“เผดิมชัย” สั่ง กสร.ทำหนังสือถึงสำนักงบฯขอใช้งบเหลือจากโครงการบรรเทาเลิกจ้างกว่า 158 ล้านบาท มาช่วยเหลือโรงงานที่ยังถูกน้ำท่วมและยังฟื้นฟูไม่เสร็จ อุ้มแรงงาน 2.4 หมื่นไม่ให้ตกงาน
วานนี้ (30 ม.ค.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า ได้มอบให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ทำหนังสือขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ในการช่วยเหลือสถานประกอบการที่ประสบอุทกภัยไม่ให้มีการเลิกจ้างคนงาน ภายใต้โครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้าง โดยที่รัฐบาลช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้างคนงาน 2 พันบาทต่อคนเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในกลุ่มเป้าหมาย 3 แสนคน ซึ่งจะครบกำหนดดำเนินโครงการในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ เงินงบประมาณโครงการดังกล่าวยังเหลืออยู่ประมาณ 158 ล้านบาท ครอบคลุมแรงงานเกือบ 2.4 หมื่นคน จึงต้องมีการขอความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณเพื่อให้นำเงินงบประมาณที่เหลือมาช่วยเหลือสถานประกอบการที่ยังฟื้นฟูโรงงานไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากบางแห่งใช้เวลาฟื้นฟู 4-6 เดือน
“ผมได้มอบให้ กสร.เร่งสรุปตัวเลขสถานประกอบการที่เข้าข่ายการช่วยเหลือในระยะที่ 2 เพื่อชี้แจงสาเหตุการขอใช้เงินงบประมาณในส่วนที่เหลือภายในวันนี้ (30 ม.ค.) อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่าจะได้รับความเห็นชอบจากสำนักงบประมาณ เนื่องจากกระทรวงแรงงานมีเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องช่วยสถานประกอบการที่ยังฟื้นฟูโรงงานไม่แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้มีการเลิกจ้าง” รมว.รง.กล่าว
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การนำเงินงบประมาณที่เหลือไปช่วยสถานประกอบการฟื้นฟูโรงงานน้ำท่วมนั้น คิดว่าน่าจะผิดวัตถุประสงค์ เพราะงบที่เหลือนี้เป็นงบที่ช่วยนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงาน ซึ่งก็เป็นการช่วยนายจ้างมากกว่าแรงงานอยู่แล้ว แล้วยังจะนำเงินส่วนนี้ไปช่วยนายจ้างอีก
“ขอเสนอให้มีการนำเงินส่วนนี้จ่ายช่วยเหลือให้กับแรงงานที่ถูดปลดออก เพราะแรงงานเหล่านี้เป็นส่วนที่บริษัทไม่ได้เข้าร่วมโครงการที่รัฐช่วยจ่าย 2 พันบาท ซึ่งช่วงเวลาที่ตกงานแรงงานเหล่านี้จะหารายได้จากไหน อีกทั้งการนำเงินส่วนนี้ไปช่วยฟื้นฟูโรงงานก็ไม่ได้หมายความว่าหลังจากเปิดโรงงานได้แล้วจะมีการจ้างงานเพิ่มเหมือนก่อนเกิดน้ำท่วม จึงคิดว่าการนำเงินช่วยเหลือแรงงานโดยตรงน่าจะตรงจุดกว่า” นายชาลีกล่าว
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ กสร.เมื่อวันที่ 27 ม.ค.2555 มีแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมถูกเลิกจ้าง 28,195 คน ในสถานประกอบการ 99 แห่งใน 7 จังหวัด ได้แก่ จ.พระนครศรีอยุธยา มีสถานประกอบการเลิกจ้าง 58 แห่ง ลูกจ้าง 18,482 คน ปทุมธานี เลิกจ้าง 26 แห่ง 9,037 คน ฉะเชิงเทรา เลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 509 คน สระบุรีเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 31 คน นครปฐมเลิกจ้าง 1 แห่ง ลูกจ้าง 68 คน นนทบุรี เลิกจ้าง 9 แห่ง ลูกจ้าง 35 คน และกรุงเทพฯ เลิกจ้าง 2 แห่ง ลูกจ้าง 33 คน ส่วนสถานประกอบการที่ยังไม่สามารถเปิดกิจการได้ 350 แห่ง ลูกจ้างยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน 167,541 คน ส่วนสถานประกอบการเปิดกิจการแล้ว 28,317 แห่ง ลูกจ้างกลับเข้าทำงานแล้ว 822,444 คน รวมทั้งสถานประกอบการใน 13 จังหวัดที่ร่วมโครงการป้องกันและบรรเทาการเลิกจ้างมี 1,610 แห่ง ครอบคลุมลูกจ้าง 278,310 คน