xs
xsm
sm
md
lg

“แรงงาน” ลั่น เตรียมส่งเจ้าหน้าที่ สืบนายจ้างไม่ขึ้นค่าแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
“เผดิมชัย” แจงมาตรการรับมือขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เตือนนายจ้างอย่านำสวัสดิการ-โอที มารวมเป็นค่าจ้าง สั่งตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียน ฟังปัญหา ด้าน อธิบดี กสร.เผย เดือน เม.ย.ส่งเจ้าหน้าที่คุย หากไม่ขึ้นค่าจ้างออกหนังสือเตือนก่อนเอาจริงเดือน มิ.ย.

วันนี้ (29 มี.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี 2555 ที่จะปรับเพิ่มอีก 40% โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ทำให้ 7 จังหวัดได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็นวันละ 300 บาท ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ปทุมธานี นครปฐม แล ะนนทบุรี ว่า เรื่องนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2554 โดยการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องไม่มีการนำสวัสดิการ ค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ไปรวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ เพื่อให้ได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นตามอัตราใหม่ ซึ่งหากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามก็จะมีโทษตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า หลังจากนี้ จะขอความร่วมมือทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน เช่น กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) จะต้องพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ไปทำความเข้าใจกับนายจ้างและลูกจ้าง รวมถึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องเพิ่มวงเงินปล่อยกู้ให้แก่สถานประกอบการมากขึ้น หากสถานประกอบการเดือดร้อนหนัก หลังปรับขึ้นค่าจ้าง

นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน จัดสร้างห้องเฉพาะกิจขึ้นบริเวณใต้ตึกกระทรวงแรงงาน เพื่อรับฟังปัญหาของลูกจ้างและนายจ้าง และเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทั้งนี้ กระทรวงแรงงาน จะต้องเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูล ปัญหา และผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และนำไปหารือกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาและช่วยเหลือทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง

นายเผดิมชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนกรณีที่นักธุรกิจโรงแรม ออกมาระบุว่า จะมีการทยอยปลดคนงานหลังการปรับค่าจ้างนั้น เรื่องนี้จะต้องเฝ้าระวัง แต่หากสถานประกอบการใดแบกรับภาระไม่ได้ก็อาจจะมีการปลดพนักงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อจัดหางานใหม่รองรับ หรือพัฒนาทักษะการทำงานของคนกลุ่มนี้ให้เหมาะสมกับงานมากขึ้น

นายอาทิตย์ อิสโม อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมทำความเข้าผู้ประกอบการ และลูกจ้าง รองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำร้อยละ 40 แล้ว โดยเน้นย้ำให้ทุกคนทำงานในทิศทางเดียวกันโดยเฉพาะการปรับค่าจ้าง จะต้องไม่นำสวัสดิการมารวมเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ

อธิบดี กสร.กล่าวอีกว่า ช่วงเดือนเมษายนนี้ ทาง กสร.จะส่งพนักงานตรวจแรงงานลงพื้นที่ไปทำความเข้าใจ ทั้งผู้ประกอบการ และลูกจ้างให้ปฏิบัติตามกฎหมายในการจ่ายค่าจ้างตามอัตราที่ปรับเพิ่ม หลังจากนั้น ในเดือนพฤษภาคม จะเป็นการตรวจว่า นายจ้างได้ปฏิบัติตามหรือไม่ หากละเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็จะมีการออกหนังสือเตือนภายใน 30 วัน เมื่อครบกำหนดนายจ้างยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างตามอัตราใหม่ ก็จะมีการดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีโทษปรับไม่เกิน 1 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในเดือนมิถุนายนนี้ จะเป็นช่วงที่เจ้าหน้าที่จะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จึงขอเตือนนายจ้างว่า ให้ปฏิบัติตาม แต่หากมีผลกระทบก็สามารถแจ้งประสานกับเจ้าหน้าที่ เพื่อสะท้อนปัญหามายังส่วนกลางในการวางมาตรการแก้ปัญหา

อธิบดี กสร.กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ตนได้ตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมา 1 ทีม มีเจ้าหน้าที่รุ่นใหม่ 9 คน โดยมีตนเองเป็นผู้ดูแลในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการ และลูกจ้างในสถานประกอบการทั่วประเทศ จากนั้นนำมารายงานให้รับทราบในทุกสัปดาห์ เพื่อนำมาวิเคราะห์และวางมาตรการแก้ปัญหาร่วมกัน

“การดูแลให้สถานประกอบการทั่วประเทศปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอีก 40% ในวันที่ 1 เมษายนนี้ ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ ทาง กสร.จะดำเนินการอย่างยืดหยุ่นเน้นให้เจ้าหน้าที่ กสร.ไปทำความเข้าใจและรับฟังปัญหา ไม่บังคับใช้กฎหมายแบบไล่ทุบ เพื่อให้โอกาสนายจ้างปรับตัว แต่เน้นการบริหารจัดการเพื่อช่วยให้นายจ้างและลูกจ้างอยู่ได้ หลังจากนั้น ในเดือน มิ.ย.หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย จึงจะดำเนินการเอาผิดอย่างจริงจัง” นายอาทิตย์ กล่าว

อธิบดี กสร.กล่าวด้วยว่า วันนี้ ตนได้ไปประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร และได้พูดคุยกับนายกสมาคมโรงแรมแห่งประเทศไทย ซึ่งนายกสมาคม ได้ชี้แจงว่า กรณีที่มีข่าวว่า ธุรกิจโรงแรมจะมีการเลิกจ้างพนักงานโรงแรมเป็นจำนวนมากนั้นไม่เป็นความจริง แต่โรงแรมขนาดเล็กอาจจะได้รับผลกระทบโดยถูกโรงแรมขนาดใหญ่เข้าไปเทกโอเว่อร์ ซึ่งคงไม่มีการเลิกจ้างพนักงานที่มีอยู่เดิม เพราะโดยภาพรวมแรงงานในภาคธุรกิจโรงแรมที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึงวันละ 300 บาท มีสัดส่วนอยู่ไม่เกิน 15% เช่น โรงแรมดุสิตธานีมีลูกจ้างกลุ่มนี้แค่ 5% จึงไม่ได้รับผลกระทบมาก

“ผมเชื่อว่า หลังการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ คงจะไม่มีการเลิกจ้างจำนวนมากยกเว้นกรณีที่แรงงานทำงานที่ทำงานได้ไม่ดี เปอร์เซ็นต์การถูกเลิกจ้างของแรงงานกลุ่มนี้อาจจะเพิ่มขึ้นกว่าปกติ เนื่องจากสถานประกอบการถือโอกาสปรับปรุงองค์กร ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีอาจจะมีบ้างที่ปิดตัวไปเพื่อปรับปรุงกิจการ” นายอาทิตย์ กล่าว

น.ส.ส่งศรี บุญบา รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 21-28 มีนาคม 2555 มีผู้ใช้บริการศูนย์โปร่งใสกระทรวงแรงงานแล้ว 20 ราย ส่วนใหญ่จะสอบถามเรื่องปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในวันที่ 1 เมษายน 2555 ว่า จะมีการนำสวัสดิการมารวมกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทหรือไม่ รองลงมาคือกรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ทั้งนี้ หากแรงงานมีปัญหาร้องเรียนหรือข้อสงสัยต่างๆ โทร.0-2232- 1337 ในวันเวลาราชการ
กำลังโหลดความคิดเห็น