กมธ.วิฯ รธน.ประชุมนัดสุดท้าย รอผู้เสนอคำแปรญัตติแจง พบส่วนใหญ่ค้านแก้ ม.291 เลิกฉบับ 50 ส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ พบผู้ทรงเกียรติโวยเพียบปล่อยยืนรอนาน บ้างก็วิ่งรอกประชุมปรองดอง ด้าน “สามารถ” โต้ “กิตติศักดิ์” ยันให้นายกฯ ลงนามสนองพระบรมราชโองการ ระบุให้ ปธ.รัฐสภาวินิจฉัยร่าง รธน.ทำได้ ชี้ใช้ พ.ร.บ.เลือกตั้งท้องถิ่นโหวต ส.ส.ร.แค่ไม่มีใช้สิทธิล่วงหน้า
วันนี้ (5 เม.ย.) ที่รัฐสภา การประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่มีนายสามารถ แก้วมีชัย ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เป็นประธาน วันนี้เป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของกรรมาธิการฯโดยตลอดทั้งวันยังเป็นการเชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติจำนวนที่เหลือซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน เข้าชี้แจงคำแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการฯ ก่อนจะปิดรับคำแปรญัตติในกำหนดการเดิมคือเวลา 16.30 น.
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่สมาชิกต่างแปรญัตติในประเด็นมาตรา 291/1 ที่ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงการไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 ทั้งฉบับ เพราะอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม บรรยากาศในห้องประชุมก็ไม่ค่อยราบเรียบนัก อาทิ ในช่วงสายที่ ส.ส.และ ส.ว.หลายคนที่มารอคิวนานกว่าเริ่มแสดงความไม่พอใจโวยวายกลางที่ประชุมจนบรรยากาศเริ่มวุ่นวาย
นอกจากนี้ กรรมาธิการฯ บางส่วนยังคอยวิ่งรอกไปประชุมสภาผู้แทนราษฎร ทำให้การประชุมไม่เดินหน้าเท่าที่ควร จนเมื่อถึงคิวนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ มาชี้แจงการแปรญัตติ เมื่อเห็นกรรมาธิการฯอยู่ในห้องไม่ครบองค์ประชุม จึงขอให้นับองค์ประชุม ทำให้ประธานในที่ประชุมต้องพักการประชุม 10 นาที
สำหรับประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ การนายกิตติศักดิ์ ปรกติ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่าการดำเนินการของ กมธ.อาจขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายสามารถให้สัมภาษณ์ว่า การตั้งข้อสังเกตของที่ปรึกษาผู้ตรวจฯ เป็นเพียงการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อเท่านั้น ขณะนี้ยังไม่มีการส่งหนังสือชี้แจงอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด ขณะที่ร่างในชั้น กมธ.ยังสามารถอภิปรายและแก้ไขได้ ซึ่งจะเปิดให้สมาชิกได้หารือได้อยู่ อย่างไรก็ตาม ขอชี้แจงว่า 1. ในประเด็นการระบุว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการนั้น ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะร่างที่ กมธ.เสียงข้างมากลงมตินั้น กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เข้าใจว่าที่ผู้ตรวจฯแสดงความเป็นห่วงคือร่างเก่าของคณะรัฐมนตรีที่รับมติจากที่ประชุม
นายสามารถกล่าวว่า 2. ประเด็นการบัญญัติให้ประธานสภาฯ เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีขึ้นใหม่ เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือไม่นั้น ตนคิดว่านั่นไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญในช่วงดังกล่าวนั้นเป็นเพียงระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังถือว่ายังไม่ถึงที่สุดในการตรากฎหมาย อีกทั้งอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญระบุให้วินิจฉัยการออกกฎหมายว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ อาทิ วินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ที่ตราขึ้นใหม่ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ได้ให้อำนาจถึงการวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ และผู้ที่จะพิจารณาประเด็นควรจะเป็นรัฐสภา ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าประเด็นนี้มีปัญหาจริงๆ ก็สามารถไปว่ากันในที่ประชุมรัฐบาลในวาระที่ 2 ได้ 3. การให้รัฐสภาลงมติยืนยัน หลังการนำขึ้นทูลเกล้า และเกิดทรงยับยั้ง เป็นหลักการการตรากฎหมายขึ้นใหม่ ที่ระบุในรัฐธรรมนูญปี 50 อยู่เดิม
ส่วนประเด็นการปรับใช้กฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้น นายสามารถกล่าวว่า เป็นไปในลักษณะสอดคล้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ในแต่ละพื้นที่ และใกล้เคียงกับการจัดเลือกตั้ง ส.ส.-ส.ว.แบบที่เคยปฏิบัติ เพียงแต่ไม่มีการใช้สิทธิล่วงหน้า หรืออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศเท่านั้น
ทั้งนี้ มีรายงานว่า สำหรับการเชิญผู้ที่เสนอคำแปรญัตติเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (5 เม.ย.) จากนั้นประธานกรรมาธิการฯ จะหารือในที่ประชุมว่าถึงการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเตรียมการเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา วาระที่ 2 ในวันที่ 10-11 เม.ย.55 ต่อไป