รายงานการเมือง
อยู่ในภาวะเดินเครื่องเต็มกำลัง สำหรับท่าทีของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” และ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) ที่มีอดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้ที่ทำการรัฐประหารโค่นล้ม “รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน
ไม่ว่าเสียงคัดค้าน เสียงต่อต้าน จากภาคส่วนไหน “พรรคเพื่อไทย” ปล่อยลอยลิ่วลม ผ่านเข้าหูซ้าย ทะลุออกทางขวา ไม่แยแสว่าใครจะหยิบมีด หยิบดาบมารบราฆ่าฟันกันกลางเมืองอีกคำรบ
ด้วยภารกิจอันยิ่งใหญ่ที่ชาวเพื่อไทยตั้งไว้สูงสุด นั่นคือ ปฏิบัติการพา “นายห้างดูไบ” กลับถิ่นฐานบ้านเกิด หลังจากที่ต้องซมซานอยู่ต่างแดนนานร่วม 4 ปี
ดังนั้นวิธีไหนเปิดช่องให้แล้ว “พลพรรคเพื่อไทย” จัดเสียบหมด โดยเฉพาะ “พะยี่ห้อแม้ว” ที่ทุกอย่างต้องรวดเร็ว ทันใจ ออกแนวชักช้า “นายไม่ปลื้ม”
อย่างที่เห็นๆ กันคาหนังคาตา ก็ในรายงานผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าชิ้นดังกล่าว พลันที่มีการบรรจงชงเข้ามา กมธ.ปรองดองชุดหัวหน้ารัฐประหารก็ง้างเท้ารับ พร้อมกับปรุงแต่งนิด บิดคำหน่อย ให้เข้าทาง “ทักษิณ” เสร็จ ก็เขี่ยต่อให้รัฐสภาแบบรวดเร็ว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ต้องมีการประชุมในชั้นกรรมาธิการอีกครั้งหนึ่ง แต่ “ประธาน กมธ.ปรองดอง” ก็อ้างว่ากระบวนการเสร็จสิ้น ชนิดให้เหตุผลไม่ได้
แม้หลายฝ่ายจะให้ชะลอ แต่เพื่อไทยไม่สน ขอลุยหน้าต่อ จน “พรรคประชาธิปัตย์” อ่านเกมออก ต้องเขย่งเท้าโดดหนี และกวักมือเรียกขุนศึกปรองดองทั้ง 9 นาย ที่ส่งเข้าไป คอนเวิร์ทออกมายกก๊ก
เพราะขืนอยู่ร่วมสังฆกรรมต่อ ไม่วายจะถูกกล่าวหาว่าสมรู้ร่วมคิด ช่วยนักโทษหนีคดี ที่เป็น “ศัตรูนัมเบอร์วัน” กลับมาเหยียบเท้าเข้าแผ่นดินไทยอย่างชอบธรรม จนเกิดฉาก “กราบสุวรรณภูมิ ภาค 2”
เช่นเดียวกับในรายของ “วุฒิสาร ตันไชย” รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เจ้าของงานวิจัยชิ้นดังกล่าว ที่ออกอาการละอายแก่ใจ กลับลำตะแบงเสียงขู่ กมธ.ปรองดอง ให้ตัดข้ออ้างเรื่องเสียงข้างมากในชั้นกรรมาธิการออก ไม่อย่างนั้นจะถอนงานวิจัยคืน
ด้าน “เพื่อไทย” ก็สนองให้เพราะจุดมุ่งหมายปลายทางอยู่ที่สภา จึงโละส่วนนั้นทิ้ง แต่เหลือเนื้อหาที่เอื้อให้ “นายใหญ่” ทั้งการนิรโทษกรรม และการล้มคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้ความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่มีในรายงานวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าที่เสนอมา และบางคำที่สอดไส้เติมแต่งเข้าไปเองด้วย
ขณะที่บรรยากาศการประชุมร่วมรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้ “พรรคสีฟ้า” และ ส.ว.ลากตั้งหลายคน จะพยายามขย่มสุดฤทธิ์ในการเตะฉุดไม่ให้ “รายงานปรองดองฉบับเพื่อแม้ว” เข้าไปอยู่ในกระบวนการสภาได้ จะด้วยวิธีการออกโรงประณามว่าเป็น “รายงานเถื่อน” หรือ การโจมตีโดยพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กบัง” ตัวต้นเรื่อง
แต่ก็พ่ายแพ้กลเกมสภา ที่มีประมุข และรองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเป็นคนของรัฐบาล พ่วงด้วยสมุนลิ่วล้อที่คอยรังควานการอภิปราย ท้ายที่สุดเสียงข้างมากของ “พรรครัฐบาล” และ ส.ว.สายสีแดง ก็กระชากรายงานดังกล่าวเข้าไปสู่ อ้อมอกของ “สภาแม้ว” สำเร็จ ต่อเติมบันได ปูทางให้ “นายใหญ่” กลับบ้านได้อีกหนึ่งขั้น
ส่วนจะย่างก้าวอย่างไรต่อ สถานการณ์ตอนนี้ของ “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” แทบไม่ต่างจากทางสองแพร่ง
ทางแรก คนในพรรคเพื่อไทยบางส่วนประเมินว่า หากมองในเชิงสัญลักษณ์ ถือว่าในยกแรก “พรรคสีแดง” เป็นฝ่ายกำชัยชนะ เพราะสามารถผลักดันรายงานเข้าสู่สภาได้เป็นที่สำเร็จ ช่วงเวลาหลังจากนี้ควรจะพักยกให้น้ำให้ท่า ปล่อยให้ “รัฐบาลนารีปู” ไปเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน สร้างผลงานเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งการปราบปรามยาเสพติด ที่ให้ “ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง” รองนายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ถูกตราหน้าว่าไร้น้ำยา การสานต่อนโยบายประชานิยมที่ยังเคว้างคว้างอยู่กลางอากาศ รวมไปถึงการรับมือแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่มาจะเยือนในกลางปี
ขณะเดียวกัน เรื่องกระบวนการในสภาก็ให้ยุติลงชั่วคราว ปล่อยให้กระแสเงียบหายเข้าไปในกลีบเมฆสักพัก ระหว่างนั้นก็ให้มือไม้อย่าง “พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์” ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา หรือ ตัวละครอื่นๆ คอยวิ่งดีลกับกลุ่มต่อต้านต่างๆ ให้ลงตัว
เล่นแผนปล่อยบทให้รัฐบาลตีกินไปเรื่อยๆ กระทั่งชุบตัวจนแข็งแกร่งพอ หากมีสัญญาณที่ดีจากฝ่ายต่อต้าน อย่าง “อำมาตย์-กองทัพ” ตลอดจนการยอมรับประชาชนมากขึ้นค่อยฉวยโอกาส ขุดขึ้นมากระทำชำเรากันอีกระลอก
ขณะที่ทางเลือกที่สอง กลุ่มก๊วนสาย “ฮาร์ดคอร์” ประเภทเครื่องแรง ต้องการใช้ทฤษฎี “ตีเหล็ก ต้องตีตอนร้อน” รัฐบาลต้องเร่งปิดเกมเร็ว หากไม่จับกินจังหวะนี้ โอกาสแห่ขบวนต้อนรับ “นายใหญ่” จบเห่แน่ จึงสวนหมัดแลก ด้วยการปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงให้ลุกฮือมาเป็นเกาะกำบังรัฐบาลจากกลุ่มต่อต้านทั้งหลายที่พร้อมจะออกมาประท้วง
ผลักดันออกมาเป็น “กฎหมายนิรโทษกรรม” เล่นบทตาต่อตา ฟันต่อฟัน แตกหักกันไปข้าง
จับอาการทั้งสองแนวทางยังอยู่ในช่วงที่ “ทักษิณส่วนหน้า” ยังเคาะไม่ลง เพราะเงื่อนไขสารพัดยังอีรุงตุงนังเคลียร์ไม่ลงตัว ไม่ว่าจะเป็นจากตัว “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี หรือ “ทักษิณ” ผู้เป็นพี่ชาย แม้กระทั่งฝั่ง “อำมาตย์” เอง
เมื่อหาทางลงมาได้ จึงยังต้องเตะถ่วงสถานการณ์ไปก่อน
ขืนทะเล่อทะล่าลุยแหลกไม่สนหน้าอินทร์หน้าพรหม ปฏิบัติการครั้งนี้อาจกลายมาเป็นเครื่องบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาลได้ เพราะต้องอย่าลืมว่า บรรดากลุ่มต่อต้านที่จ้องตาเป็นเขม็งเกลียวนั้น มีไม่น้อยกว่า 15 ล้านเสียงที่พรรคเพื่อไทยชอบอ้างอยู่เป็นแน่
มิหนำซ้ำ การเลือกเดินหน้าต่อวินาทีนี้ทันที มันอาจจะเป็นหลักฐานมัดตัวได้ว่า “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” จงใจให้เกิดสงครามการเมืองภาค 2 ขึ้น
การเลือกโหมดเดินของพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้จึงน่าจับตา