ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-กรมบัญชีกลาง กรมธนารักษ์ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) บริษัทธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ บริษัทสหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย (บตท.) สำนักคณะกรรมการกำกับ และส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.)....หน่วยงานเหล่านี้อยู่ภายใต้อุ้งมือ จัดการของ “วิรุฬ เตชะไพบูลย์” รมช.คลัง
นั่นทำให้การเปลี่ยนแปลง “ผู้นำองค์กร” เหล่านี้ จึงเกิดขึ้น เพราะเงินทุนจำนวนมหาศาลภายใต้การบริหารงานของแบงก์รัฐเหล่านี้ จะอยู่นอกเหนือการตรวจสอบของรัฐสภา จัดอยู่ในประเภท “เงินนอกประมาณ”
โดยเฉพาะ “เลอศักดิ์ จุลเทศ” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ซึ่งจะครบวาระในเดือนกรกฎาคมนี้
โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ เอสเอ็มอีแบงก์ ซึ่งครบวาระในปีหน้า
และ “ลักษณ์ วจนานวัช” ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ซึ่งพึงเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน
สองคนแรกถูกตั้งกรรมการสอบสวน พร้อมๆกับ “ธีรศักดิ์ สุวรรณยศ” กรรมการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ซึ่งครบวาระการนั่งเก้าอี้ในกลางปีนี้
วิรุฬ ประกาศกร้าวว่า “สถาบันการเงินฯ ทุกแห่งต้องระลึกเสมอว่า ความคงอยู่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ได้แก่การให้บริการทางการเงินกับประชาชน ผู้ประกอบการและธุรกิจที่ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้บริการทางการเงินได้ หรือกลุ่มบุคคลและธุรกิจเหล่านั้น ไม่ใช่ลูกค้าเป้าหมายของธนาคารพาณิชย์”
“ถ้าสถาบันการเงินเฉพาะกิจใด ไปทำธุรกรรมที่แข่งขันหรือแย่งลูกค้ากับธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าทั้งด้านเงินฝากหรือเงินกู้ ก็สมควรหยุดธุรกรรมเหล่านั้น หันมานำทรัพยากรทางการเงิน และบุคลากรที่มีอยู่ไปเน้นการช่วยเหลือและให้บริการทางการเงินกับผู้ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้น่าจะเหมาะสมมากกว่า”
แปลไทยเป็นไทยก็คือ วิรุฬ ต้องการให้แบงก์รัฐเหล่านี้ เอาทรัพยากรมาทำงานเพื่อรัฐบาล
ที่สำคัญคือ ธนาคารของรัฐเหล่านี้ เริ่มประท้วงเงียบ เพราะกลัวการสอบสวนที่เกิดจากการที่กระทรวงการคลัง ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯ ขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงตามความเห็น และข้อเสนอจากการตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทย
" ขอเรียนว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ว่านั้นเป็นกระบวนการตามปกติที่กระทรวงการคลังได้ดำเนินการตามผลตรวจสอบของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งในอดีตก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ และก็ไม่เคยถูกใช้เป็นข้ออ้างในการชะลอ หรือระงับการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ" วิรุฬ กล่าว
การควบคุมธนาคารของรัฐเหล่านี้ ยังทำให้ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกฯ และ รมว.คลัง ต้องเรียกผู้บริหารสถาบันการเงินเฉพาะกิจทั้ง 6 แห่ง เข้าหารือ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
เหตุผลก็คือ ต้องการใช้ธนาคารเหล่านี้ผลักดันการพักหนี้ครัวเรือน ในส่วนที่เป็นลูกหนี้ที่ดี มูลหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาท
นั่นหมายความว่า รายได้ของธนาคารเหล่านี้จะหดหายไปจำนวนมหาศาล
แม้กระทั่ง ธ.ก.ส.- ลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังบอกว่า “ก่อนหน้านี้ธนาคารได้รับผลกระทบจากโครงการพักชำระหนี้เกษตรกร ทำให้รายได้ลดลงกว่า 8,000 ล้านบาท”
ธนาคารจึงจะเสนอ 3 แนวทาง เพื่อลดภาระที่เกิดขึ้น คือ 1. ขอไม่นำส่งเงิน 0.47 % ของฐานเงินฝากเข้าสู่กองทุนเสริมความมั่นคงธนาคารรัฐ 2. ขอเพิ่มทุนอีก 10,000 ล้านบาท และ 3.ขอให้อนุมัติขยายสินเชื่อนอกภาคการเกษตรจาก 25% เป็น 30% เพื่อเพิ่มรายได้จากการปล่อยสินเชื่อ
โอกาสเกิดปัญหาหนี้เสียจำนวนมาก ไม่ไกลเกินเอื้อม
เช่นเดียวกับโอกาสที่จะมีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการ ธกส.
ขณะที่ เลอศักด์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ก็เกือบถูกปลดกลางอากาศ ก่อนพ้นตำแหน่งไม่กี่เดือน
เขาบอกว่า ธนาคารคงต้องปรับเป้าหมายรายได้ในปีนี้ใหม่ หลังจากนโยบายการส่งเงิน 0.47 % ของฐานเงินฝากเข้ากองทุนพัฒนาประเทศ และนโยบายการพักชำระหนี้ดีให้แก่ลูกค้า
“การนำส่งเงิน 0.47 % ของฐานเงินฝากนั้น จะทำให้ธนาคารต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนนี้ประมาณ 600 ล้านบาท ต่อเดือน ส่วนการพักชำระหนี้ที่รัฐบาลจะขยายโครงการไปยังลูกหนี้ดี ซึ่งจะมีทั้งพักหนี้และลดดอกเบี้ย รายได้ก็จะหายไปตามสัดส่วนการพักหนี้และลดดอกเบี้ย” เลอศักดิ์อธิบายชะตากรรมของออมสิน หากทำตามนโยบายของรัฐบาล
สถานะปัจจุบัน ธนาคารออมสิน มีฐานเงินฝากประมาณ 1.525 ล้านล้านบาท ส่วนลูกหนี้ที่มีจำนวนหนี้ไม่เกิน 5 แสนบาทนั้น มีอยู่จำนวน 1.4 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 1.9 แสนล้านบาท
ชะตากรรมของ “ผู้อำนวยการออมสิน” อยู่ในมือ ทักษิณ ชินวัตร อย่างเด็ดขาด ผ่านบอร์ดออมสินชุดใหม่ ที่มีสายตรงชินวัตรถึง 3 คน นั่งทำงาน
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 18 ต.ค.54 ที่ประชุม ครม. เห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารออมสินแทนกรรมการชุดเดิมที่ขอลาออก ประกอบด้วย 1.นางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการ 2. นายชนันท์ เพ็ชญไพศิษฏ์ กรรมการ 3. นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการ 4. น.ส.นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ กรรมการ
5. นายปสันน์ เทพรักษ์ กรรมการ 6.นายวีระพันธ์ จักรไพศาล กรรมการ 7. นายประเสริฐ หลุยเจริญ กรรมการ 8. นายเทอดศักดิ์ เหมือนแก้ว กรรมการ 9. นายอดุลย์ ตั้งศัตยาภิรมย์ กรรมการ 10. นายนันทพล กาญจนวัฒน์ กรรมการ และ 11. นายชานนท์ โชติวิจิตร กรรมการ
รายชื่อของคณะกรรมการชุดใหม่ ล้วนมีความใกล้ชิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะน.ส.นงลักษณ์ พินัยนิติศาสตร์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการบริษัท ไทยคม
นายปสันน์ เทพรักษ์ อดีตกงสุลใหญ่ สถานกงสุลไทย ณ เมืองดูไบ และอดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา ออสเตรเลีย อัครราชทูต ช่วยราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
นายชานนท์ โชติวิจิตร กรรมการอิสระของ บมจ .เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน).ประธานกรรมการตรวจสอบ บมจ.เอ็มลิงค์เอเชีย คอร์ปอเรชั่น
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสิน ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณาปลด นายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะครบวาระการทำงานในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยตั้งประเด็นว่า นายเลอศักดิ์ ผิดพลาดการทำงานจากการปล่อยสินเชื่อ ที่ส่วนใหญ่เป็นการปรับโครงสร้างหนี้ (รีไฟแนนซ์) ที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงมีการแต่งตั้งโยกย้ายพนักงานที่ไม่เป็นธรรม
การประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนการประชุมตามวาระปกติ ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่สามารถปลดเลอศักดิ์ได้
นั่นทำให้สหภาพพนักงานออมสินกว่า 1,000 คน ชุมนุมประท้วง เมื่อวันที่ 21 ก.พ.55 เวลา 12.29 น. นำโดย นายลิขิต กลิ่นถนอม ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจธนาคารออมสิน โดยได้ออกมารวมตัวกัน ที่ลานพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 บริเวณด้านหน้าธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนในการทำงาน เพื่อปกป้องธนาคารออมสิน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ก.พ. นางพรรณี สถาวโรดม ประธานกรรมการธนาคารออมสินได้เรียกประชุมคณะกรรมการเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อพิจารณา ปลดนายเลอศักดิ์ จุลเทศ ผู้อำนวยการธนาคารออกจากตำแหน่ง ก่อนที่จะครบวาระการทำงานในเดือนกรกฎาคมนี้
“ แม้สหภาพแรงงานฯ ไม่ต้องการเข้าไปล่วงเกินการทำงานของคณะกรรมการของธนาคารออมสินที่ตรวจสอบการทำงานผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร แต่เห็นว่าการตรวจสอบของคณะกรรมการฯ ดังกล่าวควรมีความหนักแน่น หาทางพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ได้อย่างชัดเจน โดยไม่พิพากษาล่วงหน้า และต้องไม่เชื่อเพียงข่าวลือ หากพบว่ามีบุคคลใดทำไม่ดีต่อองค์กรจริง ก็ไม่ควรอยู่ในธนาคารออมสินต่อไป” ลิขิต อธิบายสาเหตุการประท้วง
นั่นหมายความว่า ความแตกต่างระหว่างบอร์ด และผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ใกล้ถึงจุดแตกหัก
ไม่มีใครเชื่อว่า เลอศักดิ์ จะอยู่รอดถึงครบวาระ !!
แม้ผลการดำเนินงานของออมสิน ในปี 2553 มีกำไรสุทธิกว่า 1.94 หมื่นล้านบาท โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมกว่า 5.59 หมื่นล้านบาท
โดย ณ สิ้นปี 2553 ธนาคารมียอดสินเชื่อรวมกว่า 1.11 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่อยู่ที่ 7.81 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 42.3 % มียอดเงินฝากรวม 1.18 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.58 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.1 % มีเงินลงทุนสุทธิ 2.04 แสนล้านบาท ส่วนผลให้มีสินทรัพย์รวมกว่า 1.46 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.8 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 35.3 % และมียอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอลอยู่ที่ 1.35 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่ 1.24 % ลดลง จากปีก่อนที่อยู่ที่ 2.22 %
นั่นหมายความว่า ธนาคารที่มีสินทรัพย์กว่า 1.46 ล้านล้านบาท กำลังกลายเป็นแหล่งใช้เงินสำคัญของรัฐบาล
แต่ผู้นำแบงก์รัฐที่ไม่มีโอกาสรอดเลย น่าจะเป็น โสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์
โดยเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา “นริศ ชัยสูตร”ประธานคณะกรรมการธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ ได้แต่งตั้ง นายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหารเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธพว. ที่ส่อไปในทางทุจริต โดยเอื้อประโยชน์ให้กับบุคคลที่คุ้นเคย ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อธนาคาร และเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการธนาคาร กรณีอนุมัติสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำในโครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างงาน โดยกำหนดศึกษาให้ได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน
เช่น กรณีการปล่อยสินเชื่อคนว่างงานในปี 2552 ที่ได้รับเงินดอกเบี้ยต่ำจากกระทรวงอุตสาหกรรม วงเงิน 7,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่า ธนาคารปล่อยสินเชื่อจริงถึง 1.4 หมื่นล้านบาท ทำให้ธนาคารได้รับความเสียหายขาดทุนจากการดำเนินการดังกล่าว 700 ล้านบาท
ล่าสุด จากการตรวจสอบพบว่า ผู้บริหารธนาคารได้อนุมัติสินเชื่อที่มีวงเงิน 75 ล้านบาท เมื่อปลายปีที่ผ่านมา โดยเบื้องต้นผู้ขอสินเชื่อได้นำหลักทรัพย์คุณภาพดีมูลค่าเกินวงเงินสินเชื่อมายื่นขอกู้ แต่หลังจากที่ได้รับการอนุมัติก็มีการขอเปลี่ยนหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยนำที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีราคาต่ำกว่าสินเชื่อที่ได้รับมาใช้ค้ำประกันแทน
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ขอสินเชื่อได้มีการตกแต่งข้อมูลทางธุรกิจ เพื่อที่จะสามารถขอสินเชื่อได้จำนวนมาก และการขอสินเชื่อดังกล่าวมีคนกลางที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างผู้ขอสินเชื่อกับผู้บริหารที่อนุมัติสินเชื่อด้วย
" การดำเนินการปล่อยสินเชื่อที่ไม่เป็นปกติลักษณะดังกล่าวมีมากในธนาคาร โดยเฉพาะเมื่อปี 2546-2548 และหายไปช่วงปี 2549-2551 และตอนนี้เริ่มกลับมาอีกครั้ง หากปล่อยทิ้งไว้ไม่ทำอะไร จะทำให้ธนาคารเสียหายมีหนี้เสียเกินกว่าครึ่งเหมือนที่ประสบมาในอดีต"
โอกาสปิดตายจริงๆ สำหรับการนั่งบริหารเอสเอ็มอีแบงก์ของ โสฬส
ไม่เว้นแม้กระทั่งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงที่มี “อำนวย ปรีมนวงศ์” หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง ได้ตรวสอบการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) โดยจะตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าไปตรวจ พบว่า มีปัญหา จำนวน 12 โครงการ เป็นมูลหนี้ประมาณ 3,000 ล้านบาท โครงการที่มีการปล่อยกู้มากสุด มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านบาท
โดย ธปท. ตั้งข้อสังเกตว่า การปล่อยสินเชื่อของธนาคารไม่เป็นไปตามเงื่อนไข มีการประเมินหลักประกันสูงกว่าความเป็นจริง รวมถึงฝ่ายบริหารอนุมัติสินเชื่อไม่ตรงกับที่คณะกรรมการของธนาคารอนุมัติ
ทั้งนี้ ธปท. ได้ตรวจพบการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาของธนาคารอิสลามตั้งแต่ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นกระทรวงการคลังได้ให้คณะกรรมการไปดำเนินการตรวจสอบ ซึ่งมีนายวิจิตร สุพินิจ อดีตประธานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นประธานกรรมการตรวจสอบ ผลปรากฎว่า การปล่อยกู้ส่วนใหญ่ไม่มีปัญหา มีปัญหาเพียง 2 โครงการ แต่ ธปท. ได้ตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อของธนาคารทั้งหมดอีกครั้ง และยืนยันผลการตรวจสอบกลับมาที่คลังว่า การปล่อยสินเชื่อไม่ถูกต้อง ทำให้ธนาคารเสียหาย และอาจมีผู้บริหารของธนาคารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องทุจริตกับการปล่อยสินเชื่อดังกล่าว
ดูเหมือนว่า ชะตากรรมของผู้บริหารแบงก์ถูกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว !!?