xs
xsm
sm
md
lg

รากเหง้าของวิกฤตประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: ประพันธ์ คูณมี


ได้อ่านบทวิเคราะห์ทางการเมืองของคุณธีรยุทธ บุญมี ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งได้แถลงการณ์วิเคราะห์การเมืองไทยท่ามกลางความขัดแย้ง ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2555 คุณธีรยุทธ ได้แบ่งหัวข้อการวิเคราะห์ของตนออกเป็น 5 ข้อ ที่สำคัญ คือ

1. ยุคของการเมืองปัจจุบัน ยุคของทักษิณ-การเมืองรากหญ้า ประชานิยม 2. รากเหง้าของวิกฤต 3. มุมมองใหม่ของปรากฏการณ์การเมืองรากหญ้าขบถ “คนเล็กคนน้อย” 4. บทสรุป 5. สิ่งที่ต้องทำ

เมื่ออ่านรายละเอียดในเนื้อหาสาระทั้งหมดแล้ว ผู้เขียนในฐานะที่ไม่ใช่นักวิชาการ ไม่มีเสื้อกั๊กสวมใส่ แต่มีหัวใจแห่งความรักชาติ รักความจริง และมีประสบการณ์ชีวิตจริงจากการต่อสู้เพื่อความถูกต้องเป็นธรรม และใฝ่ฝันที่จะเห็นสังคมที่ดีงามเกิดขึ้นในประเทศไทย ปรารถนาที่จะได้เห็นระบอบประชาธิปไตยของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ด้วยประสบการณ์แห่งการต่อสู้ตลอดระยะเวลา 39 ปีของผู้เขียนที่ไม่เคยหนีห่างจากประชาชน ขอวิจารณ์และโต้แย้งต่อผลการวิเคราะห์ของคุณธีรยุทธ ด้วยความเคารพ

ที่ผู้เขียนไม่อาจเห็นพ้องด้วยในประเด็นที่เป็นสาระสำคัญ คือ การมองภาพรวมของปัญหาทางการเมือง และรากเหง้าแห่งวิกฤตตามบทวิเคราะห์ในข้อที่ 1 และ 2 ของคุณธีรยุทธ ว่า เป็นมุมมองและบทวิเคราะห์ที่คลาดเคลื่อนกับความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ผู้เขียนต้องการให้สังคม และท่านผู้อ่านทั้งหลายได้โปรดไตร่ตรองพิจารณา ดังนี้ คือ

1. ยุคของการเมืองปัจจุบัน คุณธีรยุทธมองว่า เป็นการเมืองยุคของทักษิณและตีค่าทักษิณเทียบเท่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดการเมืองรากหญ้าประชานิยม เกิดวิกฤตการเมืองไทยรุนแรงเพราะการไม่ยอมรับซึ่งกันและกัน และมองว่าการเมืองรากหญ้ามีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์และให้มุมมองที่ผิดเพี้ยน บิดเบือนจากความเป็นจริงอย่างไม่น่าเชื่อที่นักวิชาการอย่างคุณธีรยุทธ ที่เคยศึกษาและเข้าใจการเมืองระบอบทักษิณเป็นอย่างดีในอดีต และเคยเขียนบทความวิพากษ์ “ระบอบทักษิณ” ไว้อย่างตรงไปตรงมาในหนังสือรู้ทันทักษิณ มาก่อน

มาวันนี้กลับให้มุมมองในอีกทัศนะหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับความเข้าใจเดิมของตน ความเป็นจริงอันเป็นที่ประจักษ์ในขณะนี้ การเมืองของประเทศไทย แม้จะดูเหตุการณ์และภาพที่ปรากฏภายนอก จะเห็นว่าทักษิณ ชินวัตร มีบทบาทและอิทธิพลทางการเมือง ต่อประเทศไทยในช่วงระยะเวลาระหว่างปี 2544 ถึงปัจจุบันก็จริง แต่ทักษิณ ก็คือนายทุนผูกขาดที่มีอำนาจและอิทธิพลทางการเงินขนาดใหญ่ ที่กระโดดเข้าสู่สนามทางการเมือง เช่นเดียวกับพรรคและนักการเมืองกลุ่มอื่นๆ ที่อาศัยกลไกการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพื่อให้ได้อำนาจรัฐมารวมศูนย์อยู่ในกำมือของตนเอง แม้จะอยู่ในระบอบเลือกตั้งเหมือนอย่างอดีต แต่ทักษิณและพรรคการเมืองของเขา ไม่ได้มีแนวคิดทางการเมือง เหมือนเช่นพรรคและนักการเมืองในอดีตที่ผ่านมา คือ

1. ทักษิณต้องการรวมศูนย์อำนาจทั้งหมดในการปกครองประเทศไว้ในกำมือของตนแต่เพียงผู้เดียว เขาต้องเป็นผู้สั่งการและบังคับบัญชาได้ ในทุกกลไกอำนาจรัฐ (รัฐบาล, รัฐสภา, ศาล, องค์กรอิสระ, กลไกราชการ, กองทัพ, ตำรวจ ฯลฯ)

2. ทักษิณต้องการควบคุมสังคมทั้งสังคมให้คล้อยตาม และมุ่งไปในทิศทางที่เขาต้องการ โดยอ้างผลประโยชน์ชาติ ประชาชนบังหน้า แต่แฝงไว้ซึ่งประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง วงศาคณาญาติเป็นสำคัญ

3. เขาต้องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจของประเทศ รื้อ ร้าง ระบบทางสังคม ราชการ ธรรมเนียมและราชประเพณี หรือหลักนิติรัฐเพื่อให้ตนเป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสังคมไทย กระทำการที่ส่อไปในทางละเมิดและท้าทายต่อพระราชอำนาจ หรือปล่อยให้กระบวนการต่อต้านสถาบันสูงสุดเคลื่อนไหวได้โดยเสรีและเหิมเกริมเป็นอย่างยิ่ง

4. ทักษิณอยู่เหนือรัฐ เหนือการตรวจสอบใดๆ อยู่เหนือกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

5. พรรคและรัฐบาลของเขา ล้วนเต็มไปด้วยการใช้อำนาจ ส่อไปในทางทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ สำหรับตนเองและพวกพ้อง การเมืองยุคทักษิณจึงเป็นเผด็จการรวบอำนาจ ต่างโดยสิ้นเชิงกับการเมืองในอดีต

ดังนั้น บทวิเคราะห์ของคุณธีรยุทธ ที่มองการเมืองยุคปัจจุบันเป็นยุคของทักษิณและการเมืองรากหญ้าประชานิยมนั้น จึงหาสาระและคำอธิบายให้มีเหตุผล มีน้ำหนักน่ารับฟังไม่ได้ ทั้งการมองว่าเป็นการเมืองของรากหญ้าที่มีความสำคัญต่อระบอบประชาธิปไตย ก็ยิ่งห่างเหินต่อความเป็นจริง เพราะการที่มีมวลชนซึ่งบางส่วนอาจมาจากคนยากจน ชนชั้นล่างในสังคมมาเข้าร่วมเป็นมวลชนคนเสื้อแดง และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเรียกร้องและสนับสนุนให้ทักษิณกลับมา และคัดค้านการดำเนินคดีใดๆ กับทักษิณ อันเป็นการขัดแย้งกับผู้คนในสังคม กระทั่งนำไปสู่การจลาจล เผาบ้านเผาเมือง

คุณธีรยุทธกลับมองว่าเป็นการเมืองของรากหญ้าหรือชนชั้นล่าง ทั้งๆ ที่ข้อเรียกร้อง และการลุกขึ้นสู้ของกลุ่มคนเสื้อแดงไม่มีข้อเรียกร้องหรือประเด็นต่อสู้ที่เป็นรูปธรรม อันเป็นการแสดงออกถึงการต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนยากคนจนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นการออกมาเคลื่อนไหวเพื่อประโยชน์ของชนชั้นสูงที่สูญเสียอำนาจ ซึ่งก็คือเรียกร้องเพื่อให้ทักษิณกลับคืนสู่อำนาจนั่นเอง มวลชนทั้งหลายเหล่านี้ จึงเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของทักษิณ มิใช่ตัวแทนของคนยากจนทั้งประเทศ และมิใช่การต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของรากหญ้าแต่อย่างใด

กล่าวโดยสรุปสำหรับประเด็นนี้ การเมืองปัจจุบันจึงเป็นระบอบการเมืองที่มีอำนาจและอิทธิพลของกลุ่มทุนผูกขาดที่มีทักษิณเป็นหัวหน้า และตัวแทนของกลุ่มทุนสามานย์เข้าครอบงำ และยึดกุมอำนาจรัฐที่กำลังเผชิญหน้าและเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนที่รักชาติ รักความเป็นธรรม อันเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และที่กำลังเผชิญหน้าท้าทาย และขัดแย้งกับพลังอำนาจฝ่ายอนุรักษนิยม ที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและการลุแก่อำนาจของทักษิณกับพวก อันจะนำพาสังคม และประเทศชาติบ้านเมืองไปสู่ความล่มจม หายนะ ซึ่งแม้แต่ตัวคุณธีรยุทธเอง ก็ทราบดี และไม่เชื่อมั่นว่าการเมืองยุคทักษิณ-รากหญ้าประชานิยมจะพาชาติไปรอดหรือไม่

2. สำหรับประเด็นรากเหง้าแห่งวิกฤตของประเทศ คุณธีรยุทธวิเคราะห์มาหลายประเด็น แต่ผู้เขียนเห็นว่ารากเหง้าแห่งวิกฤตทั้งหมด เกิดขึ้นและเริ่มต้นนับตั้งแต่กลุ่มทุนผูกขาดขนาดใหญ่ที่มีทักษิณเป็นผู้นำ จัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเข้าสู่การเลือกตั้ง โดยใช้อำนาจและอิทธิพลของทุนขนาดใหญ่ที่ตนมีอยู่รวมกับกลุ่มทุนขนาดใหญ่อื่นๆ ในประเทศ และนอกประเทศเข้ายึดกุมและผูกขาดอำนาจรัฐ โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ในกำมือของตนเพียงผู้เดียว

ปัจจุบันยิ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนว่าอำนาจรัฐรวมศูนย์อยู่ที่ทักษิณแต่เพียงผู้เดียว และใช้อำนาจนั้นโดยมิได้ฟังเสียงของประชาชนเจ้าของประเทศแต่อย่างใด ไม่เพียงรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ตนเท่านั้น เขายังคุกคามและท้าทายต่ออำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ครอบงำศาลและองค์กรอิสระทั้งหลาย เข้าควบคุมกองทัพและกลไกราชการทั้งหมด จึงก่อให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งอย่างรุนแรงในทางการเมือง

นี่คือปมเงื่อนสำคัญอันเป็นรากเหง้าที่นำมาสู่วิกฤตของประเทศขณะนี้ หาใช่เป็นการขบถของคนเล็กคนน้อย หรือเป็นเพียงความเห็นต่าง หรือเหตุอื่นใด ต้นตอและรากเหง้าของวิกฤตยังอยู่ที่ทักษิณและพรรคการเมืองตัวแทนทุนผูกขาดนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น