xs
xsm
sm
md
lg

รับมือนายจ้าง มั่วนิ่ม300บาท ร้องผ่านศูนย์ฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- "เผดิมชัย"แจงมาตรการรับมือขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เตือนนายจ้างอย่านำสวัสดิการ-โอทีมารวมเป็นค่าจ้าง สั่งตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ฟังปัญหานายจ้าง-ลูกจ้าง ด้านอธิบดีกสร.เผยเดือนเม.ย. ส่งเจ้าหน้าที่คุยนายจ้าง-ลูกจ้าง หากไม่ขึ้นค่าจ้างออกหนังสือเตือนก่อนเอาจริงเดือนมิ.ย.

วานนี้ (29 มี.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงแรงงาน(รมว.รง.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 ที่จะปรับเพิ่มอีก 40% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ 7 จังหวัดได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม และนนทบุรีว่า เรื่องนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2554 โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องไม่นำสวัสดิการ ค่าทำงานล่วงเวลา(โอที)ไปรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามอัตราใหม่ ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541

รมว.แรงงาน กล่าวว่า หลังจากนี้จะขอความร่วมมือทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงานเช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) จะต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ไปทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงสำนักงานประกันสังคม(สปส.)จะต้องเพิ่มวงเงินปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการมากขึ้น หากสถานประกอบการเดือดร้อนหลังปรับขึ้นค่าจ้าง

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงานจัดสร้างห้องเฉพาะกิจขึ้นบริเวณใต้ตึกกระทรวงแรงงา น เพื่อรับฟังปัญหาของลูกจ้างและนายจ้าง และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะต้องเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลปัญหาและผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนำไปหารือกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาและช่วยเหลือทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

นายเผดิมชัย กล่าวว่า กรณีที่นักธุรกิจโรงแรมออกมาระบุว่าจะทะยอยปลดคนงานหลังการปรับค่าจ้างนั้น เรื่องนี้จะต้องเฝ้าระวัง แต่หากสถานประกอบการใดแบกรับภาระไม่ได้ก็อาจจะมีการปลดพนักงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจัดหางานใหม่รองรับ

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมทำความเข้าใจผู้ประกอบการ และลูกจ้าง รองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 แล้ว โดยเน้นย้ำให้ทุกคนทำงานในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะการปรับค่าจ้าง จะต้องไม่นำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ

อธิบดีกสร. กล่าวว่า ช่วงเดือนเมษายนนี้ ทางกสร.จะส่งพนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ทำความเข้าใจทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายในการจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่ปรับเพิ่ม หลังจากนั้นในเดือนพฤษภาคม จะเป็นการตรวจว่านายจ้างได้ปฏิบัติตามหรือไม่ หากละเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะออกหนังสือเตือนภายใน 30 วัน เมื่อครบกำหนดนายจ้างยังไม่จ่ายค่าจ้างตามอัตราใหม่ ก็จะดำเนินคดีตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้ จะเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงขอเตือนนายจ้างว่าให้ปฏิบัติตาม

อธิบดีกสร. กล่าวว่า วันนี้ตนได้ไปประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎรและได้พูดคุยกับนายกสมาคมโรงแรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนายกสมาคมฯได้ชี้แจงว่ากรณีที่มีข่าวว่าธุรกิจโรงแรมจะมีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมเป็นจำนวนมากนั้นไม่เป็นความจริง แต่โรงแรมขนาดเล็กอาจจะได้รับผลกระทบโดยถูกโรงแรมขนาดใหญ่เข้าไปเทคโอเว่อร์ ซึ่งคงไม่มีการเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เดิมเพราะโดยภาพรวมแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงวันละ 300 บาท มีสัดส่วนอยู่ไม่เกิน 15% เช่น โรงแรมดุสิตธานีมีลูกจ้างกลุ่มนี้แค่ 5% จึงไม่ได้รับผลกระทบมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น