xs
xsm
sm
md
lg

คสรท.จี้รัฐช่วยแรงงานน้ำท่วม หวั่นนายจ้างฉวยโอกาสเลิกจ้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
คสรท.เครือข่ายแรงงาน จี้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกอบการให้ชัดเจน วอนนายจ้างจ่ายค่าแรงเต็มจำนวนในช่วงปิดงานชั่วคราว ชี้ นายจ้างมีประกันภัยรองรับ หวั่นนายจ้างฉวยโอกาสน้ำท่วมเลิกจ้าง

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า วิกฤตน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและลูกจ้าง เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรมีมาตรการช่วยเหลือทั้งเฉพาะหน้าและระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรม ในการฟื้นฟูสถานประกอบการ และชดเชยรายได้แก่ผู้ใช้แรงงาน หากไม่มีมาตรการที่ชัดเจน เชื่อว่า จะมีแนวโน้มว่าผู้ใช้แรงงานอาจถูกเลิกจ้างจำนวนมาก ส่งผลเสียต่อภาพรวมระบบเศรษฐกิจไทย

ด้านนายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสมาพันธ์แรงงานการธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตน้ำท่วม ถือเป็นวิกฤตลูกจ้างที่ต้องสูญเสียทุกอย่าง ทรัพย์สินเสียหาย ข้าวของเครื่องใช้หลุดลอยไปกับน้ำ จึงขอเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวน ไม่ใช่จ่ายบางส่วน ทั้งนี้บรรษัทข้ามชาติต่างมีผลกำไรต่อเนื่องสะสม อีกทั้งการประสบภัยได้มีระบบบริหารจัดการประกันความเสี่ยงภัย ที่เป็นการแบ่งเบาความเดือดร้อน จึงควรที่จะเห็นใจลูกจ้าง

ขณะที่นางยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า น้ำท่วมครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ นายปลอดประสพ สุรัสวดี ต่างกล่าวสอดคล้องกัน โดยยอมรับถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่าประเมินสถานการณ์ต่ำ จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าน้ำท่วมเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ จึงไม่ใช่เรื่องเหตุสุดวิสัย นายจ้างจึงต้องจ่ายค่าจ้างเต็มจำนวนให้กับลูกจ้าง จะอ้างข้อกฎหมายเหตุสุดวิสัย ไม่จ่าย หรือจ่ายบางส่วนไม่ได้ ทั้งนี้ ตนยืนยันว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ มีกำไรมาตลอด

“ตอนนี้หลายคนกังวลใจ เกรงมีการใช้วิกฤตน้ำท่วม ผสมกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ 300 บาท เป็นโอกาสเลิกจ้างคนงานที่เป็นแกนนำสหภาพแรงงาน และคนงานที่มีค่าจ่างสูง อายุงานมาก” นายยงยุทธ กล่าว

ส่วน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ศูนย์ร้องทุกข์จึงเป็นช่องทางรับแจ้งความต้องการความช่วยเหลือในเฉพาะหน้า ที่จะมีการรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็นที่จะนำลงไปให้กับพี่น้องแรงงาน ขณะเดียวกันจะเป็นศูนย์กลางเพื่อรับฟังความทุกข์ ปัญหาผลกระทบต่อการทำงาน ที่จะประเมินสถานการณ์และนำเสนอต่อภาครัฐให้มีการคุ้มครองสิทธิ ตรวจสอบการเลิกจ้าง เนื่องจากน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติม ความทุกข์ยากของแรงงาน

นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า อยากเรียกร้องภาครัฐ โดยเฉพาะกระทรวงแรงงาน ให้น้ำหนักกับการดูแล คุ้มครองสิทธิลูกจ้าง โดยเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่ทำหรือมีแนวคิดเอนเอียง ทำให้ลูกจ้างจะเสียประโยชน์ ซึ่งในภาวะนี้ลูกจ้างต้องหยุดงานขาดรายได้ และโอที ที่เป็นรายได้หลักในการเลี้ยงครอบครัวจากค่าจ้าง โอที
กำลังโหลดความคิดเห็น