ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
มายาคติเป็นภาษาแบบหนึ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมา เพื่อใช้ในการทำหน้าที่กดทับ ปกปิด ซ่อนเร้นความเป็นจริงบางอย่างที่อาจทำให้อำนาจสั่นคลอน ขณะเดียวกันก็บิดเบือนความจริงโดยใช้กระบวนการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลเพื่อสถาปนาความชอบธรรม อีกทั้งยังมีการควบคุมแบบแอบแฝงผ่านกลไกโฆษณาชวนเชื่อเพื่อห่อหุ้มสิ่งผิดปกติให้ดูเสมือนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญและเป็นธรรมชาติ
รูปสัญญะแห่งมายาคติถูกสร้างขึ้นมาอย่างหลากหลาย เชื่อมโยงเป็นองค์ประกอบเชิงเครือข่ายอย่างซับซ้อน เพื่อสื่อความหมายสองระดับ ระดับแรกสะท้อนความหมายตรงตัวตามรูปสัญญะนั้น ส่วนระดับที่สองเป็นความหมายที่แอบแฝงซึ่งชักนำให้ยอมรับอำนาจที่ดำรงอยู่ในสังคมอย่างไม่รู้ตัว เช่น การเลือกตั้งเป็นรูปสัญญะอย่างหนึ่ง ความหมายระดับแรกคือการแสดงถึงความเป็นประชาธิปไตย แต่ความหมายในระดับสองที่แอบแฝงอยู่คือ การโน้มน้าวให้สังคมยอมรับอำนาจของทุนนิยมสามานย์ ซึ่งเป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้งเอาไว้ได้ทั้งหมด
ในการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดงในปี 2553 รูปสัญญะจำนวนมากได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมาจากผู้ออกแบบการชุมนุม แต่ละอย่างล้วนแล้วมีความหมายในระดับสองแฝงอยู่ทั้งสิ้น เช่น การเทเลือดหน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นรูปสัญญะเพื่อใช้สื่อความหมายในระดับแรกว่า ผู้ชุมนุมยอมสละเลือดเนื้อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการยึดอำนาจรัฐและสร้างประชาธิปไตย ส่วนในความหมายที่สองซึ่งแอบแฝงอยู่คือ ปลูกเมล็ดพันธุ์ของความรุนแรงลงในจิตใจของผู้ชุมนุม และเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบเพื่อทำลายปรปักษ์ทางการเมืองและช่วงชิงอำนาจรัฐ
ความรุนแรงจึงถูกสร้างขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่เป็นรูปสัญญะใหม่ให้กับ มายาคติของการปรองดองหากไม่มีความรุนแรงดำรงอยู่ ก็จะปราศจากการปรองดอง ความรุนแรงจึงเป็นเหตุให้เกิดความต้องการความปรองดอง ดังนั้นหากผู้ใดประสงค์ให้ความปรองดองเกิดขึ้น วิธีการหนึ่งที่ผู้นั้นมีแนวโน้มจะใช้ก็คือการสร้างความรุนแรงขึ้นมา
ทำไมต้องใช้รูปสัญญะของการปรองดอง ความหมายของการปรองดองคือการปรับสภาพความสัมพันธ์ระหว่างคู่ขัดแย้ง จากสภาพแห่งความเป็นปรปักษ์ เย็นชา ห่างเหิน มุ่งทำร้าย ทำลาย มาเป็นมิตร เปี่ยมไมตรี ใกล้ชิด และเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ด้วยการมีความหมายในเชิงบวก การปรองดองจึงเป็นเหตผลให้ผู้มีอำนาจในสังคมหยิบยกมาเป็นสัญญะหลัก เพื่อปกปิด กลบเกลื่อนความจริง และซ่อนเร้นความรุนแรงที่พวกเขาสร้างขึ้นมา
การปรองดองเป็นมายาคติที่ถูกใช้ในการทำหน้าที่ห่อหุ้มผู้กระทำความผิดและผู้ประกอบอาชญากรรม โดยมีกระบวนการสร้างชุดความคิดขึ้นมาอย่างเป็นระบบ และสร้างความเป็นเหตุเป็นผลให้กับชุดความคิดเหล่านั้น โดยการทำให้การปรองดองกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งที่น่าพึงปรารถนาสำหรับสังคม และกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนปฏิเสธไม่ได้
พวกเขาเหล่าผู้กำกับในการสร้างมายาคติ ตะโกนก้องว่า “ขอยึดกระบวนการปรองดอง และฟื้นฟูความสงบสู่ประเทศไทย เราต้องลืมอดีตและขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า” นัยของสิ่งนี้คือ พวกเขาใช้ “นามแห่งความปรองดอง” เป็นเครื่องขอมือให้ผู้คนยอมรับอาชญากรรมที่พวกเขาก่อเอาไว้ ให้อภัยและโอบกอดไว้ในอ้อมอก การยอมรับว่าอาชญากรไม่ควรได้รับโทษถูกบิดเบือนให้กลายเป็นสิ่งที่ต้องพึงกระทำและเป็นเรื่องปกติที่ควรทำ
พวกเขายังป่าวประกาศว่า “ ใครไม่เห็นด้วยกับการปรองดอง ผู้นั้นนิยมความรุนแรง” ทั้งที่ความรุนแรงเหล่านั้นคือสิ่งที่พวกเขากระทำเอาไว้ “ผู้ใดไม่ให้อภัย ผู้นั้นนิยมความรุนแรง” ใครที่ปฏิเสธหรือไม่เห็นด้วยกับการปรองดองจะถูกทำให้ดูเสมือนเป็นผู้นิยมความรุนแรง
เหตุผลของการใช้ “ความปรองดอง” อีกประการคือเพื่อห่อหุ้มคำว่า “นิรโทษกรรม” ด้วยเหตุที่ความหมายของการนิรโทษกรรม มีนัยถึงการล้างความผิดให้ผู้กระทำผิดอย่างชัดเจน จึงเป็นคำที่ขาดความชอบธรรมในการใช้อย่างสิ้นเชิง และคำว่านิรโทษกรรมก็ไม่มีความหมายของการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้าเหมือนกับคำว่าปรองดอง ดังนั้นจึงไม่เหมาะที่จะใช้ในการสร้างมายาคติอีกต่อไป
เมื่อเลิกใช้คำว่า นิรโทษกรรม กระบวนการสร้างมายาคติของการปรองดองก็เดินไปอย่างสอดประสานกัน สภาผู้แทนราษฎรก็ตั้งคณะกรรมกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อศึกษาและหาแนวทางปรองดอง โดยให้ผู้ที่เคยกระทำความรุนแรงโดยใช้กำลังอาวุธรัฐประหารเป็นประธาน จากนั้นก็ใช้สถาบันพระปกเกล้าซึ่งอ้างว่าเป็นสถาบันทางวิชาการศึกษาวิจัย เพื่อหาสาเหตุของความขัดแย้งและเสนอแนวทางปรองดองเพื่อนิรโทษกรรม
“อำนาจ” รู้ว่าตัวมันมีจุดมุ่งหมายอะไร รู้ว่าอะไรคือเป้าประสงค์ของ “เหตุผล” และรู้ว่าจะใช้ “เหตุผล” ในการสร้างความชอบธรรมแก่ “อำนาจ” ได้อย่างไร แต่ “เหตุผล” กลับไม่รู้ว่าอำนาจมีเป้าหมายอย่างไร นี่แหละชะตากรรมของความเป็นวิชาการและเหตุผล และเป็นชะตากรรมของนักวิชาการสถาบันพระปกเกล้าที่ทำวิจัยชุดนี้
การวิจัยและวิชาการซึ่งเป็นรูปสัญญะที่มีความหมายของความจริงและเหตุผล จึงกลายเป็นมายาคติที่ปกปิด บิดเบือน เพื่อให้ยอมรับกระบวนการของอำนาจที่ดำรงอยู่ กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับการปรองดองที่ห่อหุ้มการนิรโทษกรรมไว้ภายใน การวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าครั้งนี้จึงทำหน้าที่เสมือนกลไกฟอกความผิดให้แก่บรรดาอาชญากรผู้ทรงอำนาจ
นอกจากนั้น กระบวนการสร้างความเป็นเหตุเป็นผลของการปรองดองยังเกิดจากนักวิชาการบางคนที่สถาปนารูปสัญญะของความเป็น “นักสันติวิธี” แก่ตนเอง
นักสันติวิธีผู้นี้ตกอยู่ในกับดักความคิดและร่วมขบวนการสร้างมายาคติแห่งการปรองดองขึ้นมา โดยพยายามบอกแก่สังคมว่า การจัดตั้ง คตส. เพื่อตรวจสอบความผิดคดีทุจริตของนักการเมือง เป็นสิ่งไม่ชอบธรรมเพราะเป็นองค์การพิเศษที่ถูกตั้งขึ้นมานอกเหนือระบบยุติธรรมตามปกติ ไม่เป็นที่ยอมรับ ดังนั้นจึงควรปฏิเสธผลการดำเนินงานของ คตส.ทั้งหมด และหันกลับมาใช้กระบวนการยุติธรรมปกติ
“กระบวนการยุติธรรมปกติ” เป็นรูปสัญญะเพื่อใช้บิดเบือนความเป็นจริงของอำนาจนักการเมืองทุนนิยมสามานย์ที่เข้าไปควบคุมและครอบงำกระบวนการยุติธรรมในขั้นต้นอันได้แก่ ตำรวจ และขั้นกลางอันได้แก่ อัยการ ไว้ได้เกือบทั้งหมด คำนี้ทำให้ดูเสมือนว่า กระบวนการยุติธรรมของไทยยังเป็นปกติ เป็นเรื่องธรรมดาที่จะถูกครอบงำ และบีบบังคับให้เราต้องยอมรับแม้ว่ามันจะถูกครอบงำและบิดเบือนมากเพียงใด เพราะว่ามันเป็น “กระบวนการยุติธรรมปกติ” ในสายตาของนักสันติวิธี กระบวนการยุติธรรมใด แม้จะมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล และเป็นธรรมมากกว่า “กระบวนการยุติธรรมปกติ” ก็ไม่ควรยอมรับเพราะ “มันเป็นกระบวนการยุติธรรมพิเศษ”
หากคิดแบบนักสันติวิธีคนนี้ คณะกรรมการต่างๆที่นอกเหนือจากระบบการทำงานตามปกติก็ไม่จำเป็นต้องมีการจัดตั้งขึ้นมาเลย รวมทั้งศูนย์สันติวิธีด้วย เพราะตำรวจ มหาดไทย และศาลทำหน้าที่จัดการความขัดแย้งระหว่างผู้คนตามมาตรฐานกฎหมายอยู่แล้ว จะมีไปทำไมกันหน่วยงานอื่นๆที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่เฉพาะกิจ
คำว่า “กระบวนการยุติธรรมปกติ” จึงถูกผนึกรวมไว้ในส่วนหนึ่งของมายาคติแห่งการปรองดอง เช่นเดียวกับคำหลักอื่นๆ อันได้แก่ “ให้อภัย” “การแสวงหาความจริง” “นิรโทษกรรม” “งานวิจัย” “สถาบันพระปกเกล้า” “นิยมความรุนแรง” “ความขัดแย้ง” แต่ละคำเชื่อมโยงกันและก่อรูปขึ้นเป็นมายาคติแห่งการปรองดอง ที่บิดเบือน กดทับ ความเป็นจริงและนัยที่แอบแฝงอยู่ นั่นคือ การรับใช้อาชญากรทุนนิยมสามานย์และบรรดาเหล่าสมุนของพวกมัน
ใครคนใดที่มีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างมายาคตินี้ขึ้นมา ผู้นั้นย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่มีส่วนช่วยเหลือและฟอกความผิดให้แก่บรรดาอาชญากร ผู้ที่ยังไร้ความสำนึกแห่งความผิดของตน อันเป็นการเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งทางสังคมที่รุนแรงครั้งใหม่ซึ่งกำลังคืบคลานเข้ามาในอนาคตอันใกล้