xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัยฯ ความต้องการแรงงานหลังเปิด AEC กระฉูด คาดปี 58 ศก.โต 55%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีดีอาร์ไอ เผยผลวิจัยฯ ความต้องการแรงงานหลังเปิดเสรีอาเซียน ปี 58 พบความต้องการ 9 สาขาธุรกิจ มีสูงถึงปีละ 3.2 หมื่นคน แรงงานฝีมือ "ปวช.-ปวส." ยังขาดแคลน พร้อมคาดการณ์ แนวโน้ม ศก.ปี 58 โตได้ถึง 55% ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้น 5.6%

น.ส.สุวรรณา ตุลยวศินพงษ์ หัวหน้าโครงการศึกษาความพร้อมของกำลังคน เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า 9 สาขา ตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในงานสัมมนาการเตรียมความพร้อมของกำลังคน เพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้า 9 สาขา ตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน

โดยคาดการณ์แนวโน้มในปี 2558 ที่จะเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) และมีการเปิดเสรีเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และแรงงานฝีมือระหว่าง 10 ประเทศในอาเซียน รวมทั้งเปิดเสรีด้านการในสาขาเร่งรัด 9 สาขา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ/เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ต้องมีการผลิตและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ สาขาผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการลดภาษี ตามข้อตกลงอาเซียน

น.ส.สุวรรณา คาดการณ์อีกว่าในช่วงปี 2553-2558 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียน (จีดีพี) กับการเติบโตของจำนวนประชากรต่างกันมาก โดยจีดีพีของอาเซียนปี 2553 อยู่ที่ 1.73 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2558 อยู่ที่ 2.67 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 55.3% ขณะที่จำนวนประชากรของอาเซียนปี 2553 อยู่ที่ 588 ล้านคน ส่วนปี 2558 อยู่ที่ 621 ล้านคน มีประชากรเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5.6%

สำหรับในส่วนของไทยคาดว่าในปี 2555-2558 สถาบันการศึกษาสามารถผลิตผู้ที่จบการศึกษาทุกระดับได้ 1.5 ล้านคนต่อปี มีความต้องการแรงงานทดแทนแต่ละปีอยู่ที่ 1.2 ล้านคน แต่มีผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 3.6 แสนคน อัตราว่างงานไม่ถึง 1% ถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก ในจำนวนนี้จบปริญญาตรี 10% รองลงมาระดับ ปวส.ส่วนระดับ ปวช.นั้น ตลาดแรงงานมีความต้องการมากแต่กลับมีผู้เรียนน้อยลง

"จากการที่ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการต่างให้ข้อมูลว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีมีจุดอ่อน การขาดทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะฝีมือ และประสบการณ์ทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบระดับ ปวช.และ ปวส. ทางผู้ประกอบการต้องนำมาฝึกอบรมและเรียนรู้งานนาน 6 เดือนถึงจะปฏิบัติงานได้ดี"

ขณะเดียวกัน ตลาดแรงงานไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนกำลังคน การใช้แรงงานต่างด้าวทั้งที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายรวมแล้วกว่า 1.3 ล้านคน รวมถึงแรงงานในระบบมีอายุมากขึ้น จากการคาดการณ์พบว่าใน 9 สาขาเร่งรัด ที่มีการเปิดเสรีการค้าในอาเซียน มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 32,732 คน ขณะที่กำลังแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับคงที่

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน ควรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ วางแผนแก้ปัญหาโดยใช้วิธีต่างๆ เช่น การใช้เครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น และต้องตัดสินใจการใช้แรงงานต่างด้าว ผู้ประกอบการเห็นว่าแม้ค่าจ้างจะถูกกว่าคนไทย แต่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่า มีปัญหาการสื่อสาร ดังนั้น ต้องพิจารณาว่าจะเป็นทางเลือกในระยะสั้นหรือระยะยาว
กำลังโหลดความคิดเห็น