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา รากหญ้าได้ออกมาใช้สิทธิทางการเมืองของตนมากขึ้นและเป็นสิ่งที่ดี

“การจำแนกความแตกต่างของนักวิชาการ กับนักวิชาการสาธารณะอยู่ที่บทบาท แต่นักวิชาการสาธารณะควรมีความรับผิดชอบเพิ่มมากกว่าด้วย ส่วนตัวเชื่อว่า นักวิชาการควรทำหน้าที่นักวิชาการสาธารณะด้วยโดยเฉพาะสถานการณ์ที่สังคมกำลังใฝ่รู้ แสวงหาทางออกและการเปลี่ยนแปลง” นายธีรยุทธ กล่าว

นายธีรยุทธ กล่าวด้วยว่า กว่าที่คนไทยจะได้เสรีภาพในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการพูด การแสดงความคิดเห็น การเลือกตั้ง ต้องต่อสู้มาด้วยความยากลำบาก เพราะคำว่าการเมืองแต่ก่อนเป็นสิ่งต้องห้าม ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 14 ตุลา รู้สึกดีใจที่ประชาชนสามารถรักษาลักษณะสิทธินี้มาได้อย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้เสรีภาพเพื่อบอกว่าต้องการปกครองท้องถิ่นแบบใด จะใช้หรือพัฒนาทรัพยากรอย่างไร สำหรับสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ มีความจำเป็นที่นักวิชาการจะต้องมาช่วยกันแก้ไข ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ที่ต้องมีส่วนร่วมในการนำเสนอทางออกให้กับสังคมไทย ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกัน โดยเวทีนี้จะเป็นพื้นที่ของนักวิชาการในประเทศ ไม่ว่าที่ใดหรือมีความคิดโน้มเอียงไปฝ่ายใดก็ตาม โดยสามารถมานั่งพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างมีเหตุมีผล ซึ่งไม่ใช้อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินว่าใครผิดใครถูก ทั้งนี้ จะทำให้ได้ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสังคมไทย

นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า หากสถาบันการศึกษาไม่เปิดพื้นที่ที่ทำให้ความขัดแย้ง มาเป็นงานวิชาการ ก็สามารถมาร่วมศึกษาค้นคว้าวิจัยร่วมกันได้ สังคมไทยจะไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น โดยจะจัดเสวนาโต๊ะกลมทุกเดือนและจะเปิดให้สื่อเข้าฟังด้วย เพื่อเสนอทางเลือกกับประเทศอีกทางหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง โดยทุกสถาบันจะร่วมการทำวิจัยปัญหาของสังคมไทยและหาทางออกร่วมกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจถูกพรรคเพื่อไทยโจมตีเป็นกลุ่มนักวิชาการที่มีอคติกับรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม ซึ่งไม่ยอมรับรู้ความเป็นจริงในสังคมไทยหรือไม่ นายธีรยุทธ กล่าวว่า เขาจะโจมตีจะว่าอย่างไรก็ปล่อยเขาไป เพราะตนออกมาเปิดพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล แต่นักวิชาการจำเป็นต้องออกมาทำ เพื่อให้สังคมมีทางเลือกที่ดีขึ้นและออกจากความขัดแย้ง

ด้าน นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า เสรีภาพทางวิชาการและความรับผิดชอบกับสังคมเป็นปัญหาและโจทย์ใหญ่หลายปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเปลี่ยนมาหลายระลอก การปฏิบัติทางเสรีภาพในสังคมและเสรีภาพทางวิชาการไม่ค่อยได้ทำเท่าใดนัก ตอนนี้เป็นโอกาสที่หลายภาคส่วนมาทำความเข้าใจกัน ตนขอวางกรอบทำความเข้าใจกันว่า หน้าที่ของสถาบันการศึกษาคือทำวิจัย ค้นคว้า หาข้อมูลเสนอความเป็นจริงกับสังคม ควรทำหน้าที่ตัวแทนสำนึกสาธารณะในด้านทัศนะที่ดีและเลวต่อการเมืองบนพื้นฐานข้อเท็จจริง โดยไม่ใช่การประเมินผู้กระทำและผู้มีปัญหาทางการเมือง แต่การมีส่วนร่วมนั้นต้องดูว่าจะมีแค่ไหนและควรมีหลักเกณฑ์ในการนำเสนอทางข้อเท็จจริงที่ไม่ใช่สัจธรรม

“อย่างไรก็ตาม งานวิชากรไม่ควรมีมีคุณค่าเชิงตัดสิน ควรจะนำเสนออย่างมีเสรีภาพที่ปราศจากการตัดสิน เพื่อให้สังคมเป็นผู้ตัดสินเอง เพราะหากเหตุการณ์มีความขัดแย้งมากๆ คนที่นำเสนออาจมีความรู้สึกคล้อยตามได้ แต่สิ่งที่จะนำเสนอโดยสถาบันการศึกษานั้นนักวิชาการควรใช้จุดยืนแบบนักเทศน์ในวัดหรือโบสถ์ ที่เสนอคำสอนทางศาสนาแบบสัจธรรมนั้น เพื่อให้จุดยืนของงานวิจัยและนักวิชาการไม่อิงบนคุณค่าส่วนบุคคล แต่ควรยึดข้อเท็จจริงที่สุด หากจะเอียงกันบ้างก็ขอให้เอียงบนข้อเท็จจริง ที่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจ” นายธเนศ กล่าว

ขณะที่ นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอว่า ควรแยกเสรีภาพกับเสรีภาพทางวิชาการออกจากกัน โดยกล่าวว่า เหตุเพราะเสรีภาพเป็นคุณสมบัติทั่วไปของมนุษย์ แต่ต้องมีกรอบทางสังคมและกฎหมายควบคุมกำกับไว้ แต่นักวิชาการควรนำสิ่งที่ค้นคว้าศึกษามาเปิดเผยและถกเถียงกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมให้มนุษย์พัฒนา การจำกัดเสรีภาพทางวิชาการนั้น ควรมีการจำกัดเช่นเสรีภาพด้านอื่นๆ แต่ในเรื่องการเมืองนั้นตนคิดว่าหากจำกัดเสรีภาพทางวิชาการทางการเมืองจะเป็นการกดขี่ข่มเหงทางความเชื่อและความคิด สังคมควรเปิดพื้นที่ทางวิชาการให้กว้างสุด แต่นักวิชาการต้องไม่ขายตัวและรับใช้ผลประโยชน์ต่างๆควรแสดงออกว่าเป็นชุมชนที่สามารถมีอุดมการณ์ทางวิชาการของตัวเองแม้จะโดนวิจารณ์กันบ้าง

ทางด้าน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า เสรีภาพทางวิชาการ หรือเสรีภาพของนักวิชาการ หรือสิ่งที่นักวิชาการพูดหรือไม่ เพราะอีกด้านหนึ่ง คือ การเลือกเสพผลงานวิชาการของสังคมไทย และของสื่อมวลชนไทย ยกตัวอย่างการนำเสนอรายงานวิจัยปรองดอง ของสถาบันพระปกเกล้า หากดูในมิติการเลือกเสพเพียงอย่างเดียวจะพบว่า คนที่จะอ่านรายงานทั้งฉบับหรือรายงานฉบับย่อที่ยาวไม่เกิน 10 หน้า คงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น แต่ทุกคนกลับมีจุดยืนที่ตั้งกันไว้ล่วงหน้าแล้ว

“ทั้งที่ในความเป็นจริงในรายงานดังกล่าว หากอ่านให้ลึกซึ้ง เราจะพบว่า ข้อเสนอเรื่องนิรโทษกรรม หรือคดี คตส.เป็นเพียงประเด็นที่นำมาเสนอเพื่อให้เกิดการพูดคุยในสังคม ไม่ใช่ข้อเสนอสุดท้ายที่จะไปตัดสิน แต่ว่าพฤติกรรมทุกคนเหมือนเดิม จุดยืนทุกคนเหมือนเดิม จึงยังไม่เกิดบรรยากาศของการปรองดอง เพราะต่างก็เลือกเสพเฉพาะในส่วนข้อเสนอ จึงเกิดเหตุทุกวันนี้ หรือที่หลายคนเปรียบเป็นสงครามปรองดอง ทั้งที่หัวใจที่เสนอคือกระบวนการพูดคุยกันในสังคมเพื่อหาข้อยุติร่วมกัน” นายบวรศักดิ์ กล่าว

นายบวรศักดิ์ กล่าวอีกว่า รายงานดังกล่าวยังได้เสนอให้มีการสร้างบรรยากาศปรองดองภายในหมู่นักการเมือง และในประเทศ โดยให้นำประเด็นต่างๆ ไปพูดคุยหาข้อยุติกันว่า หากมีการให้อภัยกัน จะออกมาเป็นการนิรโทษกรรมหรืออย่างไร ความจริงในอดีตจะเปิดเผยได้มากแค่ไหน ซึ่งตรงนี้จาก 47 ผู้ทรงคุณวุฒิ มีเพียง 1 คนเท่านั้นที่ต้องการให้เปิดเผยชื่อทุกคนทุกเหตุการณ์ แต่นอกนั้นบอกว่า ต้องให้ลืมอดีต อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้วิจัยก็มีแนวทางชัดเจนว่า ไม่สามารถลืมอดีตได้ทั้งหมด เพราะอาจจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการเปิดเผยอย่างมีขั้นตอน และจังหวะที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น