xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนเห่ร้องศาลปค.บรรเทาทุกข์ ค่าแรง300บาทเจ๊งแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 15 มี.ค.) นายเทอดพงษ์ คงจันทร์ ตุลาการศาลปกครองกลาง ในฐานะตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนคดีที่ บริษัท มูราตะ อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด พร้อมพวกรวม 42 ราย ยื่นฟ้องคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 18 กระทรวงแรงงาน ขอให้เพิกถอนประกาศ คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำ ( ฉบับที่ 6 ) ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เฉพาะ 7 จัวหวัด ได้แก่ กทม. นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ภูเก็ต สมุทรปราการ สมุทรสาคร ส่วนจังหวัดอื่น ปรับจากเดิมประมาณร้อยละ 20 ให้มีผลบังคับใช้ วันที่ 1 เมษายน 2555 และระหว่างยังไม่มีคำพิพากษา ขอให้ศาลกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยสั่งระงับการบังคับใช้ประกาศฉบับดังกล่าวไว้ก่อน
ทั้งนี้นายวาทิน หนูเกื้อ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี ให้ถ้อยคำว่า หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง ภายหลังวันที่ 1 เม.ย. 55 ที่ประกาศดังกล่าวมีผลบังใช้แล้ว จะทำให้ค่าจ้างกลับมาเป็นตามเดิมไม่ได้ เพราะได้กลายเป็นสภาพการจ้างงานแล้ว ซึ่งเงินที่ได้จ่ายเป็นค่าแรงไปก่อนแล้ว ก็ไม่สามารถเรียกกลับคืนได้เช่นกัน รวมถึงต้องปรับเงินให้กับแรงงานเดิม ให้เพิ่มขึ้นเท่ากับอัตราที่ปรับเพิ่มจากค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างเงินเดือนต้องถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย และยังส่งผลต่อราคาสินค้า บริการต่างๆ ปรับตัวขึ้นสูงตามด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางส่วนอาจรับภาระไม่ไหวต้องปิดกิจการลง ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่ง จึงขอให้ศาลออกคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราว โดยสั่งระงับประกาศฯ ฉบับกล่าวก่อนจะถึงวันที่ 1 เม.ย. 55
ด้านตัวแทนฝ่ายผู้ถูกฟ้องที่เข้ารับการไต่สวน ประกอบด้วย นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน นางเพชรรัตน์ สินอวย หัวหน้าสำนักงานรมว.แรงงาน ในฐานะอดีตเลขาคณะกรรมการค่าจ้าง และ นายสุรพล พลอยสุข ผู้อำนวยการกลุ่มกฎหมาย กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน
นายสมเกียรติ กล่าวว่า การพิจารณาขึ้นค่าจ้าง ทำให้รูปแบบคณะกรรมการและดำเนินการตามกฎหมายกำหนด โดยพิจารณาจากค่าจ้าง ราคาสินค้า บริการ ความสามารถทางธุรกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ สภาพเศรษฐกิจสังคม และ มีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดให้แรงงานจังหวัดสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงาน ปกติการประชุมปรับขึ้นค่าจ้างจะทำล่วงหน้าเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อให้ลูกจ้าง และผู้ประกอบการได้เตรียมตัว
ส่วนข้อกล่าวอ้างที่ระบุว่า คณะกรรมการค่าจ้าง ไม่มีตัวแทนของนายจ้างเข้าร่วมประชุมนั้น คณะกรรมการค่าจ้าง ได้แต่งตั้งคณะทำงานศึกษาการขึ้นค่าจ้าง ซึ่งมีตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิทางวิชาการ ที่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าว โดยมีนางอัจนา ไวความดี เป็นประธานคณะทำงานดังกล่าว เป็นประธาน
ส่วนที่อ้างว่า มติกรรมการค่าจ้างถูกแทรกแซงโดยรัฐบาลไม่ชอบด้วยกฎหมาย ยืนยันว่า มติคณะกรรมการเป็นรูปแบบของไตรภาคี ที่ประกอบด้วยภาครัฐ 5 คน นายจ้าง 5 คน ลูกจ้าง 4 คน ใช้การลงมติ 2 ใน 3 ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแทรกแซงจากภาครัฐ แต่ยอมรับว่าในการพิจารณาค่าจ้างต้องคำนึงถึงนโยบายรัฐบาลด้วย ซึ่งมติที่ออกมาเป็นมติเอกฉันท์ ให้ปรับอัตราค่าจ้าง
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าจ้าง จะมีแรงงานได้ประโยชน์ถึง 5.4 ล้านคน หากมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ทำให้แรงงานขาดรายได้รวม วันละ 373 ล้านบาท
นางเพชรรัตน์ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ร้องขอให้กระทรวงพาณิชย์ สำรวจดัชนีการบริโภคของผู้มีรายได้น้อย เพื่อนำมาเป็นองค์ประกอบในการพิจารณาค่าจ้าง ซึ่งพบข้อเท็จจริงว่าสภาพเศรษฐกิจ สังคม ราคาสินค้าแต่ละจังหวัด ปรับตัวขึ้น และพบว่าค่าครองชีพแต่ละจังหวัดไม่แตกต่างกันมากนัก ทั้งนี้ในการพิจารณาได้ดูทั้งข้อดี และข้อเสียของการปรับขึ้นค่าจ้าง มีการประชุมหลายครั้ง เพื่อแบ่งอัตราการจ้างเป็น 2 ส่วน คือ คนเข้าใหม่ ให้จ้างในอัตราใหม่ ส่วนคนเก่าเป็นไปตามโครงสร้าง ที่แต่บริษัทดำเนินการ ทั้งนี้ หลังมีมติปรับค่าจ้างมีมาตราการในการช่วยผู้ประกอบการ ควบคู่ไปด้วย คือ ลดการเก็บเงินสมทบเข้าประกันสังคมในช่วง 6 เดือนแรก ของปี 2555 เหลือร้อยละ 3 จากเดิมเก็บร้อยละ 5 ส่วนครึ่งปีเหลือร้อยละ 4 จัดสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน จำนวน 10,000 ล้านบาท ให้สถานประกอบการกู้หมุนเวียนผ่านธนาคารที่กำหนด โครงการยกระดับศักยภาพแรงงาน โดยจัดให้อบรมแรงงานเพื่อให้มีความสามารถให้คุ้มกับค่าจ้าง
นายสุรพล กล่าวว่า ที่อ้างว่าการปรับเพิ่มค่าจ้าง ทำให้นายจ้างมีภาระเพิ่มขึ้น ถือเป็นความเสียหาย คงไม่ได้ เพราะค่าจ้างถือเป็นต้นทุน นายจ้างสามารถบริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นที่ไม่จำเป็นได้ หากทุเลาการบังคับใช้ ประกาศค่าจ้างย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของภาครัฐแน่นอน เพราะทำให้กำลังซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศลดลง และส่งผลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตของลูกจ้าง เพราะมีรายได้ไม่พอกิน มีผลต่อคุณภาพของสังคม
อย่างไรก็ตาม หลังการไต่สวนนานกว่า 3 ชั่วโมง ตุลาการเจ้าของสำนวน ได้แจ้งให้คู่กรณีทราบว่าศาลจะนำถ้อยคำที่ 2 ฝ่ายให้ในการไต่สวน ไปพิจารณา และจะมีคำสั่งโดยเร็ว โดยจะแจ้งคู่กรณีทราบทางโทรสาร หากมีเอกสารเพิ่มเติม ให้ยื่นต่อศาลภายใน 30 วัน
ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า เป็นสิทธิของนายจ้างที่จะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง กรณีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แต่แรงงานไม่เห็นด้วย ที่นายจ้างจะมาฟ้องร้องในช่วงนี้ เพราะแรงงานกำลังลำบาก เนื่องจากค่าครองชีพ และราคาสินค้าแพงขึ้นมาก
ประธานคสรท. กล่าวอีกว่า ถ้าศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน ทางแรงงานก็จะไปยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ขอยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อน เนื่องจากเรื่องนี้เป็นมติของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง และออกประกาศเป็นกฎหมายเรียบร้อยแล้ว
ขณะเดียวกันแรงงานก็จะเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาล เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งจะต้องทำให้เกิดผลจริง ไม่ใช่หาเสียงไว้แล้วทำไม่ได้ ทั้งนี้ นโยบายนี้มีผลกระทบต่อชีวิตของแรงงานทั่วประเทศเพราะขณะนี้แรงงานกำลังเดือดร้อนหนักจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นและราคาสินค้าแพงขึ้น
" ตอนนี้ผมได้แต่ภาวนาให้ศาลไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้างไว้ก่อนเพราะตอนนี้ค่าครองชีพ ข้าวของสินค้าต่างๆมีราคาแพงขึ้นมาก พวกเราฝ่ายแรงงานเดือดร้อนหนัก แต่รัฐบาลกลับไม่ได้มีมาตรการดูแลควบคุมราคาสินค้าและค่าครองชีพอย่างจริงจัง หากศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการปรับขึ้นค่าจ้าง พวกเราก็จะหารือกันว่านอกจากการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอยกเลิกการคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จะเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อไป รวมทั้งจะดูท่าทีการเคลื่อนไหวของฝ่ายนายจ้างและรัฐด้วย อาจจะต้องมีการชุมนุมเพื่อกดดันให้รัฐบาลเดินหน้านโยบายให้เกิดผลจริง ถ้ารัฐบาลยังนิ่งเฉย รวมทั้งไม่ยอมแก้ปัญหาราคาสินค้า หลังศาลมีคำตัดสินก็จะมีการเคลื่อนไหว" นายชาลี กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น