xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 3 ปี 7 ตุลา 2551 อุดมการณ์เยาวชนพันธมิตรที่ไม่เคยตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เหตุการณ์ 7 ตุลา หรือการปราบประชาชนที่มาชุมนุมอย่างสงบสันติอย่างรุนแรงในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะเหล่าผู้ชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งถูกกลุ่มตำรวจใช้อาวุธปราบปรามชนิดรุนแรงจนทำให้เกิดความสูญเสียแก่ชีวิตและทำให้มีผู้บาดเจ็บจนถึงแก่ความพิการจำนวนไม่น้อย แม้เวลาจะล่วงเลยมาจนจะครบ 3 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2554 นี้ แต่ความเข้มข้นในเรื่องจิตสำนึกรักชาติและแผ่นดิน ยังคงไม่เจือจางไปกับกาลเวลา
เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ได้ต่อสู้เคียงข้างกับกลุ่มพันธมิตรฯ มาตลอดการชุมนุมอย่างกลุ่ม ‘ยังก์ พีเอดี’ หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า 'ยังก์แพด' (Young PAD : Young People's Alliance For Democracy) หรือ ‘เครือข่ายเยาวชนกู้ชาติ’ ซึ่งกลุ่มนี้เกิดจากการรวมตัวกันของทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษาหลากหลายสถาบันผู้มีจิตสาธารณะและไม่สามารถทนนิ่งดูดายมองประเทศไทยดำเนินไปตามเกมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนสถาบันสำคัญทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เสียหายได้ ซึ่งการเกิดขึ้นของกลุ่มเยาวชนที่ขับเคลื่อนในฐานะการเมืองภาคประชาชนชนิดที่มีจำนวนนักศึกษาล้นหลามเช่นนี้นับเป็นปรากฏการณ์ที่นานๆ จะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเอง แต่ในนานาประเทศก็เช่นกัน
มาถึงวันนี้ 3 ปีผ่านไป หัวใจของเหล่ายังก์แพด ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักในชาติ แม้กลุ่มจะมีการยุติบทบาทลงแล้วด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ทุกคนยังคงพร้อมที่จะเข้าร่วมช่วยเหลือทุกงานที่เป็นไปเพื่อปกป้องชาติเช่นเคย มาติดตามสถานการณ์ของ ‘ยังก์แพด’ หลังจากที่นักเรียนและนิสิตนักศึกษาเหล่านี้สลายกลุ่ม และเดินทางไปตามวิถีชีวิตของแต่ละคนเมื่อสำเร็จการศึกษา หลังจากร่วมต่อสู้กันมา อุดมการณ์ของพวกเขาไม่เคยเลือนรางจางหายไปไหน และพร้อมที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ 7 ตุลา ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป

 หวนรำลึกก้าวแรกที่งดงามของ ‘ยังก์แพด’ 
 
‘ยังก์แพด’ เริ่มต้นจากการพูดคุยกันของนักศึกษาเพียงไม่กี่คน ที่เป็นส่วนหนึ่งของผู้ร่วมชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในช่วงปี 2551 เมื่อพูดคุยถกเถียงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องให้นักศึกษาหันมาสนใจบ้านเมืองมากขึ้น จึงได้จัดขบวนปราศรัย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งก็นับเป็นครั้งแรกของการเปิดตัวกลุ่มยังก์แพด สู่สายตาสาธารณชน
จากวันนั้น ยังก์แพด ก็ร่วมต่อสู้เคียงข้างกลุ่มพันธมิตรฯ มาตลอดจนครบ 193 วัน โดยมีกิจกรรมหลากหลายที่มุ่งเน้นกระตุ้นให้เหล่าเยาวชนทั้งนักเรียน นิสิตนักศึกษามีความสนใจต่อเหตุการณ์ทางการเมืองมากยิ่งขึ้น เช่น การทำสื่อรณรงค์ต่างๆ การจัดเวทีปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือแม้แต่การนำนักเรียน นิสิต นักศึกษาประมาณ 5,000 - 6,000 คน เดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ในขณะนั้นให้ออกจากตำแหน่ง ซึ่งนับเป็นการรวมพลังเยาวชนครั้งยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองยุคใหม่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535
"ที่มาของยังก์แพด เกิดจากการที่ผมและเพื่อนๆ ไปร่วมชุมนุมแล้วรู้สึกว่านักศึกษายังไม่มีการกระเตื้องในจุดใดเลย เลยคิดว่าเราต้องทำอะไรซักอย่างแล้ว ผมกับเพื่อนจึงได้ชักชวนกัน ตอนแรกริเริ่มกันแค่ 3 คน แล้วก็ไปขอรถปราศรัยกับทางม็อบพันธมิตรฯ เพื่อที่จะเอาไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ปลุกระดมและชักชวนเพื่อนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ออกมาร่วมชุมนุม ซึ่งกิจกรรมนี้ก็ได้มีเพื่อนอีกหลายคนจากหลายสถาบันที่ได้มาช่วยกันทำให้โครงการนี้สำเร็จ” แสนยากรณ์ สิงห์วีรธรรม อดีตสมาชิกและแกนนำกลุ่มยังก์แพด เผยถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มที่เกิดขึ้น ด้วยอุดมการณ์ที่ต้องการจุดประกายความสนใจในเรื่องของชาติบ้านเมืองให้แก่กลุ่มนักศึกษา
“แล้วจากวันนั้น ข่าวที่เราไปปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แพร่สะพัดจนนักศึกษาหลายๆ มหาวิทยาลัยสนใจ เราเลยตกลงกันว่า งานนั้นจะเป็นงานเดียวไม่ได้ เราต้องทำต่อไป
เพราะว่ามีอีกหลายมหาวิทยาลัย มีอีกหลายคนเขาหวังกับเราแล้ว จึงตัดสินใจตั้งขึ้นมาเป็น ยังก์แพด"
แสนยากรณ์กล่าวถึงความรู้สึก ณ เวลานั้นว่า รู้สึกฮึกเหิม รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า แล้วก็รู้สึกว่าสถานะนักศึกษาของพวกเขาศักดิ์สิทธิ์ในการนำไปเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะหลายๆ คนถือว่า ‘เสียงของเราเป็นเสียงบริสุทธิ์ ปราศจากผลประโยชน์’
ในฐานะหนึ่งในสมาชิกกลุ่ม ชวัส จำปาแสน ครูสอนศิลปะและศิลปินอิสระ หนึ่งในอดีตสมาชิกกลุ่มยังก์แพด เผยถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเข้าร่วมกับกลุ่มในครั้งนั้นว่า เขาเริ่มจากการเป็นผู้ร่วมชุมนุม และได้มาเจอกับยังก์แพด ซึ่งทำให้ได้ค้นพบตัวเองว่าสามารถทำหน้าที่ไหนให้แก่การชุมนุมได้บ้าง
"ตอนแรกก็เป็นผู้ร่วมชุมนุมเหมือนคนอื่นๆ ช่วยในเรื่องเท่าที่จะช่วยได้ เช่น ยกน้ำยกของอะไรพวกนี้ แต่พอเดินมาเจอยังก์แพด ก็เห็นว่ามีการเขียนป้าย แล้วเราก็รู้สึกว่าเป็นงานที่สามารถใช้ความสามารถได้เต็มที่ ก็เลยคิดว่าจะเข้ามาร่วม"
ส่วนบทบาทของเขาในช่วงนี้ ก็เพียงคอยติดตามสถานการณ์ข่าวสารทางการเมือง
นอกจากอดีตแกนนำและสมาชิกแล้ว วสันต์ วานิช อดีตผู้ประสานงานกลุ่ม ยังก์แพด ผู้เข้าร่วมกับกลุ่มมาตั้งแต่ระยะแรกๆ ก็ได้ร่วมแบ่งปันความรู้สึกของเขาเช่นกัน
"ถือว่าเป็นขบวนการของเยาวชนที่ไม่ใช่แค่นักศึกษา แต่เป็นการออกมารวมตัวกันเพื่อต่อต้านระบอบทักษิณที่มีนายกฯตัวแทนมาบริหารประเทศ ทั้งหมดนี้เราได้อ่าน ได้ฟัง ได้คิด แล้วออกมาร่วมกันกับพี่น้องพันธมิตรฯ ในส่วนตัว ออกมาร่วมกับการชุมนุมได้พักใหญ่แล้ว ความรู้สึกตอนนั้นถามตัวเองว่าทำไมมีแต่คนแก่และเราควรจะทำอะไรได้มากกว่านี้"

 แยกย้าย แต่ไม่ตายจากอุดมการณ์ 
 
แม้จะมีการยุติบทบาทของกลุ่มยังก์แพด ลงแล้ว และต่างคนต่างแยกย้ายไปสานต่อในสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝัน บ้างก็เรียนต่อ บ้างก็ทำงาน แต่เมื่อคราใดที่เกิดวิกฤตในบ้านเมือง ก็มักจะได้เห็นเยาวชนกลุ่มนี้นัดรวมตัวกันเพื่อทำกิจกรรมอยู่เสมอ อย่างเช่นงานชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อชมพูและกลุ่มเสื้อหลากสีที่ผ่านมา เมื่อครั้งกลุ่มเสื้อแดงเผาเมืองเสียวอดพร้อมกับมีการเรียกร้องให้รัฐบาลชุด อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในขณะนั้น ยุบสภา สมาชิกส่วนหนึ่งจากกลุ่มยังก์แพด ในนามกลุ่ม ‘กล้าธรรมม์’ (Kladhamm) ก็ได้รวมกลุ่มทำป้ายผ้าและสติ๊กเกอร์รณรงค์หลายแบบออกแจกจ่ายและติดตามที่ต่างๆ จนข้อความคัดค้านการยุบสภาแบบต่างๆ เช่น ‘จะยุบสภาถามกูบ้างดิ’ ‘ไม่ยุบสภา’ ‘จะยุบสภา..ถามกูบ้างอะไรบ้าง’ ‘ไม่เอาเจรจาแบบเหวงๆ’ ฯลฯ กลายเป็นข้อความที่ได้รับความนิยมอยู่พักหนึ่ง
"กลุ่มกล้าธรรมม์ก็คล้ายๆ กับกลุ่มยังก์แพดเดิม เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกในเรื่องการเลือกข้างมากเท่าเดิม เหมือนในช่วงการชุมนุมเท่านั้นเอง" ชวัส อดีตยังก์แพด หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มกล้าธรรมม์กล่าว
นอกจากนี้ กลุ่มกล้าธรรมม์ยังมีการทำค่ายพัฒนาชนบท การเข้าร่วมงานเสวนาต่างๆ การเขียนป้ายผ้าเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ อีกครั้ง ในกรณีปราสาทพระวิหาร เป็นต้น และจากวันนั้น อดีตยังก์แพด แต่ละคนก็ยังคงติดตามข่าวสารบ้านเมืองและให้ความช่วยเหลือสังคมในเหตุการณ์ต่างๆ ในวาระและโอกาสเท่าที่จะอำนวยอยู่เรื่อยมาโดย แสนยากรณ์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในกลุ่มกล้าธรรมม์ บอกว่า
"กลุ่มกล้าธรรมม์ก็ยังยึดปฏิญาณเดิม แต่ว่าเป็นภารกิจที่ไม่เน้นการเลือกข้างอย่างเดิมเหมือนยังก์แพด"

 3 ปี 7 ตุลา จากหัวใจ ‘ยังก์แพด’ 
 
ใจคนนั้นอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลา แต่ 3 ปีที่ผ่านไปของเหตุการณ์ 7 ตุลา ความรู้สึกนึกคิด ความทรงจำ และแรงผลักดันของอุดมการณ์จากใจอดีตเหล่ายังก์แพด คงไม่จางหายไป ดังเช่น พงศธร จันทร์แก้ว อดีตสมาชิกยังก์แพด นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งขณะนี้ได้ทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์พัฒนาชุมชนคุ้งผ้าพับ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เล่าถึงเหตุการณ์และความรู้สึกในวันเกิดเหตุ ช่วงเวลาขณะนั้น ซึ่งเขาเป็นเพียงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เท่านั้น
"ก่อนหน้านั้นก็ไปกินนอนอยู่ที่นั่น แล้วมีความผูกพันกับคนที่นั่นมาก กับพี่ๆ ยังก์แพด ด้วย บรรยากาศก่อนโดนสลายก็นั่งเกาะแขนกันบอกว่า เราต้องรักษาที่มั่นตรงนี้นะ อยู่กับพี่ๆ แล้วก็ช่วยกันขนของขนน้ำ บรรยากาศตอนนั้นมันอบอุ่นนะ แล้วพอตอนเช้าตื่นมาได้ยินเสียงตู้ม! ก็ตกใจว่ามาแล้วเหรอ ทุกคนก็เกาะแขนกันเหมือนเดิม สักพักก็เห็นคนบาดเจ็บเริ่มเห็นเลือดคนแล้ว
รู้สึกว่าพี่น้องเราบาดเจ็บแล้วยิ่งทำให้อยากอยู่ต่อ ไม่อยากกลับ สงสารเขาแล้วอยากไปอยู่ตรงนั้นบ้างเผื่อจะช่วยอะไรได้มากกว่าตรงนี้ ก็เลยไปตรงลานพระบรมรูปทรงม้า ซึ่งวุ่นวายมาก ไม่รู้จะทำยังไงก็เลยขอน้ำเกลือเขา แล้วก็ไปช่วยพี่ๆ หยอดน้ำเกลือ คือทุกคนสู้มาก เราเห็นเขาสู้เราก็สู้"
พงศธร สะท้อนความรู้สึกจากภายใน “วันนั้นก็กลัวตายนะ แต่เราก็สู้ต่อ”
“คือมันต้องอยู่เพราะเห็นพี่เห็นน้องยังสู้ แต่ใจหนึ่งเราก็เป็นห่วงเขา แต่ก็คิดว่าตายก็ตายด้วยกัน ตอนนั้นเห็นพี่ๆ เพื่อนๆ แล้วมันเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กอย่างเรา สามปีผ่านไปก็ยังรู้สึกเหมือนเดิม เมื่อวานเองเพิ่งไปเดินแถวนั้นมากับเพื่อนๆ ก็เล่าให้เพื่อนฟังว่าไปเจออะไรมาบ้าง ในฐานะที่เราเป็นเด็กคนหนึ่งตอนนั้นเราก็ได้ทำอะไรแบบสุดๆ แล้ว"
นอกจากความรู้สึกหดหู่และสะเทือนใจกับภาพพี่น้องร่วมชุมนุมที่บาดเจ็บล้มตายแล้ว เหตุการณ์นี้ยังสร้างความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจกับความห่วงใยจากพ่อแม่ พี่น้อง และมิตรภาพที่มีให้แก่กันด้วย เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ไม่ลืมอุดมการณ์และมีแรงที่จะต่อสู้ในสนามการเมืองภาคประชาชนด้วยพลังที่บริสุทธิ์ต่อไป เช่นเดียวกับ ไชโย เกตุบางลาย เจ้าของธุรกิจผลิตภัณฑ์การเกษตรอินทรีย์ชีวภาพขนาดกลาง และที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุ่งพรหมทอง อ.บางนาราง จ.พิจิตร (กลุ่มเกษตรกรที่เคยใช้สารเคมีในการเพาะปลูกและริเริ่มหันมาใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อลดต้นทุนและพัฒนาคุณภาพดิน) อดีตสมาชิกยังก์แพด ได้ร่วมรำลึกถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ 7 ตุลาที่เหมือนเพิ่งผ่านพ้นไปว่า ยังรู้สึกใจหาย แต่อย่างไรก็ตามหากมีเหตุการณ์ซ้ำรอยก็พร้อมออกมาต่อสู้เช่นเดิม
"ทุกวันนี้ก็ยังนึกถึงเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาอยู่ คิดแล้วยังขนลุก แล้วเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา ทำให้ฝังใจว่า ถ้าวันหนึ่งต้องไปทำเพื่อชาติโดยแท้จริงอีกครั้ง ก็คงทำแบบนั้นอีก ก็ยังพร้อมเสมอ"

………

แม้ยังก์แพด ในฐานะกลุ่มเยาวชนที่สร้างปรากฏการณ์ใหญ่ครั้งหนึ่งในสังคมจะยุติบทบาทลงแล้ว แต่เพื่อน-พี่-น้องที่ได้มาพบเจอกัน ณ ที่แห่งนั้น ยังคงมิตรภาพและอุดมการณ์ที่เหนียวแน่น เสียงและภาพเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา ยังคงดังก้องและประทับในหัวใจของทุกคนไม่เปลี่ยนแปลงและเป็นแรงผลักดันให้แต่ละคนก้าวเดินตามเส้นทางอุดมการณ์ต่อไป

การรวมกลุ่มของเยาวชน เป็นพลังที่เรียกได้ว่าบริสุทธิ์ และปราศจากผลประโยชน์ซ่อนเร้น จึงยิ่งเป็นจุดเสริมให้เป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ หากเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีจิตสำนึกในความหวงแหนประเทศชาติ และสนใจในความเป็นไปของบ้านเมือง...ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อนาคตของประเทศไทยคงจะสดใส และวันนี้ของประเทศคงจะดีกว่าที่เป็นอย่างแน่นอน
 
 
 
 
>>>>>>>>>

………

เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK






กำลังโหลดความคิดเห็น