xs
xsm
sm
md
lg

ปรองดองโดยไม่มองที่เหตุ : การเพิ่มความขัดแย้ง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

การปรองดองที่ควรจะเป็นและสามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างปัจเจกบุคคลสองคนหรือกลุ่มบุคคลสองกลุ่ม จะบรรลุได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อทั้งสองฝ่ายซึ่งมีส่วนในการก่อความขัดแย้งให้เกิดขึ้นหันหน้าเข้าหากัน เจรจาประนีประนอมยอมความเพื่อหาข้อยุติที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ และเลิกแล้วต่อกัน

การปรองดองในลักษณะนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยและแนวทางดังต่อไปนี้

1. ผู้มีส่วนในการทำให้เกิดความขัดแย้ง หรือที่เรียกว่าคู่กรณีหันหน้าเข้าหากันเพื่อเจรจาด้วยความสมัครใจ และในการเจรจา ผู้ที่กระทำผิด และก่อให้เกิดความเสียหายแก่อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องยอมรับผิด โดยไม่มีเลศนัยแอบแฝง และพร้อมที่จะชดใช้ค่าเสียหายให้พร้อมกับคำขอโทษ และในขณะเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่งก็ให้อภัยไม่ติดใจเอาความอีกต่อไป การปรองดองก็เกิดขึ้นได้

2. ถ้าคู่กรณีไม่สามารถเริ่มการเจรจากันได้เองโดยลำพังสองฝ่าย ก็จะต้องมีคนกลางซึ่งอาจเป็นบุคคลหรือองค์กรอันเป็นนิติบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับนับถือในความเป็นกลาง และยินยอมให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ยให้ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจาเพื่อหาข้อยุติความขัดแย้งร่วมกัน การปรองดองก็เกิดขึ้นได้

จากเหตุปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่าหัวใจแห่งการปรองดองอยู่ที่คู่กรณีสมัครใจที่จะเจรจาเพื่อยุติความขัดแย้งร่วมกัน หากปราศจากความสมัครใจแล้วการปรองดองเกิดขึ้นได้ยาก ในทางตรงกันข้าม ความขัดแย้งจะยิ่งเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำดังที่เกิดขึ้นกับแนวทางปรองดองที่สถาบันพระปกเกล้า ทำการวิจัย และคณะกรรมาธิการปรองดองฯ หรือ กมธ.ปรองดองฯ ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นประธานจะนำเสนอต่อสภาฯ พิจารณาเพื่อนำไปสู่การออกเป็น พ.ร.บ.ต่อไป

แต่ยังไม่ทันที่จะดำเนินการในขั้นออกเป็นกฎหมายความแตกแยกก็เริ่มขึ้นแล้ว ทั้งจากฝ่ายค้านโดยการถอนตัวออกจากการเป็นกรรมาธิการชุดนี้ของ ส.ส. 9 คนจากพรรคประชาธิปัตย์ และจากการแสดงความคิดเห็นของบรรดานักการเมือง และนักวิชาการต่างๆ โดยที่ทุกฝ่ายมองไปที่ประเด็นเดียวกันคือ แก้ความขัดแย้งไม่ได้ และจะยิ่งทำให้ขัดแย้งเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม จากกระแสข่าวที่เผยแพร่ออกมาว่าทางฝ่ายสถาบันพระปกเกล้าได้ประกาศจะถอนผลการวิจัยจากการนำเสนอต่อสภาฯ ถ้ามีการนำไปลงมติในสภาฯ แทนการที่จะนำไปทำประชาพิจารณ์เพื่อหาประชามติ

ไม่ว่าจะมีการนำผลการวิจัยที่ว่านี้ไปเสนอต่อสภาฯ หรือไม่ ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าแนวทางการปรองดองอันเกิดจากการวิจัยของสถาบันแห่งนี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อะไรคือเหตุให้ความขัดแย้งเพิ่มขึ้น จากการที่แนวทางการปรองดองอันเป็นงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าได้มีการเผยแพร่ออกมา

เพื่อให้ท่านผู้อ่านที่สนใจการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทยได้มองเห็นปมแห่งปัญหา เพื่อจะได้นำไปเป็นฐานในการคิดไตร่ตรองในการที่จะเห็นด้วยหรือปฏิเสธโดยมีเหตุผลและหลักรองรับ ไม่เลื่อนลอย เนื่องจากใช้ความชอบใจและไม่ชอบใจ หรือยึดติดผลประโยชน์ที่ตนเองพึงมีพึงได้ หรือได้มาแล้วดังที่บางคนหรือบางกลุ่มเป็นอยู่ในขณะนี้ ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูเหตุแห่งความขัดแย้งซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2548 และเพิ่มขึ้นเมื่อมีการปฏิวัติรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็จะอนุมานเหตุแห่งความขัดแย้งได้ดังต่อไปนี้

1. กระบวนการที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งได้ปรากฏขึ้นครั้งแรกเมื่อกลุ่มคนเสื้อเหลืองได้ออกมาต่อต้านการอยู่ในอำนาจของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยข้อหาทุจริต และมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบัน เป็นต้น และในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนเสื้อแดงเกิดขึ้นหนุนให้อดีตนายกฯ ทักษิณอยู่ในตำแหน่ง เป็นเหตุให้สองกลุ่มนี้ขัดแย้งกัน โดยมีต้นเหตุอยู่ที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

2. ในปลายปี พ.ศ. 2549 ได้เกิดคู่ขัดแย้งคู่ใหม่ คือ ผู้ก่อการรัฐประหารรัฐบาลภายใต้การนำของอดีตนายกฯ ทักษิณ โดยมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้นำ กับกลุ่มคนเสื้อแดงในนามแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. โดยมีนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นต้น เป็นแกนนำ ในทำนองเดียวกันกับกลุ่มแรก

ทั้งสองกลุ่มนี้ขัดแย้งกันโดยมีอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เป็นต้นเหตุ กล่าวคือ ทางฝ่ายก่อการปฏิวัติต้องการให้อดีตนายกฯ ทักษิณลงจากอำนาจ โดยมีเหตุอ้าง 4 ประการ คือมีการทุจริตและจาบจ้วงเบื้องสูง เป็นต้น และทางฝ่ายต่อต้านต้องการนำอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร คืนสู่อำนาจ โดยอ้างถูกโค่นล้ม ไม่เป็นธรรม

3. สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้เกิดวิกฤตทางการเมืองหลายครั้งหลายครา โดยมีคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อความวุ่นวาย และกองทัพภายใต้การสั่งการของรัฐบาลทำการป้องกัน และปราบปรามผู้กระทำผิด เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งค่อนข้างรุนแรง และความรุนแรงในครั้งนี้ก็สืบเนื่องมาจากเหตุเดียวกัน ผู้ที่ติดตามเหตุการณ์จะเข้าใจตรงกันว่า กลุ่มคนเสื้อแดงได้รับการสนับสนุนจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จะเห็นได้จากการที่มีการโฟนอินเข้ามาเกือบทุกครั้งที่กลุ่มคนเสื้อแดงชุมนุมกัน

จากเหตุความขัดแย้งทั้ง 3 กรณี ถ้าดูให้ลึกลงไปถึงเหตุแล้วก็บอกได้ว่ามีเหตุเดียว คือ ความต้องการคืนสู่อำนาจของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร

ดังนั้น ถ้าจะต้องการปรองดองก็จะต้องเริ่มที่ต้นเหตุคือ อดีตนายกฯ ทักษิณ ยอมรับผิด และขอโทษผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม และได้รับการให้อภัยจากคู่กรณีทุกกลุ่ม การปรองดองก็เกิดขึ้นได้

แต่ถ้าต้นเหตุไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการปรองดองโดยมองที่เหตุแล้ว เชื่อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะยิ่งแตกแยกเพิ่มขึ้นแน่นอน และอาจถึงขั้นล้มกระดานอีกครั้งถ้าการปรองดองคือพวกมากลากไปในสภาฯ โดยไม่สนใจประชาชน
กำลังโหลดความคิดเห็น