ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย : ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา ได้เขียนข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวเมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2555 ต่อกรณีข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เอาไว้อย่างน่าสนใจว่า:
“การเสนอแต่ด้านปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ศาล กองทัพ เลิกองค์กรอิสระ เพียงด้านเดียว โดยไม่เสนอปฏิรูปด้านที่อัปลักษณ์ของการที่กลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองอาศัยการเลือกตั้งเป็นพิธีกรรมชุบตัวเข้ามาบิดเบือนการใช้อำนาจสารพันแปรระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเข้าของพรรคการเมืองพร้อมกันไปด้วย ก็คือข้อเสนอกระชับอำนาจให้แก่ระบอบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมืองในนามของระบอบประชาธิปไตย/ ผมตอบไม่ได้จริงๆว่า คณะนิติราษฎร์บริสุทธิ์ ไร้เดียงสาสุดๆ หรือฉ้อฉลสุดๆ กันแน่ ??”
การตั้งคำถามให้สังคมได้คิดว่าคณะนิติราษฎร์ มีความไร้เดียงสาสุดๆ หรือ ฉ้อฉลสุดๆ กันแน่นั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะถ้ามีประเด็นให้คิดได้ว่านักวิชาการกลุ่มนี้อ่อนด้อยประสบการณ์และไม่รู้ความเลวร้ายในระบอบเผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์แห่งระบอบทักษิณจึงหลงติดอยู่ในรูปแบบในการทำลายล้างแค้นเผด็จการทางทหารแต่เพียงอย่างเดียว หรือจริงๆแล้วรู้ดีแต่ต้องการเสนอเพื่อให้ระบอบเผด็จการรัฐสภายึดอำนาจประเทศนี้ไปเป็นเผด็จการทางรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์ของระบอบทักษิณให้เต็มที่ยิ่งขึ้นไปมากกว่าเดิม !?
ในการนี้เห็นทีจะมองข้ามไปไม่ได้เลย เพราะหนึ่งในข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2555 ซึ่งนำโดย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอในข้อ 9. เรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตยขององค์กรตุลาการ ที่เสนอว่า:
“ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา”
ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ จะไม่รู้เชียวหรอกหรือว่า หากให้ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ถูกเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรีเสียแล้ว ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูงจะไปตรวจสอบนักการเมืองที่เสนอชื่อตัวเองมาได้อย่างไร?
คำถามคือในประเด็นนี้ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ไร้เดียงสาสุดๆ หรือ ฉ้อฉลสุดๆ กันแน่ เราอาจจะหาคำตอบส่วนหนึ่งจากบทความและงานเขียนของ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ในอดีต ต่อกรณีนี้ว่ามีงานเขียนหรือการแสดงความเห็นทางวิชาการที่อยู่กับร่องกับรอยหรือไม่ และมีความมั่นคงในความเชื่อของตัวเองจริงหรือไม่!?
ปรากฏเป็นหลักฐานในบทความ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ในหนังสือ “รู้ทันทักษิณ 2 ถึงมาเหนือเมฆก็รู้ทัน” ของสำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน พิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2547 โดยบทความดังกล่าวชื่อว่า “โครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญกับอำนาจของนายกฯ ทักษิณ” ที่เข้าใจเรื่องเทียบเคียงทำนองนี้ได้ดี
เพราะในงานเขียนครั้งนั้นอย่าว่าแต่ผู้พิพากษาเลย เอาเฉพาะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญทั้งหลาย ซึ่งวิธีการคัดสรรบุคคลากรต้องผ่านการคัดทิ้งบุคคลโดยพรรคการเมือง และต้องคัดสรรจากสมาชิกวุฒิสภา (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นญาติพี่น้อง เมีย หรือลูกหลานนักการเมืองที่เป็น ส.ส.) นั้น ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ก็แสดงความเห็นอย่างชัดเจนเอาไว้ต่อกรณีดังกล่าว ความปรากฏบางตอน เมื่อ ปี พ.ศ. 2547 ดังนี้
“นอกเหนือจากกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจของฝ่ายบริหารจะมีปัญหาแล้ว กระบวนการในการสรรหาบุคคลเข้าสวมตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ครั้งหลังๆที่กรรมการสรรหาในส่วนที่มาจากพรรคการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นคนจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น โดยไม่มีผู้แทนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมเป็นกรรมการเลย
และโดยสัดส่วนของจำนวนผู้แทนพรรคการเมืองที่อยู่ในกรรมการสรรหา หากผู้แทนพรรคการเมืองร่วมกันออกเสียงคัดค้านผู้สมัครคนใดก็ตามที่สมัครเข้าดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระอื่น เช่น ป.ป.ช. หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งอ (กกต.) ย่อมยากเย็นหรือกระทั่งว่าเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สมัครผู้นั้นจะผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหาไปได้
กลไกและกระบวนการคัดเลือกที่เปิดช่องให้การเมืองเข้าแทรกได้เช่นนี้ ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองอย่างยิ่ง
โดยกลไกและกระบวนการคัดเลือกเช่นนี้ เราย่อมคาดหมายได้ว่า ในอนาคตผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจบริหาร ย่อมต้องเป็นบุคคลที่อย่างน้อยที่สุด พรรคการเมืองร่วมรัฐบาลไม่คัดค้าน มิพักต้องกล่าวถึงว่า บุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลที่รัฐบาลส่งเข้าไปในองค์กรอิสระหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ผู้ซึ่งทรงอำนาจทางการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีต้องการ
ก็เมื่อคนในองค์กรตรวจสอบ (องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ) สัมพันธ์กับองค์กรที่ถูกตรวจสอบ (รัฐบาล) เสียแล้ว เราย่อมคาดหมายผลการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหารหรือตัวบุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางบริหารในอนาคตได้ว่าจะเป็นเช่นใด
กลไกการตรวจสอบที่บกพร่อง หรือที่มีช่องโหว่ให้นักการเมืองเข้าแทรกได้ดังเช่นที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ย่อมเป็นปัจจัยโดยอ้อมส่งให้นายกฯทักษิณ ทวีอำนาจขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย...
กล่าวได้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับอานิสงค์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างเต็มที่ และทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถเปลี่ยนโฉมหน้าการเมืองไทยไปจากเดิมอย่างมาก อย่างที่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดที่มาจากการเลือกตั้งทำได้มาก่อน
แม้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะได้สร้างองค์กรและกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นมากมายก็ตาม แต่โดยกลไกที่ถูกสร้างขึ้นนั้นยังมีปัญหาในหลายจุด ประกอบกับกระบวนการสรรหารบุคคลเข้าสวมตำแหน่งในองค์กรอิสระ ซึ่งในระยะหลังเป็นกระบวนการที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจอย่างมากในการกำหนดความเป็นไป องค์กรและกลไกการตรวจสอบที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญจึงไม่มีพลังเพียงพอในการเหนี่ยวรั้งอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรีไว้ได้
ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนกลไกในส่วนนี้ ในอนาคตองค์กรอิสระย่อมจะกลายเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสถานะของนายกฯ ให้มั่นคงหนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกโดยไม่มีข้อกังขา
โครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างความเข้มแข็งให้กับนายกรัฐมนตรีมากขนาดที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ เป็นโครงสร้างและกลไกที่สมควรปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เราให้ระมัดระวังอยู่เสมอว่า อย่าปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งในบ้านเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะอำนาจเด็ดขาดของผู้ปกครองนั้น ไปด้วยกันไม่ได้กับการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่
และอำนาจเด็ดขาดนั้นย่อมจะย้อนกลับมาทำร้ายประชาราษฎรไม่วันใดก็วันหนึ่ง !
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญเพื่อส่งเสริมให้เกิดดุลยภาพทางการเมืองใหม่นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้ หากเราไม่ต้องการเห็นประเทศเดินไปในหนทางของการมีพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียวภายใต้บัญชาการของคนๆเดียว ครอบงำระบบการเมืองการปกครอง และระบบคิดทั้งหมด
ณ วันนี้ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปการเมืองอีกครั้งหนึ่ง !”
นั่นเป็นบทความที่ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ พ.ศ. 2547 แสดงให้เห็นถึงอันตรายอย่างใหญ่หลวงในการที่ “องค์กรตรวจสอบอิสระตามรัฐธรรมนูญ” ไม่มีทางตรวจสอบได้หากใช้ระบบที่นักการเมืองโดยรัฐบาลมาเกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่ง ดร.วรเจตน์ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน
จึงย่อมตั้งคำถามว่า เหตุใดบริบทการเสนอของคณะนิติราษฎร์ ซึ่งนำเสนอโดย ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เมื่อ พ.ศ. 2555 กลับปล่อยให้ผู้พิพากษาศาลสูง และตุลาการสูงถูกเสนอชื่อโดยนักการเมืองในคณะรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารโดยตรง ซึ่งถือว่าเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม
ผมได้แต่คิดว่าเหตุใดการแสดงความเห็นทางวิชาการของคนๆเดียวกันและในหัวข้อเดียวกัน จึงไม่อยู่กับร่องกับรอย แล้วจะไปเป็นอาจารย์สอนให้นิสิตนักศึกษาเข้าใจได้อย่างไร !!!?
และได้คิดต่อว่าหาก ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ มีความบริสุทธิ์ใจจริง เหตุใดจึงไม่คิดหาโมเดลกำจัดทั้งเผด็จการทหาร พร้อมๆกับกำจัดป้องกันเผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์แห่งระบอบทักษิณไปด้วย แต่กลับทำตรงกันข้ามในการเพิ่มอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้กับนักการเมืองแห่งเผด็จการทางรัฐสภาให้มากยิ่งขึ้น จริงหรือไม่ ?
จึงได้แต่ปล่อยให้ผู้อ่านได้ใช้วิจารณญาณและ ตอบคำถามเอาเองว่า ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นนักวิชาการไร้เดียงสาสุดๆ หรือ ฉ้อฉลรับใช้เผด็จการรัฐสภาโดยทุนนิยมสามานย์แห่งระบอบทักษิณสุดๆ หรือไม่ !?