xs
xsm
sm
md
lg

นักลงทุนเผ่นหนีนิคมฯ น้ำท่วม ไม่มั่นใจแผนป้องกัน “สหรัตนนคร” หายไปเกือบ 50%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิคมฯ “สหรัตนนคร” ผวาถูกทิ้งร้าง นักลงทุนเผ่นหนีเกือบครึ่ง หลังไม่มั่นใจแผนป้องกันน้ำ ด้านนิคมฯ บางปะอิน นำร่องสร้างเขื่อนแล้วเป็นรายแรก ขณะที่นิคมฯ บางปะอิน ลุยเอง ไม่รอเงินออมสิน นายแบงก์ แนะรัฐบาลเร่งสร้างระบบป้องกันภัยและบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ “พงษ์สวัสดิ์” เร่งภารกิจแรกฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน พร้อมหารือคลังเร่งตั้งกองทุนประกันภัยน้ำท่วม และจี้ออมสินปล่อยกู้

นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ หัวหน้าคณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร เปิดเผยว่า ขณะนี้มีโรงงานในนิคมฯ สหรัตนนครได้ประกาศขายโรงงานรวมถึงการย้ายออกจากพื้นที่นิคมฯ แล้ว ประมาณ 14 รายจากทั้งหมดที่มีอยู่ 43 โรงงาน หลังจากที่นักลงทุนยังกังวลเกี่ยวกับแผนป้องกันน้ำของนิคมฯ ที่ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า โดยส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนญี่ปุ่น และย้ายโรงงานไปยังจังหวัดสระบุรี ลพบุรี และภาคตะวันออกของไทย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการย้ายออกไปแบบชั่วคราว เพราะยังมีคำสั่งซื้อเดิมอยู่ก่อนที่จะหาพื้นที่ถาวรต่อไป

“นักลงทุนไม่มั่นใจว่าน้ำจะไม่ท่วมอีกในปีนี้ เพราะผู้พัฒนานิคมฯ ยังอยู่ในแผนฟื้นฟูกิจการ จึงไม่สามารถขอสินเชื่อในการสร้างเขื่อนได้คล่องตัวเหมือนกับนิคมฯ แห่งอื่น เพราะต้องรอเจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบก่อน ขณะเดียวกัน ยังโรงงานอีก 3 แห่ง ยังไม่ได้ส่งพนักงานมาทำความสะอาดและฟื้นฟูกิจการหลังจากที่ประสบปัญหาน้ำท่วม และที่สำคัญ ยังไม่สามารถติดเจ้าของกิจการได้เลย ซึ่งคาดว่านักลงทุนคงอยู่ระหว่างการรอแผนการป้องกันน้ำของผู้พัฒนานิคมก่อน แต่เชื่อว่าคงจะมีแนวโน้มที่จะย้ายโรงงานไปที่อื่นเช่นกัน”

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ที่ย้ายออกจากพื้นที่จะเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น โดยย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสระบุรี, ลพบุรี และภาคตะวันออกของไทย เนื่องจากหลายโรงงานมีคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) อีกมาก จึงจำเป็นต้องหาที่ผลิตชั่วคราวก่อนที่จะย้ายไปที่อื่นอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีโรงงาน 3 แห่งที่ยังไม่ได้ทำความสะอาดหรือฟื้นฟูหลังน้ำลด และไม่สามารถติดต่อเจ้าของได้ คาดว่า มีแนวโน้มจะย้ายไปที่อื่น

นอกจากนี้ โรงงานที่ย้ายออกไปยังมีการประกาศขายพื้นที่ก่อนย้ายออกไป ส่วนโรงงานที่มีการเช่าพื้นที่อยู่ ก็ทราบว่าเดือนมีนาคม 2555 นี้ หลายรายก็จะไม่จ่ายค่าส่วนกลางแล้ว ขณะที่อีก 16 รายที่เหลือยังอยู่ระหว่างการปรับปรุงพื้นที่ คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2555 ส่วนที่เหลือก็เริ่มเดินเครื่องแล้ว

สำหรับแผนการสร้างเขื่อนป้องกันนำของนิคมฯ สหรัตนนคร เบื้องต้นผู้พัฒนานิคมยื่นขอกู้เงินจากธนาคารออมสิน 240 ล้านบาท ระยะทาง 8 กม.ในพื้นที่ 1,100 ไร่ แต่ยังมีพื้นที่อีก 300 ไร่ ที่เป็นพื้นที่ว่างที่ผู้พัฒนานิคมยังไม่สามารถสร้างเขื่อนได้ เพราะต้องรอเจ้าหนี้พิจารณาอีกรอบ

นายสมเกียรติ ภู่ธงชัยฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมบางปะอินได้เริ่มก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำรอบพื้นที่นิคมฯ แล้ว เพื่อเร่งดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2555 นี้ ล่าสุดเริ่มก่อสร้างไปแล้วระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยมีความสูงกำแพงคอนกรีต 6.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง จากระยะทางทั้งหมด 11 กิโลเมตร โดยผู้พัฒนานิคมได้ใช้งบประมาณของบริษัทดำเนินการไปก่อนก่อนที่ธนาคารออมสินจะอนุมัติเงินกู้ 700 ล้านบาท เพราะหากรอให้ธนาคารอนุมัติเงินแล้วสร้างภายหลังจะเสร็จช้าอาจไม่ทันรับมือกับฤดูฝนที่กำลังจะมา

การก่อสร้างเขื่อนของนิคมฯ บางปะอิน ถือเป็นการดำเนินการแห่งแรกของนิคมฯ อุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่งที่ถูกน้ำท่วม ซึ่งนักลงทุนที่อยู่ในนิคมฯ จำนวน 90 ราย ได้แสดงความมั่นใจในผู้พัฒนานิคมฯ อย่างมากหลังจากที่สามารถก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำได้อย่างรวดเร็ว

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในปี 2555 เศรษฐกิจโลกยังมีความวุ่นวาย เนื่องจากเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะได้ และจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจไทย แต่ที่น่ากังวลคือปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะเกิดขึ้นอีก ซึ่งรัฐบาลต้องเร่งสร้างระบบป้องกันและบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ

ส่วนทีมเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลนั้น ตนเองเห็นว่าทุกคนมีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกบริหารประเทศชาติอย่างไร ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าเมื่อทำไปแล้วผลที่ได้รับจะดีหรือเลวอย่างไรนอกจากจะได้ปฏิบัติไปแล้ว

“นักเศรษฐศาสตร์สองคนคุยกัน ตัวเลขก็ไม่เหมือนกันแล้ว ใครจะไปรู้ว่าทำแบบนี้แล้วดีหรือไม่ดี มันขึ้นอยู่กับดุลพินิจของใคร ซึ่งมันต้องมีการตัดสิน รัฐบาลต้องตัดสินไม่งั้นยืดเยื้อเรื่องไม่จบ ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนไม่เห็นด้วยจะโวยวาย คนที่เห็นด้วยก็สนับสนุน มันเป็นครรลองสังคมไทย”

ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวภายหลังการเข้าทำงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมวันแรก วานนี้ โดยยืนยันว่า ตนเองจะยังคงสานต่อนโยบายของ น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่ที่จะเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมอันดับแรก คือ การฟื้นฟูความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศจากภาวะอุทกภัยในไทย ทั้งการโรดโชว์ดึงความเชื่อมั่น และการสนับสนุนผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและเขตประกอบการในการสร้างระบบป้องกันอุทกภัยให้ทันรองรับฤดูฝนที่กำลังจะมาช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน 2555

โดยภารกิจแรก จะเดินทางไปอินเดียร่วมกับคณะของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ระหว่าง 23-27 มกราคม 2555 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้จัดคณะนักธุรกิจไทย ร่วมเดินทางไปพบกับนักธุรกิจอินเดีย และจะใช้โอกาสนี้ สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในไทยและชักชวนนักธุรกิจอินเดียเข้ามาลงทุนยังไทยให้มากขึ้นจากปัจจุบันอินเดียมีการลงทุนในไทยประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท เพราะไทยมีอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเคมี

สำหรับการสนับสนุนผู้พัฒนานิคมฯ เขตประกอบการ สวนอุตสาหกรรม ในการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม เบื้องต้นนอกเหนือจากการสนับสนุนเงินกู้จากธนาคารออมสิน วงเงิน 15,000 ล้านบาทแล้ว ยังได้หารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ที่จะให้กองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติที่มีการออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินประเดิมตั้งกองทุนจำนวน 50,000 ล้านบาท สนับสนุนในการรับช่วงประกันภัยน้ำท่วมต่อจากบริษัทประกันภัย เพื่อลดภาระให้เอกชนที่ขณะนี้บริษัทประกันภัยต่างชาติคิดเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมสูงจากปกติถึง 6 เท่า
กำลังโหลดความคิดเห็น