xs
xsm
sm
md
lg

“ฮิวแมนไรท์วอทช์” กังวล “ชายชุดดำ” ล่องหน-หวั่น “12 แกนนำแดง” ใช้อิทธิพล ส.ส.หนีผิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รายงานประจำปี 2012 ขององค์กรฮิวแมนไรท์วอซ (Human Right Watch)
ASTVผู้จัดการ - รายงานประจำปี“ฮิวแมนไรท์วอทช์” พบเหตุเผาเมือง 53 ชายชุดดำติดอาวุธได้ประกันตัว แถม “ยิ่งลักษณ์” ช่วยคอนเฟิร์มไม่มีอยู่จริง ส่วนแกนนำแดง 12 คน เป็น ส.ส.หวั่นใช้อิทธิพลหนีความผิดกรณียั่วยุให้เผาเมือง ขณะตำรวจและนักการเมืองสั่งฆ่าประชาชนพันธมิตรฯ 7 ตุลาฯ 51 ยังลอยนวล อีกด้านตำหนิรัฐบาลอภิสิทธิ์ สั่งปิดเว็บหมิ่นเบื้องสูงกว่า 1 พันเว็บ พร้อมสื่อแขนงอื่น ทั้งใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์-มาตรา 112 ปิดกั้นผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

วานนี้ (22 ม.ค.) ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Right Watch) ซึ่งเป็นองค์กรเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนนานาชาติได้ออกรายงานประจำปี 2012 (พ.ศ.2555) ซึ่งเป็นการสรุปสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในรอบปี 2554 ที่ผ่านมา โดยในเว็บไซต์ hrw.org ได้ตีพิมพ์รายงานเป็นภาษาไทยโดยสรุปว่า การที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีชนะการเลือกตั้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นเสถียรภาพทางการเมืองครั้งใหม่ แต่รัฐบาลยังไม่ได้ทำตามสัญญาที่จะให้ความสำคัญต่อปัญหาสิทธิมนุษยชน รวมทั้งเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดทำให้ประชาชนนับแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย และสร้างความเสียหาบรุนแรงต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงสถานการณ์ในรอบปี โดยแบ่งออกเป็นหัวข้อต่างๆ อาทิ การขาดความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง, การลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น, ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้, นโยบายต่อต้านยาเสพติด, นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน, ผู้อพยพ ผู้แสวงหาการลี้ภัย และแรงงานย้ายถิ่น และตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศ

โดยเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองเมื่อเดือน พ.ค.53 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากกองกำลังฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังอย่างไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยแกนนำ นปช.บางคน ในเดือน ม.ค.54 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แถลงผลการสอบสวนเบื้องต้นผู้เสียชีวิต 13 ราย เป็นการกระทำของฝ่ายทหาร อีก 12 รายเป็นการกระทำของกลุ่มติดอาวุธฝ่าย นปช.แต่เมื่อตำรวจไม่ให้ความร่วมมือทำให้ไม่สามารถหาสาเหตุการเสียชีวิต และดำเนินคดีอาญาแก่ผู้เกี่ยวข้องได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สัญญาว่า จะยุติความล่าช้าหลังการแต่งตั้ง พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พี่เขยของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“ทางการไทยเปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการสอบสวนทางอาญาเพื่อนำตัวสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ “ชุดดำ” ฝ่าย นปช.มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บุคคลจำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า โจมตี และสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน นปช.ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไป นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ยังปฏิเสธด้วยว่า กลุ่มติดอาวุธ “ชุดดำ” ไม่มีตัวตนอยู่จริง การที่แกนนำคนสำคัญของ นปช.12 คนได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลในสังกัดพรรคเพื่อไทย สร้างความกังวลเป็นอย่างมาก ว่า บุคคลเหล่านี้จะใช้อิทธิพลทางการเมือง และภูมิคุ้มกันทางรัฐสภาหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาเมื่อปี 2553” รายงานระบุ

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัญญาว่าจะสนับสนุนการสอบสวนของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กลับยังไม่ได้มอบอำนาจให้ คอป.สามารถเรียกพยานหลักฐาน ทำให้ คอป.ไม่มีข้อมูลครบถ้วน และพบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์กดดันให้ตั้งข้อหาความผิดอาญาร้ายแรงอย่างเหวี่ยงแห และเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุม นปช.นับร้อยคน โดยได้คุมขังไว้นานหลายเดือนและยังปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะทบทวนการตั้งข้อหาต่อกลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าว พร้อมสัญญาว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายที่เหมาะสมและมาตรฐานสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ คอป.ยังเสนอให้มีกลไกพิเศษเพื่อจ่ายค่าชดเชย และจัดการเยียวยาอื่นๆ อย่างเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำของทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยในส่วนของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความผิดทางอาญาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงการชุมนุมปี 2551 ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองที่เป็นผู้รับผิดชอบออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเข้าสลายผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ก็ยังคงลอยนวลไม่ถูกนำตัวมาลงโทษแต่อย่างใด

สำหรับการริดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นนั้น รายงานว่าระหว่างปี 2551-2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์ สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม สถานีโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ตหลายช่อง สิ่งพิมพ์ และวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี โดยกล่าวหาว่า คุกคามความมั่นคงของชาติ หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ลบหลู่สถาบันกษัตริย์ ทางการไทยยังคงใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอาญามาตรา 112 มาบังคับปิดกั้นความคิดเห็น และดำเนินคดีผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีการสั่งฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่า 400 คดีในปี 2553 และ 2554 ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้รับการประกันตัว และถูกจองจำอยู่นานหลายเดือนเพื่อรอการไต่สวน ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงในหลายกรณี อาทิ ตัดสินจำคุก นายธันย์ฐวุฒิ (ขอสงวนนามสกุล) วัย 13 ปี จากการนำข้อมูลหมิ่นพระบรมเดชานุภาพใส่ไว้ในเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ และยังดำเนินคดีกับเว็บมาสเตอร ์และบรรณาธิการ เช่น นางจีรนุช เปรมชัยพร เว็บมาสเตอร์ของประชาไท และ นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเรดพาวเวอร์

ทั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ว่า รัฐบาลจะไม่อดทนต่อการกระทำหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยจัดตั้งวอร์รูมขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบ และปิดเว็บไซต์ โดยเมื่อวันที่ 1 ต.ค.เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมนายสุรภัค ภูชัยแสง ที่กรุงเทพฯ โดยกล่าวหาว่า นำรูปภาพ คลิปเสียง และข้อความที่เป็นการหมิ่นพระราชวงศ์มาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก เป็นการจับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ อย่างไรก็ตาม ในส่วนผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์ น.ส.ยิ่งลักษณ ์และพรรคเพื่อไทย เช่น นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และกลุ่มที-นิวส์ถูกยกเลิกสัญญารายการวิเคราะห์ข่าวทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที)

ขณะที่ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รายงานว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนต ยังคงโจมตีพลเรือน เหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดในรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 16 ก.ย.มีผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บ 118 คน ผู้ก่อความไม่สงบลอบวางทุ่นระเบิดไว้ในสวนยางพารา เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และบีบบังคับให้ยอมสละกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสวนยางพารา และยังคงโจมตีอย่างเป็นระบบต่อครูโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ความพยายามของรัฐบาลบั่นทอนเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เมื่อวันที่ 6 ก.ย.ผู้ก่อความไม่สงบใช้ยิงอาจารย์คณิต ลำนุ้ย เสียชีวิต ที่ อ.รามัน จ.ยะลา แล้วใช้น้ำมันราดศพและจุดไฟเผา นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้ก่อความไม่สงบสังหารครู และบุคคลากรทางการศึกษาไปแล้วอย่างน้อย 148 คน

กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลมักเข้าไปตั้งค่ายพัก และฐานปฏิบัติการในโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อนักเรียน และครู รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการเรียนการสอน แม้ว่า พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 สัญญาว่าจะดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เจ้าหน้าที่ในกองกำลังฝ่ายความมั่นคงยังไม่ถูกลงโทษในกรณีสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การกระทำซ้อมทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เกิดการบังคับให้สูญหายขึ้นอีกในปี 2554 ภายหลังจากที่ลดลงอย่างมากนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

ส่วนนโยบายต่อต้านยาเสพติดรัฐบาลประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะเคารพสิทธิมนุษยชน และกระบวนการที่ถูกต้องตามกรอบของกฏหมายในนโยบายต่อต้านยาเสพติด แต่ ร.ต.อ.เฉลิม ปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมมากกว่า 2,800 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำสงครามยาเสพติดในสมัยรัฐบาลทักษิณ ปี 2546 รัฐบาลยิ่งลักษณ์ตั้งเป้าหมายที่จะบำบัดผู้ใช้ยาเสพติด 400,000 รายภายใน 1 ปี อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ใช้ยาเสพติดไว้ในโครงการบังคับบำบัดการติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยเน้นการออกกำลังตามแบบทหาร และมีการช่วยเหลือทางการแพทย์แค่เพียงเล็กน้อยในกรณีที่เกิดอาการลงแดง

สำหรับนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ยกย่อง นายทองนาค เสวกจินดา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกมือปืนสังหารใน จ.สมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 ก.ค.ซึ่งเป็นผลจากการรณรงค์ต่อต้านมลภาวะอุตสาหกรรมถ่านหินในท้องที่ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกสังหารมากกว่า 20 ราย การสืบสวนสอบสวนคดีเหล่านี้มักจะเผชิญอุปสรรคจากการทำงานที่ไม่คงเส้นคงวา และการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพของตำรวจ รวมทั้งกระทรวงยุติธรรมไม่สามารถให้การคุ้มครองพยานได้เพียงพอ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้

ขณะที่ผู้อพยพ ผู้แสวงหาการลี้ภัย และแรงงานย้ายถิ่นทางการไทยยังคงละเมิดหลักการระหว่างประเทศที่ห้ามบังคับส่งตัวผู้อพยพ และผู้แสวงหาการลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะถูกลงโทษ มีทั้งกรณี นายนูร์ มูฮัมหมัด ชาวชนเผ่าอุยกูร์ถูกจับด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย กลับถูกนำตัวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน ซึ่งเคยมีประวัติใช้อำนาจกักขังและทารุณกรรมต่อชนเผ่าอุยกูร์ ซึ่งได้หายตัวไปนับจากนั้นเป็นต้นมา

กรณีผลักดันกลับเรือบรรทุกชาวโรฮิงญาจากพม่า และบังคลาเทศอย่างน้อยสองครั้ง ทั้งๆ ที่การกระทำลักษณะดังกล่าวนำไปสู่การเสียชีวิตหลายร้อยคนเมื่อปี 2541 และ 2542 โดยมีเหตุการณ์ที่เรือบรรทุกชาวโรฮิงญา 911 คนถูกจับที่ จ.ตรัง เมื่อวันที่ 22 ม.ค.และภายหลังจัดฉากส่งตัวชาวโรงฮิงญาเหลกลับไปพม่าผ่านทาง จ.ระนอง ปรากฏว่า เรือถูกผลักดันกลับออกสู่ทะเล ลอยไปเกยฝั่งที่หมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย หลังจากนั้น เรือลำอีกลำหนึ่งที่บรรทุกชาวโรฮิงญา 129 คนก็ถูกผลักดันกลับสู่ทะเล และลอยลำไปจนถึงจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย ซึ่งนายอภิสิทธิ์ กล่าวเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ว่า “...ทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะผลักดันบุคคลออกไป เราปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีอาหาร และน้ำในปริมาณที่เพียงพอ”

ทั้งนี้ ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาลี้ภัย เมื่อถูกจับกุมมักจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้รับการยินยอมให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย หรือถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน ในบางกรณี ผู้อพยพจากศรีลังกา และเนปาล รวมทั้งชาวโรฮิงญาถูกคุมขังอยู่นานกว่า 2 ปี เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.ผู้อพยพ 94 คน และผู้แสวงหาการลี้ภัย 2 คนจากชุมชนอาห์มาดิยาห์ในปากีสถานได้รับประกันตัวออกไป หลังจากที่บางคนถูกคุมขังนานเกือบ 6 เดือน

กฎหมายไทยให้การคุ้มครองต่อแรงงานย้ายถิ่นจากพม่า กัมพูชา และลาว น้อยมาก มักถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นายจ้าง และพวกอันธพาล โครงการขึ้นทะเบียน และพิสูจน์สัญชาติ ทำให้นายจ้างมีอำนาจมากมายควบคุมแรงงานย้ายถิ่น และปกป้องไม่ให้นายจ้างถูกดำเนินคดีในกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น ทำให้แรงงานย้ายถิ่นเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แรงงานสตรีมีความเสี่ยงต่อการกระทำรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ ในขณะที่แรงงานชายถูกนำไปขายเป็นลูกเรือประมง เมื่อเดือน ต.ค.องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนรายงานว่า แรงงานย้ายถิ่นที่อพยพหนีอุทกภัยครั้งใหญ่ออกจากประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม รีดทรัพย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

ส่วนตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และนอร์เวย์ สนับสนุนให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเรียกร้องให้รัฐบาล และฝ่ายที่ขัดแย้งทางการเมืองหันหน้ามาเจรจากันและยุติการใช้ความรุนแรง ส่วนสวิสเซอร์แลนด์ได้เข้ามาฝึกอบรม และความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อ คอป. เพื่อให้นำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาหลายข้อในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่กลับนำไปปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น

เมื่อเดือน ก.ย.นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ประเทศไทยจะรักษาที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติต่อไปอีกหนึ่งสมัย และจะพยายามเสนอตัวเข้าชิงที่นั่งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยถูกกลุ่มพันธมิตรฯเพื่อต่อต้านการใช้ระเบิดพวง หรือกระสุนคลัสเตอร์ (CMC) วิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง จากกรณีที่ใช้อาวุธชนิดนี้ในเหตุการณ์พิพาทชายแดนกับกัมพูชา เมื่อเดือน ก.พ.ต่อมาเมื่อเดือน มิ.ย.นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัคราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้แจ้งต่อที่ประชุมคู่ขนานครั้งแรกของอนุสัญญาว่าด้วยการใช้ระเบิดพวงว่า ประเทศไทยหวังจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ในอนาคตอันใกล้

สำหรับเนื้อหาสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ผ่ายรายงานประจำปีขององค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ซึ่งเผยแพร่เป็นภาษาไทยมีดังต่อไปนี้

- - -

World Report 2012: ประเทศไทย

ชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งลี้ภัยอยู่นอกประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นใหม่ของการมีเสถียรภาพทางการเมือง ภายหลังจากที่เกิดความปั่นป่วนมาหลายปี อย่างไรก็ตาม รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้ทำตามคำมั่นสัญญาที่จะให้ความสำคัญต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนต่างๆ ในประเทศไทย อุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เมื่อเดือนตุลาคม และพฤศจิกายน ในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ อีก 23 จังหวัด ทำให้ประชาชนจำนวนนับแสนคนไร้ที่อยู่อาศัย รวมทั้งยังสร้างความเสียหายรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศไทย

• การขาดความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 2,000 คนในช่วงที่เกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงทางการเมือง จากเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นผลมาจากการที่กองกำลังฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังถึงขั้นที่ทำให้เสียชีวิตอย่างไม่จำเป็น และเกินกว่าเหตุ การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธที่ปฏิบัติการร่วมกับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งรู้จักกันในนาม “เสื้อแดง” และการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงโดยแกนนำ นปช.บางคน

การแถลงผลการสอบสวนเบื้องต้นของกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมกราคม 2554 ระบุว่า การเสียชีวิต 13 รายเกี่ยวข้องกับการกระทำของฝ่ายทหาร และอีก 12 รายเกี่ยวข้องกับการกระทำของกลุ่มติดอาวุธฝ่าย นปช.แต่การขาดความร่วมมือจากตำรวจทำให้ไม่สามารถเริ่มกระบวนการไต่สวนหาสาเหตุการเสียชีวิต และดำเนินคดีอาญาต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์สัญญาว่า จะยุติความล่าช้าดังกล่าวภายหลังจากประกาศแต่งตั้งให้ พลตำรวจเอก เพรียวพันธุ์ ดามาพงศ์ พี่เขยของทักษิณ เข้าดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อเดือนกันยายน

ทางการไทยเปิดเผยข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการสอบสวนทางอาญาเพื่อนำตัวสมาชิกกลุ่มติดอาวุธ “ชุดดำ” ฝ่าย นปช.มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม บุคคลจำนวนหนึ่งที่ถูกกล่าวหาว่า โจมตี และสังหารเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้าน นปช.ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวออกไป นอกจากนี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังปฏิเสธด้วยว่า กลุ่มติดอาวุธ “ชุดดำ” ไม่มีตัวตนอยู่จริง การที่แกนนำคนสำคัญของ นปช.12 คน ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลในสังกัดพรรคเพื่อไทย สร้างความกังวลเป็นอย่างมากว่า บุคคลเหล่านี้จะใช้อิทธิพลทางการเมือง และภูมิคุ้มกันทางรัฐสภาหลบเลี่ยงความรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขาเมื่อปี 2553

นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ให้สัญญาว่า จะสนับสนุนการสอบสวนเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ และค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กลับยังไม่ได้มอบอำนาจให้ คอป. สามารถเรียกพยานหลักฐาน ทำให้ คอป.ไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายความมั่นคง รายงานการชันสูตรศพ และคำให้การของพยาน ตลอดจนภาพถ่าย และภาพวีดิทัศน์ของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจ

คอป.พบว่า รัฐบาลอภิสิทธิ์กดดันให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฎหมายตั้งข้อหาความผิดทางอาญาที่ร้ายแรงอย่างเหวี่ยงแห และเกินกว่าเหตุต่อผู้ชุมนุมประท้วงฝ่าย นปช.นับร้อยคน โดยได้คุมขังบุคคลเหล่านั้นไว้นานหลายเดือนเพื่อรอการไต่สวนพิจารณาคดี และยังปฏิเสธไม่ให้ได้รับการประกันตัว รัฐบาลยิ่งลักษณ์ประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะทบทวนการตั้งข้อหาทางอาญาต่อกลุ่ม

ผู้ชุมนุมประท้วงดังกล่าว พร้อมทั้งสัญญาว่า จะปฏิบัติต่อคนเหล่านั้นตามกระบวนการกฎหมายที่เหมาะสม และตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ คอปฺ ยังเสนอแนะให้มีกลไกพิเศษเพื่อจ่ายค่าชดเชย และจัดการเยียวยาอื่นๆ อย่างเป็นธรรมต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงทางการเมืองจากการกระทำของทุกฝ่าย

อนึ่ง มีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับการสอบสวนการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการกระทำความผิดทางอาญาโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่เรียกกันว่า “เสื้อเหลือง” ในช่วงที่มีการชุมนุมประท้วงเมื่อปี 2551 ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ และนักการเมืองที่ถูกระบุว่า เป็นผู้รับผิดชอบต่อการออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังรุนแรงเกินกว่าเหตุเข้าสลายผู้ชุมนุมประท้วงฝ่าย พธม.ที่บริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ก็ยังคงลอยนวลไม่ถูกนำตัวมาลงโทษแต่อย่างใด

• การลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

ในช่วงระหว่างปี 2551 ถึงปี 2554 รัฐบาลอภิสิทธิ์ ปิดเว็บไซต์มากกว่า 1,000 เว็บไซต์ รวมทั้งสั่งปิดสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมหนึ่งช่อง สถานีโทรทัศน์ทางอินเทอร์เน็ตหลายช่อง สิ่งพิมพ์ และวิทยุชุมชนมากกว่า 40 สถานี โดยกล่าวหาว่า กระทำการคุกคามความมั่นคงของชาติ หรือเผยแพร่ข้อมูลที่ลบหลู่สถาบันกษัตริย์

ทางการไทยยังคงใช้พระราชบัญญัติการก่ออาชญากรรมด้วยคอมพิวเตอร์ และมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาบังคับปิดกั้นความคิดเห็น และดำเนินคดีลงโทษผู้ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประเมินว่า มีการสั่งฟ้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากกว่า 400 คดี ในปี 2553 และ 2554 ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพส่วนใหญ่จะไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และถูกจองจำอยู่นานหลายเดือนเพื่อรอการไต่สวน โดยที่การไต่สวนคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่จะไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ซึ่งศาลได้ตัดสินลงโทษอย่างรุนแรงในหลายกรณี เมื่อเดือนมีนาคม ศาลตัดสินจำคุก ธันย์ฐวุฒิ ทวีโวรดมกุล เป็นเวลา 13 ปี เนื่องจากนำข้อมูลที่ถือว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไปใส่ไว้ในเว็บไซต์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ของ นปช.ยูเอสเอ นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับเว็บมาสเตอร ์และบรรณาธิการ เช่น จิรนุช เปรมชัยพร เว็บมาสเตอร์ของประชาไท และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข บรรณาธิการนิตยสารเรดพาวเวอร์

รองนายกรัฐมนตรี เฉลิม อยู่บำรุง แถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ว่า รัฐบาลจะไม่อดทนต่อการกระทำความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยได้มีการได้มีการจัดตั้ง "วอร์รูม" ขึ้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบ และปิดเว็บไซต์ที่พิจารณาแล้วว่า มีเนื้อหาที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมนายสุรภัค ภูชัยแสง ที่กรุงเทพฯ โดยกล่าวหาว่า นำรูปภาพ คลิปเสียง และข้อความที่เป็นการหมิ่นพระราชวงศ์มาเผยแพร่ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งกรณีนี้เป็นการจับกุมผู้กระทำผิดในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งแรกในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์

ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ ์และพรรคเพื่อไทย เช่น เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง และกลุ่มที-นิวส์ ถูกยกเลิกสัญญาการดำเนินรายการวิเคราะห์ข่าวที่แพร่ภาพ และกระจายเสียงไปทั่วประเทศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ของรัฐบาล

• ความรุนแรง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในเครือข่ายของขบวนการบีอาร์เอ็นโคออดิเนตยังคงโจมตีพลเรือนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหตุการณ์โจมตีด้วยระเบิดในรถยนต์ และจักรยานยนต์ที่อำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 16 กันยายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 คนและบาดเจ็บอีก 118 คน ผู้ก่อความไม่สงบลอบวางทุ่นระเบิดไว้ในสวนยางพาราเพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับชาวไทยที่นับถือศาสนาพุทธ และบีบบังคับให้คนเหล่านี้ยอมสละกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของสวนยางพารา

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยังคงทำการโจมตีอย่างเป็นระบบต่อครูโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งถูกมองว่า เป็นสัญลักษณ์ของความพยายามของรัฐบาลในการบั่นทอนเอกลักษณ์ของชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ผู้ก่อความไม่สงบใช้ยิงอาจารย์คณิต ลำนุ้ย เสียชีวิต ที่อำเภอรามัน จังหวัดยะลา แล้วใช้น้ำมันราดศพ และจุดไฟเผา นับแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ผู้ก่อความไม่สงบสังหารครู และบุคคลากรทางการศึกษาไปแล้วอย่างน้อย 148 คน

กองกำลังฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลมักเข้าไปตั้งค่ายพัก และฐานปฏิบัติการในโรงเรียน ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อนักเรียน และครู รวมทั้งยังเป็นการขัดขวางการเรียนการสอนอีกด้วย

ถึงแม้ว่าแม่ทัพภาคที่สี่ พลโท อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ จะสัญญาว่า จะดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ชาวมุสลิมเชื้อสายมาเลย์ที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เจ้าหน้าที่ในกองกำลังฝ่ายความมั่นคงยังไม่ถูกลงโทษในกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม การกระทำซ้อมทรมาน การบังคับให้สูญหาย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนอื่นๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า เกิดการบังคับให้สูญหายขึ้นอีกในปี 2554 ภายหลังจากที่ลดลงอย่างมากนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมา

• นโยบายต่อต้านยาเสพติด

ขณะที่รัฐบาลประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า จะเคารพสิทธิมนุษยชน และกระบวนการที่ถูกต้องตามกรอบของกฏหมายในการดำเนินนโยบายต่อต้านยาเสพติด แต่รองนายกรัฐมนตรีเฉลิม อยู่บำรุง ปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมจำนวนมากกว่า 2,800 ราย ที่เกิดขึ้นระหว่างการทำ “สงครามยาเสพติด” ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2546

รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ตั้งเป้าหมายที่จะ “บำบัด” ผู้ใช้ยาเสพติดจำนวน 400,000 ราย ภายในระยะเวลาหนึ่งปี อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยในการจับกุม และควบคุมตัวผู้ใช้ยาเสพติดไว้ในโครงการบังคับบำบัดการติดยาเสพติด ซึ่งส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกองทัพ และกระทรวงมหาดไทย โดยวิธีบำบัดรักษาเน้นการออกกำลังตามแบบทหาร และมีการช่วยเหลือทางการแพทย์แค่เพียงเล็กน้อยในกรณีที่เกิดอาการลงแดง

• นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

ทองนาก เสวกจินดา นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ถูกมือปืนสังหารในจังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ซึ่งเป็นผลมาจากการรณรงค์ต่อต้านการสร้างมลภาวะของอุตสาหกรรมถ่านหินในท้องที่ ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา มีนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนถูกสังหารไปแล้วมากกว่า 20 ราย การสืบสวนสอบสวนคดีฆาตกรรมเหล่านี้มักจะเผชิญอุปสรรคจากการทำงานที่ไม่คงเส้นคงวา และการสอบสวนที่ไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการที่กระทรวงยุติธรรมไม่สามารถให้การคุ้มครองต่อพยานได้เพียงพอ และการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบังคับใช้กฏหมายไม่สามารถรับมือกับอิทธิพลทางการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าวได้

• ผู้อพยพ ผู้แสวงหาการลี้ภัย และแรงงานย้ายถิ่น

ทางการไทยยังคงละเมิดหลักการระหว่างประเทศที่ห้ามบังคับส่งตัวผู้อพยพ และผู้แสวงหาการลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่บุคคลเหล่านั้นอาจจะถูกลงโทษ นูร์ มูฮัมหมัด ชาวอุยกูร์ ถูกจับเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม และถูกนำตัวมาที่ห้องกักขังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติการเข้าเมือง แต่แทนที่เขาจะถูกนำตัวไปส่งฟ้องศาลตามบทบัญญัติของกฎหมายไทย เขากลับถูกนำตัวไปมอบให้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีน และได้หายตัวไปนับจากนั้นเป็นต้นมา ทั้งนี้ ประวัติของรัฐบาลจีนในการใช้อำนาจกักขัง และการกระทำทารุณกรรมต่อชนเผ่าอุยกูร์ ทำให้เชื่อว่า มูฮัมหมัด เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างยิ่ง

ทางการไทย “ผลักดันกลับ” เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาจากพม่า และบังคลาเทศอย่างน้อยสองครั้งในปี 2554 ทั้งๆ ที่มีการกล่าวหาว่า การกระทำลักษณะดังกล่าวได้นำไปสู่การเสียชีวิตของบุคคลหลายร้อยคนเมื่อปี 2541 และ 2542 ทั้งนี้ หลังจากได้จัดหาเสบียงอาหารที่จำเป็น และน้ำให้แก่เรือที่บรรทุกชาวโรฮิงญาแล้ว ทางการไทยก็ลากเรือเหล่านั้นออกไปปล่อยให้ลอยลำในน่านน้ำสากล โดยมีเหตุการณ์ที่เรือลำหนึ่ง ซึ่งบรรทุกชาวโรฮิงญา 911 คน ถูกจับที่จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 22 มกราคม และภายหลังจากที่มีการจัดฉากการส่งตัวชาวโรงฮิงญาเหล่านั้นกลับไปพม่าผ่านทางจังหวัดระนอง ก็ปรากฏว่า เรือลำดังกล่าวถูกผลักดันกลับออกสู่ทะเล และลอยไปเกยฝั่งที่หมู่เกาะนิโคบาร์ของอินเดีย หลังจากนั้น เรือลำอีกลำหนึ่งที่บรรทุกชาวโรฮิงญา 129 คนก็ถูกผลักดันกลับสู่ทะเล และลอยลำไปจนถึงจังหวัดอาเจะห์ อินโดนีเซีย อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ กล่าวเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ว่า “...ทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะผลักดันบุคคลออกไป เราปฏิบัติตามขั้นตอนมาตรฐานเพื่อให้มั่นใจได้ว่าพวกเขาจะมีอาหาร และน้ำในปริมาณที่เพียงพอ”

ประเทศไทยไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติ ปี 2494 และไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพของผู้อพยพ และผู้แสวงหาลี้ภัย ในกรณีที่บุคคลเหล่านั้นถูกจับกุม พวกเขามักจะถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานกว่าจะได้รับการยินยอมให้สามารถเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย หรือถูกส่งกลับไปยังประเทศของตน ในบางกรณี ผู้อพยพจากศรีลังกา และเนปาล รวมทั้งชาวโรฮิงญาถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานกว่าสองปี เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ผู้อพยพ 94 คน และผู้แสวงหาการลี้ภัยสองคนจากชุมชนอาห์มาดิยาห์ในปากีสถาน ได้รับการประกันตัวออกไป ภายหลังจากที่บางคนถูกคุมขังอยู่เป็นระยะเวลานานเกือบ 6 เดือน

กฎหมายไทยให้การคุ้มครองต่อแรงงานย้ายถิ่นจากพม่า กัมพูชา และลาวน้อยมาก บุคคลเหล่านี้มักถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นายจ้าง และพวกอันธพาล โครงการณ์ขึ้นทะเบียน และ “พิสูจน์สัญชาติ” ทำให้นายจ้างยังคงมีอำนาจอย่างมากมายในการควบคุมแรงงานย้ายถิ่น และปกป้องไม่ให้นายจ้างถูกดำเนินคดีในกรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานย้ายถิ่น สถานการณ์เช่นนี้ทำให้แรงงานย้ายถิ่นตกอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ แรงงานสตรีมีความเสี่ยงต่อการกระทำรุนแรงทางเพศ และการค้ามนุษย์ ในขณะที่แรงงานชายถูกนำไปขายเป็นลูกเรือประมง เมื่อเดือนตุลาคม องค์กรพัฒนาเอกชน และสื่อมวลชนรายงานว่า แรงงานย้ายถิ่นที่อพยพหนีอุทกภัยครั้งใหญ่ออกจากประเทศไทย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม รีดทรัพย์ และละเมิดสิทธิมนุษยชน

• ตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญระหว่างประเทศ

สหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และ นอร์เวย์ แสดงความสนับสนุนอย่างแข็งขัน ให้เกิดความปรองดองทางการเมือง และการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยในปี 2554 โดยเรียกร้องให้รัฐบาล และฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกันทางการเมืองหันหน้ามาเจรจากัน และยุติการใช้ความรุนแรง สวิสเซอร์แลนด์เข้ามาให้การฝึกอบรม และความช่วยเหลือทางเทคนิคต่อ คอป. เพื่อให้สามารถนำตัวผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อความรุนแรงทางการเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม

ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาหลายข้อในเรื่องสิทธิมนุษยชนในระหว่างที่ดำเนินการรณรงค์ที่ประสบความสำเร็จเมื่อปี 2553 เพื่อเข้าร่วมในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แต่คำสัญญาดังกล่าวกลับมีการนำไปปฏิบัติเพียงไม่กี่ข้อ เท่านั้น เมื่อเดือนกันยายน รัฐมนตรีต่างประเทศ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล กล่าวว่า ประเทศไทยจะรักษาที่นั่งในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งประชาชาติต่อไปอีกหนึ่งสมัย และจะพยายามเสนอตัวเข้าชิงที่นั่งสมาชิกไม่ถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติด้วย

ประเทศไทยถูกกลุ่มพันธมิตรเพื่อต่อต้านการใช้ระเบิดพวงวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากกรณีที่ใช้อาวุธชนิดนี้ในเหตุการณ์พิพาทชายแดนกับกัมพูชา เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ต่อมาเมื่อเดือนมิถุนายน สีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว เอกอัคราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ได้แจ้งต่อที่ประชุมคู่ขนานครั้งแรกของอนุสัญญาว่าด้วยการใช้ระเบิดพวงว่า ประเทศไทยหวังจะให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับนี้ใน “อนาคตอันใกล้”

กำลังโหลดความคิดเห็น