xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

3 ปี 7 ตุลาฯ ความยุติธรรมที่สาปสูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 ตำรวจระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ผู้ชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หน้ารัฐสภา วันที่ 7 ตุลาคม 2551
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่อำนาจรัฐได้กระทำอาชญกรรมต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้การรับรอง

เหตุการณ์ครั้งนั้นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ชุมนุมล้อมรอบบริเวณรัฐสภาตั้งแต่ช่วงกลางคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เพื่อขัดขวางไม่ให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เข้าไปแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากพันธมิตรฯ มีข้อมูลหลักฐานและประจักษ์พยานชัดเจนหลายอย่างว่า นายสมชายเป็นเพียงตัวแทนเชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ

การชุมนุมในครั้งนั้นจึงเป็นไปเพื่อขัดขวางไม่ให้นายสมชายในฐานะหุ่นเชิดของตัวแทนทุนสามานย์หมายเลข 1 อย่างทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ อันเป็นการชุมนุมที่ต่อเนื่องมาจากการชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อช่วยเหลือทักษิณให้พ้นผิด ที่เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2551
การชุมนุมในช่วงเย็นวันที่ 6 ตุลาคม 2551 เป็นด้วยความเรียบร้อย โดยแกนนำพยายามเน้นย้ำมิให้ผู้ร่วมชุมนุมกระทำผิดกฎหมาย ห้ามเข้าไปแตะประตูรัฐสภาเด็ดขาด เพียงแต่ชุมนุมอยู่บริเวณถนนเท่านั้น

แม้จะมีกระแสข่าวตลอดทั้งคืนว่าจะมีการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเปิดฉากยิง “ระเบิดแก๊สน้ำตา”เข้าใส่ผู้ชุมนุมตั้งแต่เช้ามืด ขณะที่ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่กำลังพักผ่อนจากอาการเหน็ดเหนื่อยที่ชุมนุมมาตลอดทั้งคืน

การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ มีอย่างต่อเนื่องไปจนถึงช่วงสาย บ่าย และเย็นมืดค่ำของวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์วันนั้น 2 คน คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือ น้องโบ และ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือ สารวัตรจ๊าบ มีผู้บาดเจ็บสาหัสสูญเสียอวัยวะ รวมประมาณ 40 คน และบาดเจ็บทั่วไปกว่า 400 คน

นอกจากนี้ หลังจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมอยู่ในทำเนียบรัฐบาลก็ยังถูกอำนาจเถื่อนคุกคามด้วยการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใส่ จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บตามมาอีกนับสิบราย แม้กระทั่งย้ายที่ชุมนุมไปที่สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิก็ยังถูกคุกคามด้วยอาวุธร้ายแรงจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งการชุมนุมยุติลงหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำพิพากษายุบพรรคพลังประชาชนจากกรณีกรรมการบริหารพรรคทุจริตการเลือกตั้ง อันส่งผลให้รัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ตั้งสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551

เวลาผ่านมา 3 ปีเต็ม แม้ฝ่ายพันธมิตรฯ จะได้รับความเป็นธรรมอยู่บ้าง เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้อง คือ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล(ผบช.น.) โดยให้ทั้ง 4 คน มีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และได้ส่งรายงานเอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีบุคคลทั้ง 4 ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

โดยเฉพาะ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ นั้นให้มีความผิดทางอาญาและทางวินัยด้วย ฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และฐานละเว้นการกระทำใด ๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง พร้อมกับได้ส่งเรื่องไปยังผู้บังคับบัญชาของนายตำรวจทั้ง 2 นาย

อย่างไรก็ตาม การที่ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นน้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทำให้นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกฯ ไม่ได้สั่งการใดๆ เพื่อเป็นการลงโทษทางวินัย พล.ต.อ.พัชรวาท จนกระทั่งสิ้นอายุรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ 2 ปี 8 เดือน

มิหนำซ้ำ เมื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ก.ตร.ได้มีมติเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2552 และวันที่ 15 ม.ค.2553 เห็นชอบตามความเห็นคณะอนุฯ ก.ตร.อุทธรณ์ที่มี พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ เพื่อนซี้ร่วมก๊วน พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นประธาน ให้ยกโทษให้ พล.ต.อ.พัชรวาท และพล.ต.ท.สุชาติ เช่นเดียวกับกรณี พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ อดีตผบก.ภ.จ.อุดรธานี ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงกรณีปล่อยให้กลุ่ม นปช.ทำร้ายกลุ่มพันธมิตรฯ ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2551 พร้อมมีมติให้รับนายพลทั้ง 3 นาย กลับเข้ารับราชการตามเดิม

ในส่วนของการดำเนินคดีอาญา ปรากฏว่าอัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนคดีนี้ยังมีข้อไม่สมบูรณ์ ทำให้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะทำงานผู้แทนอัยการสูงสุด และคณะทำงานผู้แทนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการรวบรวมพยานหลักฐานให้สมบูรณ์ และหาข้อยุติเกี่ยวกับการฟ้องคดี

สรุปว่า จนถึงวันนี้ยังไม่มีการฟ้องคดีผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้ แต่อย่างใด

ในทางตรงกันข้าม ปรากฏว่า กรณีการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 6-7 ตุลาคม 2551 ทำให้แกนนำพันธมิตรฯ (ยกเว้น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ที่ถูกคุมขังขณะเกิดเหตุ) และแนวร่วมจำนวน 21 คน ถูกดำเนินคดีฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, 215, 216, 309 และ 310

คดีดังกล่าวนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำสำนวนการสอบสวนพร้อมความเห็นสมควรสั่งฟ้อง ส่งมอบให้อัยการ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา พร้อมกับความเห็นสั่งฟ้องแกนนำพันธมิตรฯ อีก 3 คดี คือ 1.คดีแกนนำพันธมิตรฯ กรณีชุมนุมปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล 2.คดีนายสนธิ ลิ้มทองกุล หมิ่นประมาทนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย และ 3.คดีนายสนธิหมิ่นประมาท พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กรณีปราศรัยว่าเป็นคนทุจริตและหลบเลี่ยงการจ่ายภาษี ซึ่งคดีทั้งหมดเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม 193 วัน ในปี 2551 และอัยการได้เลื่อนฟังคำสั่งคดีทั้งหมดเป็นวันที่ 20 ตุลาคม 2554 นี้

ข้อเท็จจริงทั้งหมดดังกล่าว สะท้อนว่าพันธมิตรฯ ไม่ใช่“ม็อบมีเส้น”ตามที่ฝ่ายตรงข้ามกล่าวหา แต่ตรงกันข้ามในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำให้ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตทรัพย์สินและชื่อเสียง พันธมิตรฯ ยังถือว่าได้รับความเป็นธรรมน้อยมาก

ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับกรณีการชุมนุมของคนเสื้อแดง เอาเพียงแค่กรณีการชุมนุมล้อมอาคารรัฐสภาเหมือนกันก็ได้รับการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่รัฐต่างกันราวฟ้ากับเหว
หลังจากนายอภิสิทธิ์ ได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เมื่อปลายปี 2551 กลุ่มคนเสื้อแดงได้ชุมนุมปิดล้อมรัฐสภาช่วงวันที่ 29-30 ธันวาคม 2551 จนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ต้องย้ายการแถลงนโยบายไปที่กระทรวงการต่างประเทศ

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีการระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ ซ้ำยังเข้าไปอำนวยความสะดวกพูดคุยกับคนเสื้อแดงอย่างเป็นกันเอง และจนกระทั่งบัดนี้ ก็ยังไม่มีการดำเนินคดีแกนนำคนเสื้อแดงที่พาพวกไปปิดล้อมรัฐสภาในวันนั้น ทั้งที่ระยะเวลาห่างจากการชุมนุมของพันธมิตรฯ เพียง 2 เดือนเศษ

นี่คือความพิกลพิการของกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น ซึ่งเกิดขึ้นในระบบยุติธรรมไทยมานานแล้ว และเลวร้ายลงในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ตัวแทนทุนสามานย์หมายเลข 1 ได้ขึ้นบริการประเทศตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
ตำรวจสนิทสนมกลมเกลียวกับคนเสื้อแดง ระหว่างชุมนุมปิดล้อมรัฐสภา วันที่ 30 ธันวาคม 2551
กำลังโหลดความคิดเห็น