ประธาน JFC เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรีไทย หารือความร่วมมือทางการเงิน พร้อมปล่อยกู้เป็นเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทย
วันนี้ (7 มี.ค.) เวลา 10.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ณ ห้อง Salon โรงแรมอิมพีเรียล ประเทศญี่ปุ่น นายโชซากุ ยาซูอิ ประธานบรรษัทการเงินญี่ปุ่น (Japan Financial Corporation - JFC) สาขากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าเยี่ยมคารวะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยมีคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าร่วมหารือด้วย
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวแสดงความยินดีที่มีโอกาสพบกับผู้แทนของ JFC ในการเยือนญี่ปุ่นครั้งนี้ และขอบคุณประธานบรรษัทฯ ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนความสัมพันธ์อันดีและยาวนานระหว่างสองประเทศ และในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำว่า SMEs ญี่ปุ่นในไทยมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตของทั้งไทยและญี่ปุ่น รัฐบาลจึงได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตอุทกภัยที่ผ่านมา ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนงานที่ชัดเจนในการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอุทกภัยและความเสียหายรุนแรงเช่นปีที่ผ่านมา โดยรัฐสภาได้อนุมัติงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
สำหรับการดูแลภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงถึงมาตรการการให้ความช่วยเหลือต่างๆ ที่สำคัญได้อนุมัติงบประมาณสำหรับเยียวยาและฟื้นฟูผู้ประสบภัยและภาคธุรกิจ รวมทั้งการอัดฉีดสภาพคล่องด้วยมาตรการสินเชื่อต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการ รวมทั้งสิ้นกว่า 3.82 แสนล้านบาท หรือ 1.26 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ จึงขอให้ญี่ปุ่นวางใจและมั่นใจได้ว่า รัฐบาลจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยเหลือเยียวยาธุรกิจญี่ปุ่นที่ได้รับผลกระทบอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกับธุรกิจไทย
นอกจากนี้ รัฐบาลตระหนักดีถึงภาระค่าใช้จ่ายของภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ที่ได้รับความเสียหายจาก อุทกภัย จึงจะช่วยรับภาระ 2 ใน 3 ส่วนของเงินลงทุนทั้งหมดในการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำสำหรับนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย และ 1 ใน 3 จะเป็นเงินกู้จากรัฐบาลภายใต้โครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท (1,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างในเดือนกุมภาพันธ์ และจะแล้วเสร็จใน เดือนสิงหาคมนี้
ด้าน การประกันภัย รัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท (1,667 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ได้รับความคุ้มครองทรัพย์สินและกิจการ โดยเบื้องต้นกองทุนจะให้ความคุ้มครองแบบจำกัดความรับผิด (Sub limit) ซึ่งกำหนดวงเงินสูงสุดที่กองทุนจะรับจ่ายค่าสินไหมทดแทนอยู่ที่อัตราร้อยละ 30 ของทุนประกันสำหรับแต่ละผู้ประกอบการ และมีแผนจะประกาศขายกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติภายในเดือนมีนาคม 2555
ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่าด้วยพื้นฐานเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพ และการ้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อช่วยเยียวยาภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ จึงคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และจะเติบโตประมาณร้อยละ 4.5-5 ในปี 2555 ในการนี้จึงต้องการส่งเสริมให้ภาคเอกชนญี่ปุ่นมาลงทุนในไทยให้มากขึ้น โดยเน้นอุตสาหกรรมหลัก 8 สาขา ได้แก่ 1) ยานยนต์ 2) ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 3) อากาศยาน 4) ผลิตภัณฑ์โลหะและชิ้นส่วนต่าง ๆ 5) การแปรรูปเกษตรและอาหาร 6) พลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 7) บริการ และ 8) ผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์
ประธานบรรษัทฯ ได้แสดงความยินดีและชื่นชมแนวทางและมาตรการการป้องกันอุทกภัยของรัฐบาลว่ามีความชัดเจนและแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ จึงเชื่อว่าอุทกภัยที่จะส่งผลกระทบเช่นที่ผ่านมาจะไม่เกิดขึ้นอีก และได้แสดงความขอบคุณนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไทยที่ให้การดูแลและช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรม SMEs ของญี่ปุ่นมาโดยตลอด โดยเฉพาะมาตรการความช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย
ทั้งนี้ ภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยในไทย JFC ได้ให้ความร่วมมือทางการเงินแก่ SMEs ของญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจในไทยซึ่งประสบอุทกภัย โดยการให้เงินกู้วงเงินจำนวน 720 ล้านเยน แก่บริษัทแม่ในญี่ปุ่นเพื่อนำไปฟื้นฟูบริษัทสาขาในไทย รวมทั้งการดำเนินการปล่อยกู้เป็นเงินบาทผ่านธนาคารพาณิชย์ของไทย เพราะเห็นว่าไทยเป็นฐานการผลิตที่มีอุตสาหกรรมสนับสนุน (supporting industries) ที่ครอบคลุม มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพรียบพร้อม มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงพร้อมที่จะสนับสนุนการลงทุนและการขยายการลงทุนของ SMEs ญี่ปุ่นในไทยต่อไป