xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” เปิดหลักฐาน “วรเจตน์” เปล่าไร้เดียงสา ส่อเจตนารับใช้ “แม้ว”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ปานเทพ” เปิดบทความ “วรเจตน์” เคยซัดระบอบทักษิณแทรกแซงองค์กรอิสระ สร้างความแข็งแกร่งให้อำนาจตัวเอง ถึงขั้นเรียกร้องปฏิรูปการเมือง แต่วันนี้กลับเสนอให้ ครม.แต่งตั้งตุลาการ ตั้งข้อสงสัยแนวคิดเปลี่ยน เพราะเผลอเรอ หรือรับใช้ฝ่ายการเมืองกันแน่ “ศาสตรา” ชี้ข้อเสนอ “นิติราษฎร์” เห็นชัด หวังแก้ รธน.โดยยกเลิกหมวด 2 ว่าด้วยเรื่องพระมหากษัตริย์ เพื่อลดฐานะให้เท่าเทียมสถาบันการเมือง

 คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “คนเคาะข่าว”  

วันที่ 25 ม.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รศ.ทวีศักดิ์สูทกวาทิน ประธานสภาคณาจารย์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และนายศาสตรา โตอ่อน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมในรายการ “คนเคาะข่าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ ASTV

นายปานเทพกล่าวว่า จากสิ่งที่นิติราษฎร์เสนอ ตนเชื่อว่าจะได้เผด็จการรัฐสภาอย่างสมบูรณ์โดยทุนนิยมสามานย์สุดขั้วและทุกมิติ เขาไม่รู้หรือว่าจะกลับไปสู่เผด็จการรัฐสภา ส่วนที่ออกตัวว่ารู้ แต่สามารถจัดการที่หลังได้ เขาจะจัดการด้วยวิธีไหน ถ้าคิดอย่างนั้นจริงถือว่าอยู่ในบริบทที่น่าสงสารของนักวิชาการ ที่ไม่ได้อยู่ในโลกของความเป็นจริง

นายวรเจตน์ให้สัมภาษณ์กับมติชน ต่อคำถามที่ว่าสิ่งที่นิติราษฎร์กำลังทำอยู่หวังผลประโยชน์จากพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ นายวรเจตน์ตอบว่า “สิ่งที่เราทำอยู่นั้นมาจากมโนสำนึกของเรา ถ้าเราไม่ทำในสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ เรามองหน้าในกระจกไม่ได้ เท่ากับว่าเราเลือกไปในอีกข้างแล้วหากเราอยู่เฉยกับความอยุติธรรมในสังคม นี้  หลายคนที่เวลาเลือกแล้วมันมีความแตกต่างอย่างชัดเจนก็คือ เวลาที่อีกฝ่ายเลือกเข้าได้ประโยชน์ เงิน ตำแหน่งต่างๆ หลังจากที่เขาเลือกข้างไปแล้ว แต่นิติราษฎร์เลือกไปยืนฝั่งตรงข้ามซึ่งเราไม่ได้อะไรเลย เงินก็ไม่ได้รับ ตำแหน่งทางการเมืองหรือวิชาการก็ยังอยู่กับที่ นอกจากไม่ได้อะไรแล้วเรายังต้องเสียเงินเพื่อต้องการบรรลุในสิ่งที่เราทำ ผมพูดตรงๆ เปิดใจเลยนะ ถ้าผมไปเชียร์รัฐประหาร ไปเป็นคนร่างรธน.หลังจากรัฐประหาร ผมว่าผมคงได้อะไรมากกว่าที่เป็นอยู่แน่นอน อาจจะได้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือวิชาการมากมาย แต่ที่ผมเลือกอยู่ข้างนี้ ผมไม่ได้อะไรเลยนอกจากว่าความรู้สึกที่ว่าเราได้ทำตามหลักการในสิ่งที่เรา เรียนมาในเรื่องกฎหมายมหาชน รู้สึกได้ทำในสิ่งที่มันถูกต้อง ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพและประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ ผมรู้สึกสลดใจกับสังคมนะ ในขณะที่ข้างหนึ่งได้ประโยชน์เห็นจากการทำรัฐประหาร ไม่มีสื่อไหนมาตรวจสอบ กลุ่มปัญญาชน นักวิชาการเงียบสนิท ฝ่ายผมที่ไม่เคยได้อะไรเลย ทำไปจากอุดมการณ์กลับถูกกล่าวหา ป้ายสีอยู่ตลอดเวลา ว่าทำเพื่อทักษิณ ทั้งชีวิตผมจนถึงตอนนี้ยังไม่เคยคุยกับทักษิณเลย”

แสดงว่านายวรเจตน์กำลังจะบอกว่าการทำลายผลพวงของรัฐประหารต้องได้สิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่จะสะท้อนแนวคิดนายวรเจตน์ว่าไร้เดียงสาหรือรู้อยู่แล้วว่าจะได้อะไรกลับมา ในกรณีข้อเสนอข้อ 9 ให้ผู้พิพากษาศาลสูงและตุลาการศาลสูง ต้องได้รับการเสนอชื่อโดยคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา

ทีนี้กลับไปดูสิ่งที่นายวรเจตน์เคยเขียนไว้ในหนังสือรู้ทันทักษิณ 2 เมื่อปี 2547 โดยเขียนถึงองค์กรอิสระว่า “นอกเหนือจากกลไกตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะมีปัญหาแล้ว กระบวนการในการสรรหาบุคคลเข้าสวมตำแหน่งในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็มีปัญหาเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากการสรรหาบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือเป็นกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ  ครั้งหลังๆ ที่กรรมการสรรหาในส่วนที่ได้มาจากพรรคการเมือง ล้วนแล้วแต่เป็นคนจากพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทั้งสิ้น โดยไม่มีผู้แทนจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านเข้าเป็นกรรมการสรรหาได้เลย

และโดยสัดส่วนผู้แทนพรรคการเมืองที่อยู่ในกรรมการสรรหา หากผู้แทนพรรคการเมืองร่วมกันออกเสียงคัดค้านผู้สมัครคนใดก็ตาม ที่สมัครเข้าดำรงตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. หรือ กกต. ย่อมยากเย็นอย่างยิ่ง หรือกระทั่งเป็นไปไม่ได้ที่ผู้สมัครผู้นั้นจะผ่านการสรรหาไปได้ กลไก วิธีการที่เปิดช่องให้การเมืองแทรกแซงนี้ย่อมเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่กุมอำนาจทางการเมืองอย่างยิ่ง โดยกลไกและกระบวนการคัดเลือกเช่นนี้ เราย่อมคาดหมายได้ว่าในอนาคต ผู้ที่จะเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอำนาจรัฐ โดยเฉพาะอำนาจบริหารย่อมต้องเป็นบุคคลที่อย่างน้อยที่สุดพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลไม่ได้คัดค้าน ที่พรรคต้องกล่าวถึงว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลที่รัฐบาลส่งเข้าไปในองค์กรอิสระหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลที่ทรงอำนาจทางการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรีต้องการ

ก็ในเมื่อคนในองค์กรตรวจสอบ สัมพันธ์กับองค์กรที่ถูกตรวจสอบเสียแล้ว เราย่อมคาดหมายผลการตรวจสอบการใช้อำนาจบริหาร หรือตัวบุคคลในทางบริหารในอนาคตได้ว่าเป็นเช่นไร กลไกตรวจสอบที่บกพร่อง หรือมีช่องโหว่ให้การเมืองเข้าแทรกได้อย่างเช่นปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นปัจจัยโดยอ้อมส่งให้นายกทักษิณ ทวีอำนาจยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นนายกฯ ที่ได้รับอานิสงส์จากรัฐธรรมนูญ 2540 อย่างเต็มที่ ทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าทางกาเรมืองไทยไปอย่างมาก แม้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ได้สร้างองค์กรและกลไกการตรวจสอบขึ้นมามากมายก็ตาม แต่กลไกที่ถูกสร้างขึ้นนั้นยังมีปัญหาหลายจุด ประกอบกับกระบวนการสรรหาบุคคลสวมในตำแหน่งองค์กรอิสระ ซึ่งในระยะหลังเป็นกลไกที่พรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาลมีอำนาจอย่างมากในการกำหนดความเป็นไป องค์กรและกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีพลังเพียงพอที่จะเหนี่ยวรั้งอำนาจของฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกฯ ไว้ได้เลย  

ถ้าไม่มีการปรับเปลี่ยนกลไกในส่วนนี้ ในอนาคตองค์กรอิสระย่อมจะกลายเป็นกลไกที่ช่วยเสริมสถานะของนายกฯให้มั่นคง หนักแน่นยิ่งขึ้นไปอีกโดยไม่มีข้อกังขา โครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญที่สร้างความเข้มแข็งให้นายกรัฐมนตรีมากขนาดที่ปรากฎอยู่ทุกวันนี้ เป็นโครงสร้างและกลไก ที่ควรปรับเปลี่ยนอย่างเร่งด่วน เพราะประวัติศาสตร์สอนให้เราระมัดระวังอยู่เสมอว่า อย่าปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งในบ้านเมืองมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เพราะอำนาจเด็ดขาดของผู้ปกครองนั้นเป็นไปไม่ได้กับการปกครองโดยกฎหมายเป็นใหญ่ และอำนาจเด็ดขาดนั้นย่อมจะย้อนกลับมาทำร้ายประชาราษฎรไม่วันใดก็วันหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างและกลไกในรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งเสริมให้เกิดดุลยภาพทางการเมืองใหม่นั้น ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากเราไม่ต้องการเห็นประเทศเดินไปในหนทางของการมีพรรคการเมืองใหญ่พรรคเดียว ภายใต้บัญชาการของคนคนเดียว ครอบงำระบบการเมืองการปกครอง และระบบคิดทั้งหมด ณ วันนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้ง” บทความที่นายวรเจตน์เขียนไว้เมื่อปี 2547

นายปานเทพกล่าวต่อว่า เวลานั้นนายวรเจตน์กังวลเรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระมาก เห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ แต่มาวันนี้กลับออกแบบให้เกิดสิ่งนี้และให้หนักกว่าเดิม ถามว่าจะเรียกปรากฎการณ์นี้ว่าเป็นความไร้เดียงสา หรือรู้อยู่แก่ใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา

รู้อยู่แล้วว่าวิธีคิดแบบนี้ พ.ต.ท.ทักษิณได้ประโยชน์ แล้วยังขัดแย้งกับงานเขียนของตัวเอง  ฉะนั้นประชาชนย่อมมีสิทธิตั้งข้อสงสัยว่านายวรเจตน์ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพตัวเองหรือไม่ ความเป็นอาจารย์ใช้หลักคิดอะไรในการใช้สองมาตรฐาน ในการคิดเรื่องปฏิรูปให้นักการเมืองรวบอำนาจมากขึ้น แต่เมื่อก่อนบอกว่าแม้แต่องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากมีนักการเมืองเกี่ยวข้องก็นับว่าเลวร้ายแล้ว ตกลงหลักคิดทางวิชาการ มันสามารถไม่อยู่กับร่องกับรอย เพราะเผอเรอ หรือแท้ที่จริงแล้วกำลังรับใช้อำนาจทางการเมืองอีกกลุ่มหนึ่งกันแน่ แล้วที่บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณเรื่องเล็กเดี๋ยวจัดการเอง ตนขอถามว่าเวลานั้น ถ้าไม่มีรัฐประหาร ใครจะสามารถเอา พ.ต.ท.ทักษิณขึ้นศาลได้

งานเขียนตอนปี 2547 ขนาดองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ นายวรเจตน์ยังไม่ไว้ใจฝ่ายการมือง แต่มาวันนี้ปี 2555 บอกว่าตุลาการศาลสูงต้องได้รับการเสนอโดยคณะรัฐมนตรี แล้วอย่างนี้จะให้ศาลไปถ่วงดุล ตรวจสอบ อำนาจการเมืองตามที่นายวรเจตน์พูดเอาไว้เมื่อหลายปีก่อนได้อย่างไร มันตลก ถ้าเป็นคนที่ซื่อสัตย์ทางวิชาชีพ วิชาการ แล้วทำไมตอนนั้นกับตอนนี้ ตรรกะนี้ต่างกัน

นายทวีศักดิ์กล่าวว่า ความคิดของนิติราษฎร์เป็นการเอาวิชาการตะวันตกมาใช้ ในเรื่องของการปกครองประชาธิปไตย ตะวันตกใช้บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งมันต้องอิงสิ่งที่พิสูจน์ได้ในเชิงประจักษ์ และอิงความเป็นเหตุและผล แต่พอมาใช้ในสังคมไทยซึ่งมีปัญหาในเชิงใช้เหตุและผล เพราะสังคมไทยยังแก้ไม่ตกเรื่องระบบอุปถัมน์ ตุลาการทุกวันนี้ทำงานเป็นวิชาชีพ สามารถดำรงความยุติธรรมอยู่ได้เพราะว่าไม่ต้องติดหนี้บุญคุณ แต่ถ้าต้องรับรองโดยรัฐสภา ระบบอุปถัมน์เข้าไปจับทันที ถามว่าถ้าคดีเป็นของคนที่มีอำนาจรัฐ ผู้พิพากษาสามารถพิจารณาด้วยความเป็นธรรมได้หรือไม่

นายศาสตรากล่าวว่า การเอาวิชาฝรั่งมาใช้มันไม่ผิด เพียงแต่ว่าวิชาการที่เอามาใช้ครบตามโปรแกรมหรือไม่ และได้ดูบริบทสังคมก่อนนำมาใช้หรือไม่ กรณีให้ตุลาการศาลได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี  จริงๆ แล้วตุลาการต้องมีหลักอิสระของผู้พิพากษา คืออิสระในเรื่องของบุคคล ผู้พิพากษาจะต้องไม่ถูกแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมือง ตนก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเป็นการตัดต่อวิชาการฝรั่ง หรืออยากมี agenda ของตัวเอง ตั้งขึ้นมาเลยประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แล้วหูหนาตาเล่อ ทั้งที่นายวรเจตน์ ทางวิชาการแล้วไม่เป็นรองใคร แต่กลับลืมหลักอิสระของผู้พิพากษา

อีกทั้งยังหมกมุ่นในวิชาการ หมกมุ่นในโลกทัศน์ของตัวเอง กำลังไปผิดทิศผิดทาง มองในแง่ดีที่สุดนายวรเจตน์คงสะเทือนใจกับเหตุการณ์รัฐประหาร โดยโทษทหาร และเชื่อมโยงไปถึงสถาบันฯ และมึนเมาไปถึงขั้นต้องเอาประชาชนเป็นใหญ่

นายศาสตรากล่าวอีกว่า เห็นได้เลยข้อเสนอนิติราษฎร์มีการจงใจ โดยเรียกร้องให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ต่อมาคือการจัดหมวด มีหมวดทั่วไป อันนี้เป็นเทคนิคทางกฎหมายอยู่แล้ว หมวดที่สอง เรื่องสิทธิเสรีภาพ เขาถือว่าต้องเอาประชาชนนำมาก่อน หมวดที่สาม สถาบันการเมือง ตรงนี้มีผลอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญ ที่เขาวางแบบนี้เป็นของใหม่ แต่ของเก่าหมายความว่าคือต้องไปยกเลิกหมวดสอง เรื่องพระมหากษัตริย์ออกไป แล้วเอาพระมหากษัตริย์มาใส่ในหมวดสาม ให้อยู่เคียงคู่รัฐสภา ตุลาการ เป็นการลดฐานะ ขณะเดียวกัน เอาประชาธิปไตย ประชาชนขึ้นบนสุด และผูกโยงทุกอย่างขึ้นสู่รัฐสภา


กำลังโหลดความคิดเห็น