xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอแนะลดผลิต ป.ตรี สายสังคม เน้นผลิตสายวิทย์-เทคโนโลยี-สาขาเฉพาะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทีดีอาร์ไอ เผย ปัญหาสะสมตลาดแรงงานไทยผลิตกำลังคน-จ้างงานสวนทาง แนะหน่วยงานรัฐ-สถานศึกษา ปรับโครงสร้างผลิตกำลังคนทั้งระบบ ระดับปริญญาตรีลดผลิตสายสังคมเน้นผลิตสายวิทย์-เทคโนโลยี-สาขาเฉพาะ ชี้ ปวช.-ปวส.คุณสมบัติไม่จูงใจ ดึงติวเข้มความรู้เฉพาะทางพร้อมหาจัดหาแหล่งงานรองรับ
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงภาพรวมปัญหาตลาดแรงงานของไทย ว่า ปัจจุบันแรงงานระดับล่างต่ำกว่า ม.ต้น และกลุ่ม ม.ปลาย มีไม่เพียงพอจนต้องใช้แรงงานต่างด้าว ขณะที่แรงงาน ปวช.มีข้อจำกัด วัยวุฒิ และคุณสมบัติ ไม่ครบไม่จูงใจให้จ้างงาน ส่วนแรงงาน ปวส.ต้องการเรียนแล้วมีงานทำ แต่ยังว่างงานกว่า 2 หมื่น ด้าน ป.ตรีผลิตจนล้น ยังว่างงานสะสมปีละ 1 แสนคน

“ปัญหาดังกล่าวเป็นความไม่สมดุลของความต้องการแรงงานและการผลิตแรงงาน ทำให้เกิดปัญหาในเชิงโครงสร้างตลาดแรงงาน ทำให้มีต้นทุนในการเคลื่อนย้ายเพื่อไปทำงาน จากปัญหาจบการศึกษาที่หนึ่งแต่กลับต้องไปทำงานอีกที่หนึ่ง และการผลิตล้นเกิน ทำให้เกิดการว่างงานและเป็นความสูญเปล่ากับประเทศ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการอุดหนุนในระดับอุดมศึกษาโดยผู้จบ ป.ตรี มีว่างงานสะสมราว 1 แสนคน จากจำนวนผู้จบแต่ละปี 2.2 แสนคน ปรากฏว่า คนที่ว่างงานมีทั้งสาขาวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดแรงงานที่รองรับการจ้างงานทางด้านวิทยาศาสตร์ได้น้อย เนื่องจากอุตสาหกรรมส่วนใหญ่เป็นธุรกิจประกอบชิ้นส่วนซึ่งไม่ต้องใช้บุคลากรที่มีวุฒิสูงมากนัก” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า จากผลการศึกษาตลาดแรงงานในทุกกลุ่มจังหวัดของประเทศทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด และกรุงเทพฯ ล่าสุด ยืนยันว่า การจัดการศึกษากระจายเพื่อให้ผู้เรียนเข้าถึงได้มากขึ้น โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา มีการขยายทั้งสถานศึกษาและสาขาที่เปิดสอนไปในกลุ่มจังหวัดต่างๆ แต่มักเป็นสาขาทั่วไปหรือสาขาเฉพาะ แต่ไม่มีแหล่งจ้างงานในพื้นที่กลุ่มจังหวัดรองรับได้เพียงพอ รวมทั้งการกระจายสถานศึกษายังมีความไม่สมดุลทั้งการให้บริการ มาตรฐานและคุณภาพ ความเท่าเทียม และบุคลากร

ทั้งนี้ ส่วนของการศึกษาในสายอาชีวะ ทั้งระดับ ปวช.และ ปวส.ก็มีคุณภาพแตกต่างกันระหว่างสถานศึกษารัฐกับของเอกชน และแหล่งจ้างงานในพื้นที่มีไม่พอ ส่วนระดับปริญญาตรี สถานศึกษาขยายตัวเข้าไปมาก แต่สาขาที่เปิดสอนไม่มีแหล่งจ้างงานในกลุ่มจังหวัดรองรับ เช่น สาขาวิศวะ ในจังหวัดภาคเหนือตอนบนไม่มีอุตสาหกรรมที่จะรองรับผู้จบปริญญาตรีสายวิทยาศาสตร์ได้มากพอ จึงมีจำนวนผู้จบเพิ่มขึ้นแต่ไม่มีแหล่งงานรองรับ จึงต้องออกไปหางานนอกพื้นที่โดยส่วนมากยังคงกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ ภาคกลางและเมืองใหญ่ต่างๆ

“การแก้ปัญหาแรงงานระดับปริญญาตรี คือ หน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และภาคเอกชน จะต้องร่วมกันต้องปรับโครงสร้างการผลิตกำลังคนปริญญาตรีให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยเกณฑ์ต่ำสุดจะต้องลดการผลิตบัณฑิตที่ตลาดมีความต้องการถดถอยลง เช่น บริหารธุรกิจ สาขาศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ครุศาสตร์ ฯลฯ และมหาวิทยาลัยในภูมิภาคไม่จำเป็นต้องผลิตบัณฑิตจำนวนมากและสาขาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในส่วนกลาง แต่จะมุ่งเน้นผลิตบัณฑิต ป.ตรี ที่มีคุณภาพ และขยายฐานการจ้างงานให้ใช้วุฒิปริญญาตรีมากขึ้น”รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ช่วงที่ 5 ปีที่ผ่านมามีการขยายการจ้างงานป.ตรีในสถานประกอบการต่างๆ เพิ่มขึ้น 8-9% ต่อปี คือ จากที่เคยจ้าง ป.ตรี 6-7 หมื่นคน มาเป็นราว 1.5 แสนคนต่อปีในปัจจุบัน แต่ก็มีข้อวิตกว่าหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายต้วได้ถึง 4-5% ก็อาจจะไม่เอื้อต่อการจ้างงานแรงงานปริญญาตรีได้มากขึ้น

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือ นโยบายการปรับค่าจ้าง ป.ตรีเดือนละ 1.5 หมื่นบาท อาจจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของสถานประกอบการที่กำลังขยายฐานการจ้างงาน ป.ตรีมากขึ้นหรือไม่ เพราะจะไปกระทบคนที่อยู่เดิมที่เงินเดือนไม่ถึงระดับ 1.5 หมื่นบาทมากกว่า 8 แสนคน และอาจจะทำให้ต้นทุนสูงมากขึ้นในภาคเอกชน

นอกจากนี้ การผลิตระดับ ป.ตรี ควรผลิตเพื่อป้อนตลาดแรงงานเฉพาะมากขึ้น คำนึงถึงแหล่งจ้างงานในกลุ่มจังหวัด ไม่ใช่สาขาทั่วไปที่เปิดเหมือนกันไปหมดทุกแห่ง การสอนปริญญาตรีนั้น ต้องสอนแล้วให้เขามีงานทำด้วย จึงจะเป็นการเรียนการสอนอย่างมีความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ในระยะยาวหากตลาดแรงงานไทยไม่สามารถรองรับได้ก็ควรมองหาตลาดต่างประเทศ เช่น ตลาดอาเซียน วางแผนการผลิตและพัฒนาคนเพื่อเปิดตลาดแรงงานไทยระดับบนในประเทศต่างๆ

รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวต่อไปว่า ส่วนแรงงานกลุ่ม ปวช.และ ปวส.โดยเฉพาะระดับ ปวช.เป็นเรื่องที่ต้องการการปรับโครงสร้างอย่างเร่งด่วน อาจลดภาระการสอนในสายอาชีพที่ไม่ใช่ช่างให้น้อยลงและปรับเปลี่ยนทรัพยากรที่มีจำกัดมาทุ่มกับการเรียนการสอนในสายช่างในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า โดยรัฐบาลมีโปรแกรมพิเศษสนับสนุนสถานศึกษาที่ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล

“แรงงานกลุ่มระดับ ปวช.และ ปวส.นี้ ควรเน้นเติมความรู้เฉพาะทางที่ตลาดต้องการให้ก่อนจบการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาส รวมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนแหล่งจ้างงาน ใช้ระบบ matching ที่ทำให้นายจ้างเข้าถึงตัวคนที่กำลังจะจบ และสร้างแรงจูงใจผู้เรียนด้วยการปรับโครงสร้างค่าตอบแทนของผู้เรียนสายช่างด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระดับปวช. เดือนละไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท และ ปวส.เดือนละ 1.5 หมื่นบาท” รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น