xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างเมินแนวทาง “เผดิมชัย” ขอ 4 ปี ปรับค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน
นายจ้างไม่รับลูก “เผดิมชัย” ยันขอให้ปรับค่าจ้าง 300 บาท แบบบขั้นบันไดในเวลา 4 ปี แบบเงินเดือน ป.ตรี 1.5 หมื่น ลูกจ้างยืนยันให้ปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศ 1 มกราคมปีหน้า ประกาศเคลื่อนไหวใหญ่-ยื่นหนังสือให้นายกฯ 7 ต.ค.นี้ หากรัฐบาลเบี้ยวเล็งล่ารายชื่อแรงงานที่ไม่ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน 5 ล้านคน เพื่อยื่นฟ้องศาลปกครองฐานผิดสัญญาหาเสียงหลังสิ้น ม.ค.ปีหน้า

วันนี้ (16 ก.ย.) นายปัณณพงศ์ อิทธิ์อรรถนนท์ กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยแนวทางของ รมว.แรงงาน เพราะเป็นแนวทางของฝ่ายการเมืองที่ไม่มีข้อมูลรองรับชัดเจน และรัฐบาลจะการันตีได้อย่างไรว่าใน 1-2 ปีข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจจะดี จึงอยากให้การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ทยอยปรับแบบขั้นบันไดภายในเวลา 4 ปี เช่นเดียวกับการปรับเงินเดือนผู้จบปริญญาตรีรุ่นใหม่เป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท รวมทั้งปล่อยให้การพิจารณาปรับค่าจ้างเป็นไปตามกลไกของคณะกรรมการการค่าจ้างกลางซึ่งเป็นระบบไตรภาคี 3 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 5 คน รวม 15 คน และมีหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างรอบรับชัดเจนเช่น ค่าครองชีพของแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และโลกโดยปล่อยคณะกรรมการไตรภาคีร่วมกันพิจารณาข้อมูลเหล่านี้และมีมติร่วมกันในปรับขึ้นค่าจ้างซึ่งระบบนี้ใช้มานานกว่า 10 ปี และไม่มีปัญหาใดๆ

นายปัณณพงศ์ กล่าวอีกว่า ฝ่ายนายจ้างเห็นด้วย และเข้าใจดีว่า นโยบายรัฐบาลอยากให้แรงงานกินดีอยู่ดี แต่อยากให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยเช่น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้นซึ่งรัฐบาลก็ควบคุมไม่ได้ และผู้ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าแพงเป็นประชาชนส่วนใหญ่ ขณะที่แรงงานได้ปรับค่าจ้างไม่กี่ล้านคน ส่วนนายจ้างก็มีต้นทุนค่าจ้างสูงขึ้นเพราะเมื่อปรับค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นค่าจ้างแรกเข้าแล้ว ก็ต้องขยับเพดานค่าจ้างให้ลูกจ้างที่มีอยู่เดิมให้ได้มากกว่า 300 บาทต่อวัน การทำให้ลูกจ้างอยู่ดีกินดีแต่นายจ้างอยู่ไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์

“อยากให้การปรับค่าจ้างเป็นไปตามกลไกระบบไตรภาคี ไม่อยากให้รัฐบาลรุกคณะกรรมการไตรภาคีมากเกินไป เพราะขนาดนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทยังทำในระยะเวลา 4 ปี แล้วทำไมการปรับค่าจ้าง 300 บาท จะทำภายใน 3-4 ปีไม่ได้ ทั้งนี้ รัฐบาลสามารถกำหนดแนวนโยบายได้แต่บอร์ดค่าจ้างกลาง จะตอบสนองนโยบายทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ สุดท้ายการปรับขึ้นอยู่กับระบบไตรภาคี ควรให้กรรมการฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้คุยกันด้วยเหตุผลโดยมีฝ่ายรัฐคอยป้อนข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตาม หากเกิดกรณีกรรมการฝ่ายรัฐและลูกจ้างจับมือกันโหวตซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ตามกฎหมาย ทางฝ่ายนายจ้างก็มีสิทธิวอล์คเอาท์เช่นกัน แต่ฝ่ายนายจ้างก็ไม่อยากทำเช่นนั้นเพราะจะมีผลกระทบต่อความเชื่อถือของต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในไทย แต่ในประวัติศาสตร์ระบบไตรภาคีที่ผ่านมาไม่เคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น การปรับขึ้นค่าจ้างแต่ละครั้งสามารถอธิบายถึงได้ทำไมถึงปรับขึ้นเท่านั้นเท่านี้” นายปัณณพงศ์ กล่าว

นายอรรถยุทธ ลียะวนิช กรรมการค่าจ้างกลาง ฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ว่าจะปรับค่าจ้าง 300 บาท 2 ระยะภายในปี 2555 และจะไม่ปรับอีก 3 ปี เพราะเป็นการฝืนกับความเป็นจริงของกลไกลการตลาด ซึ่งจะทำให้เจอความเสียหาย อยากให้รัฐบาลสงสารประเทศ ซึ่งการปรับค่าจ้างควรปล่อยให้เป็นไปตามระบบไตรภาคี หากผลออกมาเช่นไรจำนวนส่วนต่างของต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 300 บาทต่อวัน ทางรัฐบาลก็ควรเป็นผู้ช่วยเติมให้ครบ 300 บาท

“ระบบไตรภาคีทำมาเป็น 10 ปี ก็ไม่มีปัญหา แต่หากจะมีการจับมือโหวตระหว่างฝ่ายรัฐและลูกจ้างก็ตอบไม่ได้ว่าจะวอล์กเอาต์หรือไม่ จะต้องพิจารณาอีกครั้ง และยังยืนยันว่า ควรปรับค่าจ้างเป็นขั้นบันไดภายใน 4 ปีเช่นเดียวกับการปรับเงินเดือนวุฒิปริญญาตรีจบใหม่เป็นเดือนละ 1.5 หมื่นบาท และขอถาม รมว.แรงงาน ว่า ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะแนวทางของรมว.แรงงานเป็นการหลอกตัวเอง เป็นการสนองต่อการหาเสียง โดยไม่คำนึงว่าสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจหรือไม่ ทั้งนี้ หากปรับค่าจ้างมากเกินไปนายจ้างจะอยู่ไม่ได้เศรษฐกิจของประเทศก็จะเสียหาย การปรับค่าจ้าง300 บาทในครั้งเดียวนั้น มีแต่จะสร้างปัญหา แก้ยังไงก็ไม่จบ” นายอรรถยุทธ กล่าว

นายชัยพร จันทนา กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทุกจังหวัดในวันที่ 1 มกราคม ปี 2555 และไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรมว.แรงงานซึ่งจะไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปี เพราะไม่มีใครบอกได้ภาวะเศรษฐกิจจะคงที่หรือไม่ เช่น ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโดยเฉพาะราคาสินค้ารัฐบาลควบคุมไม่ได้ ซึ่งการปรับขึ้นค่าจ้างต้องเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อเพื่อให้แรงงานมีค่าครองชีพที่อยู่ได้ ทั้งนี้ แม้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ก็ยังไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงาน เนื่องจากทุกวันนี้แรงงานมีค่าครองชีพสูงกว่าวันละ 400 บาท

นายชัยพร กล่าวอีกว่า เชื่อว่า นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของรัฐบาล ทำได้แน่นอน และอยากให้ภาคธุรกิจใจกว้างยอมเฉือนกำไรออกมาจ่ายเพิ่มค่าจ้าง เพราะธุรกิจขนาดใหญ่มีกำลังจ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นได้ และธุรกิจเอสเอ็มอีก็มีกำไร แต่ไม่ยอมควักกำไรออกมาจ่ายเพิ่มค่าจ้าง ทำให้ที่ผ่านมาค่าจ้างถูกกดไว้ต่ำมาตลอดเพราะธุรกิจเอสเอ็มอีอ้างว่าไม่มีกำลังจ่ายทั้งที่แรงงานในส่วนของธุรกิจเอสเอ็มอีมีแค่ประมาณ 1 ล้านคน ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ถูกกดค่าจ้างไปด้วย

“เชื่อว่า รัฐบาลคงจะหาทางปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ให้ได้ตามนโยบายที่หาเสียง หากรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันไม่ได้จริงๆ ทางออกสุดท้ายที่รัฐบาลจะทำได้ ก็คือ ดำเนินการผ่านระบบไตรภาคีโดยฝ่ายรัฐบาลและลูกจ้างจับมือกันโหวตขึ้นค่าจ้าง 300 บาทให้ได้ 10 เสียงต่อนายจ้าง 5 เสียง คิดเป็น 2 ใน 3 ของคณะกรรมการไตรภาคี ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็พร้อมโหวตช่วยรัฐบาล เนื่องจากค่าจ้างขั้นต่ำถูกกดไว้มานานแล้ว และขณะนี้ค่าครองชีพสูงขึ้น ราคาสินค้าก็แพงขึ้นด้วย” นายชัยพร กล่าว

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวถึงกรณีที่กรรมการ คสรท.จ.สระบุรี ออกมาระบุว่า ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลปรับค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศ ว่า วันที่ 7 ตุลาคมนี้ จะออกมาเรียกร้องของคนงาน เนื่องจากเป็นวันการทำงานที่มีคุณค่าที่ทำกันเป็นประจำทุกปี โดยผู้ใช้แรงงานจะรวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหว รณรงค์ให้นายจ้างภาครัฐเห็นความสำคัญของผู้แรงงาน ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สวัสดิการต่างๆ รวมไปถึงการรับรองอนุสัญญาฉบับที่ 87, 98 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ)ว่าด้วยสิทธิ์ในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง จึงจะมีการนำเรื่องค่าจ้างมาเป็นประเด็นในการเคลื่อนไหวด้วย ซึ่งจะมีการยื่นหนังสือต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทตามที่ได้หาเสียงไว้และการเคลื่อนไหวนี้จะมีต่อไปจนเดือนมกราคมปี 2555 คาดว่า จะมีแรงงานออกมาร่วมไม่ต่ำกว่า 5 พันคน

“ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้น ค่าครองชีพแรงงานเพิ่มเป็นวันละ 348 บาทต่อคนแล้ว ทาง คสรท.ยังยืนยันหากรัฐบาลไม่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2555 จะรวบรวมรายชื่อแรงงานกว่า 5 ล้านคนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง 300 บาท จากแนวคิดการปรับค่าจ้างร้อยละ 40 ทุกจังหวัด โดยแรงงานจะให้เวลารัฐบาลจนถึงเดือนมกราคม 2555 หากไม่ทำตามหาเสียงไว้ จะนำรายชื่อที่รวบรวมได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองฐานผิดกฎหมายในการเสียงโดยหาเสียงไว้แล้วไม่ทำตามสัญญา” ประธาน คสรท.กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น