นายกฯ ท่องคาถาโยนถกปรองดองเป็นหน้าที่ของสภาฯ ชี้ฝ่ายค้านต้องเคารพเสียงส่วนใหญ่หลังวอล์กเอาต์ไม่พอใจ เลื่อนถกข้อเสนอ กมธ.ปรองดอง ย้ำออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรมขึ้นอยู่กับสภา “ปู” แค่หนึ่งเสียง ด้าน “บุญยอด” แฉ 35 ส.ว.เลือกตั้งกลับลำหนุนรายงาน กมธ.ปรองดอง ตะเพิดแจง ปชช.ในพื้นที่
วันนี้ (28 มี.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเหตุการณ์ความวุ่นวายในที่ประชุมร่วมรัฐสภาวานนี้ (27 มี.ค.) ที่พรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยกับการเลื่อนวาระเรื่องความปรองดองของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติขึ้นมาพิจารณา ซึ่งจะทำให้นำไปสู่ความปรองดองได้หรือไม่ว่า ส่วนตัวมองว่าอยากให้บรรยากาศของการหารือเรื่องปรองดองได้เสนอแนวคิดทุกรูปแบบ ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะการเคารพกติกาของคนส่วนใหญ่ แต่แน่นอนอย่างไรก็ต้องเคารพกติกาของคนส่วนน้อยด้วย และตนยืนยันว่าสภาฯ เป็นสถานที่ที่ดีที่สุดในการที่จะใช้กลไกตามระบอบประชาธิปไตยที่จะมาหารือถึงทางออกของประเทศ ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าขั้นตอนการหารือสร้างความปรองดองและหาทางออกให้กับประเทศยังมีอีกหลายขั้นตอน ไม่ใช่ว่าวันนี้จะจบแล้ว เพราะต้องดูที่เนื้อหาและรายละเอียดอีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่าหลังจากนี้จะนำไปสู่การที่รัฐบาลจะออก พ.ร.ก.นิรโทษกรรม จะชี้แจงอย่างไร น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นเรื่องของสภาฯ ที่จะเห็นชอบและหารือร่วมกัน ตนเป็นเพียงหนึ่งเสียงในสภาฯ เท่านั้น แต่ที่สำคัญตนเชื่อว่า ส.ส.และส.ว.ก็ต้องทำเพื่อเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน
นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า จากการศึกษารายชื่อ ส.ว.ที่ร่วมลงมติสนับสนุนให้สภาสามารถพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญปรองดองฯ พบว่า มี ส.ว.ร่วมลงคะแนน 66 คน จากทั้งหมด 150 คน ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก โดยผลการลงคะแนนปรากฏว่ามี ส.ว.เห็นด้วย 47 เสียง ซึ่งมาจาก ส.ว.เลือกตั้ง 35 เสียง ส.ว.สรรหา 12 คน ไม่เห็นด้วย 13 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ส.ว.เลือกตั้งจากจังหวัดต่างๆ จำนวนถึง 35 คน มีความเห็นไปในทางเดียวกับรัฐบาล ซึงควรต้องกลับไปตอบคนในจังหวัดของตัวเองดัวยว่าทำไมจึงมึความเห็นอย่างนั้น ทั้งที่ในการประชุมสภาฯ ทางฝ่ายค้านได้ลุกขึ้นแสดงเห็นผลคัดค้านอย่างเต็มที่ โดยมองว่ารายงานของคณะกรรมาธิการฯ มีความเร่งรีบและไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมาธิการทั้งหมด แต่ ส.ว.ที่เห็นด้วยก็กลับให้ผ่านไป