วันนี้ (22 มี.ค.) น.ส.สุวรรณา ตุลยวศินพงษ์ หัวหน้าโครงการศึกษาความพร้อมของกำลังคนเพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า 9 สาขา ตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการสัมนาการเตรียมความพร้อมของกำลังคนเพื่อรองรับการเปิดเสรีด้านการค้า 9 สาขา ตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน กรุงเทพฯ จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน ว่า ในปี พ.ศ.2558 จะมีการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) โดยมีการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุน และแรงงานฝีมือระหว่าง 10 ประเทศในอาเซียน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 10 ประเทศ ได้มีการลดกำแพงภาษีการค้า รวมทั้งมีการเปิดเสรีด้านการค้าในสาขาเร่งรัด 9 สาขา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ/เสื้อผ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ สินค้าสุขภาพ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
น.ส.สุวรรณา กล่าวอีกว่า ผลจากการเปิดเสรีการค้าใน 9 สาขาข้างต้น ทำให้จะต้องมีการผลิตและส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการกำลังคนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ โดยเฉพาะในสาขาผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการลดภาษี ตามข้อตกลงอาเซียน
อย่างไรก็ตาม มีการคาดการณ์ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2553 - 2558 อัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของอาเซียน (จีดีพี) กับการเติบโตของจำนวนประชากรต่างกันมาก โดยอัตราการเติบโตของจีดีพีของอาเซียน ในช่วงปี 2553 อยู่ที่ 1,719 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ และในปี 2558 อยู่ที่ 2,670 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 55.3% ขณะที่จำนวนประชากรของอาเซียนปี 2553 อยู่ที่ 588 ล้านคน และในปี 2558 อยู่ที่ 621 ล้านคน มีประชากรเพิ่มขึ้นคิดเป็น 5.6 % เท่านั้น
น.ส.สุวรรณา กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ.2555-2558 สถาบันการศึกษาสามารถผลิตผู้ที่จบการศึกษาทุกระดับอยู่ที่ 1.5 ล้านคนต่อปี และมีความต้องการแรงงานทดแทนในแต่ละปีอยู่ที่ 1.2 ล้านคน แต่มีผู้ที่เข้าสู่ตลาดแรงงานเพียง 3.6 แสนคน และมีอัตราว่างงานไม่ถึง 1% ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่น้อยมาก โดยในจำนวนนี้พบว่า จบปริญญาตรี 10% รองลงมาระดับ ปวส. ส่วนระดับ ปวช.นั้น ตลาดแรงงานมีความต้องการมาก แต่กลับมีผู้เรียนน้อย
อย่างไรก็ตาม จ ากการที่ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการต่างให้ข้อมูลว่า ผู้ที่จบการศึกษาระดับ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีมีจุดอ่อนในเรื่องการขาดทักษะภาษาต่างประเทศ ทักษะฝีมือ และประสบการณ์ทำงาน โดยเฉพาะผู้ที่จบระดับ ปวช.และปวส.ทางผู้ประกอบการจะต้องนำมาฝึกอบรมและเรียนรู้งานนาน 6 เดือน จึงจะปฏิบัติงานได้ดี
นอกจากนี้ ตลาดแรงงานไทยยังมีปัญหาการขาดแคลนกำลังคน การใช้แรงงานต่างด้าวทั้งที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายและผิดกฎหมายรวมแล้วกว่า 1.3 ล้านคน รวมถึงแรงงานในระบบมีอายุมากขึ้น โดยจากการคาดการณ์ พบว่า ใน 9 สาขาเร่งรัด ที่มีการเปิดเสรีการค้าในกลุ่มประเทศอาเซียนมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นปีละ 32,732 คน ในขณะที่กำลังแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาดอยู่ในระดับคงที่
“กระทรวงแรงงาน จึงควรร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในการวางแผนแก้ปัญหาโดยใช้วิธีต่างๆ เช่น การใช้เครื่องจักรสมัยใหม่มาใช้ในการผลิต การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผลิตสินค้าได้มากขึ้น รวมทั้งจะต้องตัดสินใจในการใช้แรงงานต่างด้าว ซึ่งผู้ประกอบการเห็นว่าแม้ค่าจ้างจะถูกกว่าคนไทยแต่ประสิทธิภาพการทำงานต่ำกว่า และมีปัญหาในการสื่อสาร ดังนั้น จะต้องพิจารณาว่า จะเป็นทางเลือกในระยะสั้นหรือระยะยาว เพราะเมื่อประเทศต้นทางพัฒนาจนถึงระดับที่ต้องการกำลังคน แรงงานต่างด้าวก็จะต้องเคลื่อนย้ายกลับประเทศ แต่หากจะใช้แรงงานต่างด้าวระยะยาวก็ควรนำแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาโดยถูกกฎหมายมาอบรมด้านภาษาต่างประเทศ ภาษาไทย และทักษะฝีมือ เพื่อจะได้เป็นแรงงานฝีมือผลิตสินค้าได้อย่างมีคุณภาพ อีกทั้งจะต้องมีการปรับหลักสูตรการเรียนการสอนระดับ ปวช.และ ปวส.โดยเพิ่มระยะเวลาฝึกงานให้มากขึ้น อบรมภาษาต่างประเทศ ไอที ด้วย” น.ส.สุวรรณา กล่าว
นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อธิบดีกพร. กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้มีโอกาสฟังกระทรวงพาณิชย์ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยในเรื่องการเคลื่อนย้ายเสรีแรงงานฝีมือนั้น กระทรวงพาณิชย์อธิบายว่า จะดำเนินการใน 7 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี และ ช่างสำรวจ รวมถึงสาขาบริการและการท่องเที่ยวอีก 1 สาขาวิชาชีพ ซึ่งสาขานี้ ทาง กพร.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติไว้แล้ว 32 ตำแหน่งงาน แต่ไทยยังไม่ได้มีการทำความตกลงกับอีก 9 ประเทศ
“ส่วนสาขาอื่นๆ เช่น ช่างฝีมือสาขาต่างๆ นั้น ประเทศในอาเซียนยังไม่ได้ตกลงกัน ขณะนี้แต่ละประเทศต่างเร่งจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติของตนเองขึ้นมา ยังไม่มีมาตรฐานกลางของอาเซียน และท่าทีประเทศในอาเซียนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดให้เคลื่อนย้ายเสรีแรงงานฝีมือ มีเพียง 2 ประเทศคือ มาเลเซีย และ บรูไน ที่เห็นด้วย ดังนั้น เชื่อว่า เมื่อเกิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน แต่ละประเทศ จะอำนวยความสะดวกในการให้แรงงานฝีมือจากประเทศต่างๆ เข้ามาทำงานได้ง่ายขึ้น แต่จะมีการคัดกรองอย่างเข้มข้น โดยจะต้องผ่านเกณฑ์การทดสอบมาตรฐานฝีมือแต่ละประเทศก่อน จึงจะทำงานได้ ทำให้การเคลื่อนย้ายแรงงานในอาเซียนไม่ได้เป็นไปอย่างสะดวก ” นายประพันธ์ กล่าว