xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“แม้ว”หักดิบกฎหมาย เดินหน้าปรองดองแบบ“กูต้องได้”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คนเสื้อแดงลงชื่อรับเงินเยียวยากรณีได้รับผลกระทบจากการร่วมชุมนุมทางการเมืองในปี 2553 หลังจากคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อนุมัติเงินให้จำนวน 2,000 ล้านบาท ทั้งที่ยังไม่การพิสูจน์ใครถูกใครผิด
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ถึงเวลานี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เลือกที่จะใช้วิธีการหักดิบกฎหมาย ละเมิดหลักนิติรัฐ เพื่อลบล้างความผิดให้ตัวเองโดยยกเอาวาทกรรม “ปรองดอง”ขึ้นมาเป็นข้ออ้างบังหน้า เพื่อให้ตัวเองได้กลับประเทศโดยเร็วที่สุด

ความเคลื่อนไหวที่เห็นชัดเจน คณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ปรองดอง) ที่มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เป็นประธาน แต่ก็มีพรรคเพื่อไทยคุมเสียงข้างมาก ได้พยายามที่จะลงมติให้ยึดเอาแนวทางการปรองดอง ตามที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอ

โดยแนวทางที่สถาบันพระปกเกล้าเสนอนั้น เข้าทางเท้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แบบเต็มๆ นั่นคือ การให้อภัยแก่การกระทำที่เกี่ยวข้องผ่านกระบวนการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง โดยการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมให้ทุกฝ่าย และให้ผลการพิจารณาคดีที่เกิดจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)สิ้นผลลง และโอนคดีทั้งหมดให้ ป.ป.ช.ดำเนินการใหม่ และให้เพิกถอนผลทางกฎหมายที่ดำเนินการโดย คตส.ทั้งหมด

แนวทางดังกล่าวสถาบันพระปกเกล้าได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง 47 คน ซึ่งการทำวิจัยนี้เหมือนมีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า เพราะผู้ที่ถูกสัมภาษณ์หลายคนมีส่วนได้เสียกับความรุนแรงทางการเมืองช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญคือความเห็นของฝ่ายที่คัดค้านแนวทางที่ตั้งธงไว้ไม่ถูกนำไปรวมด้วย

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ตนเป็นหนึ่งใน 47 คนที่สถาบันพระปกเกล้าสัมภาษณ์ เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แกนนำคนเสื้อแดงและฝ่ายต่างๆ ซึ่งความจริงแล้วเป็นแค่การรวบรวมข้อเสนอของคนที่สถาบันพระปกเกล้าไปสัมภาษณ์มา ซึ่งแน่นอนว่าคนที่ถูก คตส.เล่นงาน(พ.ต.ท.ทักษิณและคนใกล้ชิด)ก็ต้องอยากล้มคดีของ คตส.แต่อยู่ดีๆ กรรมาธิการจะขอให้เสียงข้างมากพิจารณาข้อเสนอเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และกรรมาธิการพรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอมรับแนวทางนี้

ส่วนที่ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า อ้างว่า เป็นข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พล.อ.เอกชัย ไม่ใช่คนที่ทำวิจัยเรื่องนี้ และวันที่ พล.อ.เอกชัย แถลง งานก็ยังไม่เสร็จ เพราะยังรอคำตอบจากตนในฐานะผู้ถูกสัมภาษณ์ในรอบที่ 2 อยู่

ขณะที่ นายวัฒนา เมืองสุข คนใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณและถูก คตส.ดำเนินคดี ซึ่งได้มาเป็นรองประธาน กมธ.ปรองดอง กล่าวถึงผลการศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าว่าเป็นบทสรุปแล้ว จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เสนอมายังกรรมาธิการ ซึ่ง พล.อ.สนธิได้มีคำสั่งให้เปิดเวทีสาธารณะในวันที่ 21 มี.ค.นี้ เพื่อให้คณะผู้ทำวิจัยชี้แจงเหตุผล วิธีวิจัย ผลการศึกษา โดยจะเชิญทุกฝ่ายมาร่วม รวมถึงหัวหน้าพรรคทุกพรรคและสื่อมวลชน และจะมีการเปิดให้ซักถามด้วย

นายวัฒนาอ้างว่า แม้หน้าปกจะเขียนเป็นตัวร่าง แต่ก็ถือว่าเนื้อหาครบถ้วนแล้ว และรายงานฉบับสมบูรณ์จะส่งกรรมาธิการ ซึ่งเนื้อหาจะไม่เปลี่ยนแปลงจากที่กรรมาธิการได้พิจารณา

ส่วน พล.อ.สนธิ ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ว่า หลังจากนี้จะมีการจัดเสวนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน แต่จะไม่มีการผลักดันอะไร ส่วนความคิดเห็นที่จะให้นิรโทษกรรมการชุมนุมทางการเมือง และยกเลิกการดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูก คตส.ดำเนินคดีนั้นเป็นหน้าที่ของกระบวนการรัฐสภา

จึงคาดเดาได้ไม่ยากว่า เมื่อนำเข้าสู่สภาแล้ว ผลการลงมติจะออกมาอย่างไร เพราะ ส.ส.ส่วนใหญ่คือลูกมือของ พ.ต.ท.ทักษิณทั้งสิ้น

การหักดิบหลักกฎหมาย ยังมีกรณี ครม.อนุมัติเงิน 2 พันล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเยียวยาให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วงปี 2548-2553 ซึ่งแม้จะอ้างว่าทุกกลุ่มทุกสีได้รับการเยียวยาเหมือนกัน แต่เป้าหมายที่แท้จริงมองได้ไม่ยากว่านี่คือวิธีการที่จะใช้เงินภาษีของคนทั้งประเทศไปซื้อใจคนเสื้อแดงเพื่อให้ยอมตายแทนทักษิณ ชินวัตร

เห็นได้จากหลังจากมีมติ ครม.ออกมา ฝ่ายคนเสื้อแดงแห่มาลงชื่อขอรับเงินกันอย่างล้นหลาม ขณะที่ผู้สูญเสียที่ไม่ใช่ฝ่ายเสื้อแดงไม่ว่าจะเป็น นางวิชชุดา ระดับปัญญาวุฒิ มารดาของ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ โบว์ ที่เสียชีวิตจากการกระทำของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ประกาศว่าจะไม่รับเงินชดเชย 7.75 ล้านบาท เพราะไม่อยากจะเบียดเบียนเงินภาษีของประชาชน

เช่นเดียวกับนางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติการขอคืนพื้นที่จากการชุมนุมคนเสื้อแดงที่บริเวณแยกคอกวัวเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ที่บอกว่าจะไม่ไปลงชื่อขอรับเงินชดเชย จนกว่าจะมีความชัดเจนว่าใครผิดใครถูก

ขณะเดียวกัน ในด้านความคืบหน้าของคดีกรณีผู้เสียชีวิตระหว่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 จำนวน 91 คนนั้น ทั้งที่ผู้เสียชีวิตมีหลายฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ และคนเสื้อแดง แต่การดำเนินคดีในส่วนที่เชื่อว่าคนเสื้อแดงถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่กลับมีความคืบหน้ามากที่สุด

ทั้งนี้ อัยการได้ยื่นศาลขอไต่สวนชั้นชันสูตรพลิกศพคดีการตายของคนเสื้อแดง 16 รายที่คาดว่าเกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่ระหว่างการชุมนุมปี 2553 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 ไปแล้ว 4 สํานวน 4 ศพ เมื่อวันที่ 17, 21, 22 และ 24 กุมภาพันธ์ ที่เหลือมีเส้นตายภายในวันศุกร์ที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา

โดยคดีแรกคือการเสียชีวิตของนายชาญณรงค์ พลศรีลา ที่เสียชีวิตเพราะถูกยิงในบังเกอร์ของคนเสื้อแดงบริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเดิมได้นัดไต่สวนวันที่ 12 มีนาคม 2555 แต่เนื่องจากมีความผิดพลาด เพราะติดประกาศนัดไค่สวนไม่ครบ 30 วัน จึงเลื่อนไปเป็นวันที่ 18 มิถุนายน 2555

ขณะที่คดีการเสียชีวิตของฝ่ายอื่น โดยเฉพาะกรณี พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารที่เสียชีวิตบริเวณสี่แยกคอกวัวเมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 นั้น กลับไม่มีความหน้าของคดีแต่อย่างใด

จนเมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของ พล.อ.ร่มเกล้า พร้อมด้วยครอบครัวนายทหารอีก 5 นาย ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์เดียวกัน ได้ไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เพื่อให้ติดตามความคืบหน้าคดีและค้นหาความจริง รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

นางนิชากล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้รับการแจ้งถึงความคืบหน้าของคดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตนเองเคยสอบถามความคืบหน้าของคดีจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ก็ได้รับเอกสารในสำนวนระบุว่าไม่สามารถหาตัวผู้กระทำความผิดได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เคยแถลงว่า พล.อ.ร่มเกล้าอยู่ในกลุ่มที่ 1 เสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มผู้ชุมนุม และมีการจับตัวผู้ต้องสงสัยและปล่อยตัวไป เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ปรากฏว่าความคืบหน้ากลายเป็นว่าไม่สามารถระบุตัวผู้ทำความผิดได้

ทั้งนี้ ดีเอสไอเคยแถลงออกมาเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2554 โดยได้แบ่งคดีการเสียชีวิต 91 ศพ ออกเป็น 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเชื่อว่า เกิดจากการกระทำของ นปช.โดยผู้กระทำความผิดฐานก่อการร้ายและกลุ่มที่เกี่ยวพันกัน 8 คดี รวมผู้เสียชีวิต 12 ราย เช่น การเสียชีวิตของ พ.อ.ร่มเกล้า ทหาร ตำรวจ และผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์เพลิงไหม้ห้างเซ็ลทรัลเวิลด์ กลุ่มที่ 2 เชื่อว่า เจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องจำนวน 13 ศพ ซึ่งมีการเพิ่มเป็น 16 ศพในเวลาต่อมา และยังมีกลุ่มที่ 3 เป็นคดีที่มีผู้เสียชีวิตซึ่งจากการสืบสวนสอบสวนยังไม่ปรากฏตัวผู้กระทำความผิด จำนวน 18 คดี ผู้เสียชีวิต 64 ราย

อย่างไรก็ตาม คำแถลงของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา กลับบอกว่า กรณีการเสียชีวิตที่ไม่มีความชัดเจนว่า เป็นการกระทำของกลุ่มใด หรืออาจเป็นมือที่สาม เป็นกลุ่มที่หาพยานหลักฐานได้ยาก เนื่องจากเป็นช่วงที่ประกาศภาวะฉุกเฉินหลายพื้นที่ และยอมรับว่าการสอบสวนในสำนวนผู้เสียชีวิตที่เหลือนั้น ยังไม่มีกรณีใดที่ดีเอสไอสามารถหาพยานหลักฐานชี้ชัดถึงตัวผู้กระทำผิด เพื่อมาดำเนินคดีทางกฎหมายได้

นั่นหมายความว่า นอกจากคดี 16 ศพที่พยายามบอกว่าตายเพราะเจ้าหน้าที่ เพื่อโหมกระแส“ทหารฆ่าประชาชน”แล้ว คดีอื่นๆ จะไม่มีความหน้าใดๆ

ยังไม่ต้องพูดถึงกรณีการเสียชีวิตของพันธมิตรฯ ร่วม 10 คน ระหว่างการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนอมินีทักษิณเมื่อปี 2551 ซึ่งจนบัดนี้ ก็ยังไม่มีการสืบสวนหาตัวคนผิดแม้แต่คดีเดียว

ขณะเดียวกันอัยการก็สั่งเพิ่มข้อหาให้พันธมิตรฯ กรณีการชุมนุมในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ เพื่อกดดันทางอ้อมให้พันธมิตรฯ เข้าร่วมในกระบวนการปรองดองที่มีเป้าหมายให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ประโยชน์

การใช้อำนาจรัฐที่มีอยู่ในมือเลือกปฏิบัติและบีบคั้นฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้บรรลุตามความเห็นแก่ได้ส่วนตัวของทักษิณ ชินวัตรนี่เอง จะนำไปสู่การแตกหักและเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น