xs
xsm
sm
md
lg

อย่าพูดด้านเดียว

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

แม้จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ทั้งในประเด็นล้างผลของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์รวมทั้งสถาบันอื่น ๆ ตามโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ที่เสนอออกมา แต่ผมก็เห็นว่าเป็นข้อเสนอที่สมควรรับฟัง พิจารณา และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ด้วยเหตุด้วยผล ด้วยสติปัญญา มากกว่าด้วยอารมณ์และการบริภาษด้วยคำหยาบแต่เพียงสถานเดียว ไม่ต้องพูดถึงท่าทีเชิงข่มขู่คุกคามและแนวคิดแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

ไม่อยากเห็นใเหตุการณ์ทำนอง “6 ตุลาคม 2519” ย้อนกลับมาเกิดซ้ำสอง !

เพราะความรุนแรงและการเข่นฆ่ากันเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าผลในเบื้องต้นจะเป็นอย่างไร แต่ “บาดแผล” มันจะติดตรึงไปส่งผลในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน 30 – 40 ปีข้างหน้าได้ เราอาจจะ “ชนะชั่วคราว” ในวันนี้ เพื่อที่จะ “พ่ายแพ้ถาวร” ในอนาคต !!


เหมือนกับคนที่ถูกกระทำในการฆาตกรรมกลางเมืองเมื่อเกือบ 36 ปีก่อนกำลัง “ชำระล้างบาดแผล” นั้นโดยการเข้าไปนำทางความคิดในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งใหม่ 5 – 6 ปีมาแล้วต่อเนื่องมาถึงวันนี้

และการชำระล้างบาดแผลในบริบทของประเทศและโลกยุคปัจจุบันจะไม่ใช้เวลาถึง 30 – 40 ปีแน่

ตรรกะที่ผมใช้ “ตอบ” (หรือ “โต้”) คณะนิติราษฎร์มีสั้น ๆ ง่าย ๆ

อย่าพูดด้านเดียว !

ถ้าจะคุยกันต้องเริ่มต้นด้วยพูดทั้ง 2 ด้านก่อน !!


แน่นอนว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เมื่อมองย้อนหลังไปจากวันนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ได้ไม่คุ้มเสีย สร้างปัญหาใหม่เข้าไปผสมผสานกับปัญหาเดิมที่ยังคงดำรงอยู่ มีส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเดินหน้าเข้าสู่มหาวิกฤตบนเส้นทางที่จะนำไปสู่ ยุคใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้รัฐบาลที่ถูกโค่นล้มไปจากปรากฏการณ์ดังกล่าวมีความถูกต้องชอบธรรมขึ้นมา

รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กับ “ระบอบทักษิณ” เป็นคนละเรื่องกัน

ต่างมีความดีความเลวความถูกความผิดในตัวของตัวเอง ความเลวความผิดของสิ่งหนึ่งไม่อาจทำให้อีกสิ่งหนึ่งเป็นความดีความถูกขึ้นมาได้

ภาพลักษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคือนักธุรกิจที่มีวิสัยทัศน์ มีสายตาแหลมคมในการทำธุรกิจ เมื่อมาเป็นนักการเมืองก็สามารถใช้อำนาจรัฐอย่างแยบยล เล่นกับอำนาจและทรัพยากรเป็น แถมยังสามารถใช้นโยบายทางเศรษฐกิจสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชนกลุ่มด้อย โอกาส โดยเฉพาะในภาคอีสานที่เป็นฐานใหญ่รองรับการขึ้นสู่อำนาจของนักการเมืองทุกยุคทุกสมัย ในยุคเรืองอำนาจ ผู้นำอาเซียนชาติอื่น ๆ ก็จับจ้องอยู่ บางคนอาจจะชอบบางคนไม่ชอบ คำว่า “ทักษิโณมิกส์” ที่เราท่านคุ้นกันดีปรากฏเป็นครั้งแรกโดย นางกลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในสุนทรพจน์งานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปก) เมื่อปี 2546 นัยว่าเพื่อยกย่องให้เกียรตินายกรัฐมนตรีไทย

แต่คำยกย่องในงานเลี้ยง กับความเป็นจริงที่คนไทยสัมผัสแตกต่างกัน

มีนักวิชาการหลายคนแจกแจงลักษณะของ “ทักษิโณมิกส์” หรือ “ระบอบทักษิณ” ได้ลุ่มลึกชัดเจน แต่ที่ผมใช้อ้างอยู่บ่อย ๆ คือคำอธิบายของนายคณิน บุญสุวรรณ อดีต ส.ส.ร.ผู้ทำคลอดรัฐธรรมนูญ 2540

เขาบอกว่า “ทักษิโณมิกส์” มีลักษณะ 10 ประการ โดยบัญญัติศัพท์เรียกว่า “ทศลักษณ์ทักษิโณมิกส์” ในหนังสือ “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ตีพิมพ์ในราวปี 2547 โดยสำนักพิมพ์ของดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่เริ่มจัดพิมพ์หนังสือ “รู้ทันทักษิณ” ขึ้นมาเป็นเล่มแรกในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน ทั้งสองเป็นปรากฏการณ์ก่อนเกิด “ปรากฏการณ์สนธิ” ประมาณ 1 ปี และก่อนเกิด “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” เกือบ 2 ปี คำว่า “รัฐธรรมนูญตายแล้ว” ในความหมายนี้คือ...

“รัฐธรรมนูญ 2540 ตายแล้ว - ตายโดยการกระทำในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร”

ขอเพียงยกที่สำคัญๆ แต่เพียงหัวข้อ เช่น

- การบริหารประเทศไปด้วย ขยายอาณาจักรทางธุรกิจของครอบครัวและพวกพ้องของตนไปด้วย,

- แปลงรัฐธรรมนูญให้เป็นเครื่องมือของเผด็จการรูปแบบใหม่ หรือเผด็จการสายพันธุ์ใหม่ เพื่อนำพาประเทศให้เป็นเสมือนการปกครองในระบบประธานาธิบดี,

- การใช้การตลาด การโฆษณาชวนเชื่อ และ “เงิน” เป็นกลไกหลักในการบริหารประเทศ,

- เป็นผู้นำประเภท “5 เร็ว” คือ คิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว เปลี่ยนเร็ว ลืมเร็ว,

- การเล่นพรรคเล่นพวก การเลือกปฏิบัติ

- การครอบงำกลไกการตรวจสอบทั้งวุฒิสภาและองค์กรอิสระ


ไล่เรื่อยมาถึงประการสุดท้ายประการที่ 10 คือ...

- สร้างนวัตกรรมทางการเมืองใหม่ ภายใต้การกำกับดูแลของอาณาจักรทางธุรกิจ พยายามทำให้ตนเองและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของระบอบ โดยทำพรรคการเมืองให้เป็นเหมือน “เปลือกหอยที่ห่อหุ้มอาณาจักรชิน” ใช้พรรคการเมืองเป็นเครื่องมือเข้ายึดครองอำนาจเบ็ดเสร็จ ตัดตอนการตรวจสอบถ่วงดุล จากนั้น ใช้ครอบครัวและวงศ์วานว่านเครือเป็นศูนย์กลางคอยใช้อำนาจและเก็บเกี่ยวผล ประโยชน์จากการใช้อำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน

ทั้งหมดผมไม่ได้ว่าเองนะครับ คัดมาจากหนังสือเล่มนี้ที่ควรกลับไปอ่านอีกครั้งทั้งนั้น

จะว่าไปแล้วการเกิดขึ้นของ “ระบอบทักษิณ” ก็ไม่ใช่ไร้ที่มาที่ไป

ความล้มเหลวของระบอบการเมืองเดิมที่มีความเป็นประชาธิปไตยแค่รูปแบบ รูปแบบที่มีการเลือกตั้ง มีสภา และมีวาทกรรมต่าง ๆ ที่เสมือนเป็นประชาธิปไตย แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ช่วยเป็นปุ๋ยบำรุงพืชพันธุ์ “ระบอบทักษิณ” ในช่วงต้น ๆ

หรือพูดให้แคบลงมาก็ต้องบอกว่า ความล้มเหลวของพรรคประชาธิปัตย์ช่วยให้ “ระบอบทักษิณ” เกิดและเติบโต

ตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงกลางปี 2554 แม้ประเทศนี้ไม่มี “ระบอบทักษิณ” แต่สังคมไทยก็ย้อนกลับไปสู่จุดเดิมของระบอบการเมืองที่ล้มเหลว จึงไม่แปลกที่หลังเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา “ระบอบทักษิณ” จะกลับมาอีก

จริงๆ แล้ววันนี้ประเทศไทยต้องการการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง จะเรียกว่า “การปฏิรูปใหญ่” หรือ “การปฏิวัติ” ก็สุดแท้แต่ !

ประเทศไทยมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ในระดับปฏิวัติมาครั้งหนึ่งในรัชสมัย รัชกาลที่ 5 อาจจะถือตลอดรัชสมัยของพระองค์ หรือจะถือปีปฏิรูประบบราชการครั้งใหญ่ในปี 2435 ก็ได้ เป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างชนิดเกือบจะรอบด้าน จากนั้นก็มีการรัฐประหารของข้าราชการทหารพลเรือนที่มีลักษณะปฏิวัติเมื่อวัน ที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่จากนั้นเพียงไม่ถึง 1 ปีก็เกิดการรัฐประหารเงียบ แล้วก็รัฐประหารกลับ และเกิดการต่อสู้กันในหมู่คณะที่ก่อการมาด้วยกันจนเกิดการรัฐประหารครั้งสำคัญในปี 2490 ประชาธิปไตยที่ได้มาจึงมีเพียงรูปแบบ ทั้งครึ่ง ๆ กลาง ๆ และลุ่ม ๆ ดอน ๆ ต่อเนื่องกันมาจนถึงปี 2500 ก็เกิดการรัฐประหารพลิกประเทศกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร เสียเกือบ 20 ปี การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบไทย ๆ จึงกลับมาอีกครั้งแต่ก็ไม่ยั่งยืน สภาพทางเศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปไกลบนหนทางทุนนิยมเสรี แต่สภาพทางการเมืองระบอบประชาธิปไตยยังพิกลพิการ ลักษณะขัดแย้งกันเช่นนี้คือบ่อเกิดแห่งความรุนแรงที่คุกรุ่นมาโดยตลอด หลังการนองเลือดเดือนพฤษภาคม 2535 เราพูดกันมากถึงการปฏิรูปการเมือง และการปฏิรูปสื่อวิทยุโทรทัศน์ ผลที่ได้ล่าช้าและเบี่ยงเบนไปจากวัตถุประสงค์เดิม รัฐธรรมนูญ 2540 แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี แต่ก็ถูกนายทุนที่มั่งคั่งที่สุดคนหนึ่งของประเทศที่เข้ามาแสวงอำนาจทางการ เมืองอาศัยช่องว่างบิดเบือนจนตายไปก่อนที่จะถูกฉีกในการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ไม่ต่ำกว่า 2 ปี และตั้งแต่ปลายปี 2551 จนถึงกลางปี 2554 เรามีการนองเลือดถึง 2 ครั้งในเดือนเมษายน 2553 และเดือนพฤษภาคม 2553 แต่รัฐบาลก็ไม่ใช้โอกาสนั้นดำเนินการปฏิรูปใหญ่

มาร่วมกันหาหนทางไปสู่อนาคตได้ครับแม้จะมีความเห็นต่างกัน

แต่...หยุดฉ้อฉลด้วยการพูดความจริงครึ่งเดียวก่อน !
กำลังโหลดความคิดเห็น