xs
xsm
sm
md
lg

นายจ้างเสนอแยกเงินมาตรการลดภาษีเอสเอ็มอี 7%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายจ้างเสนอ แยกเงินมาตรการลดภาษีเอสเอ็มอี 7% เข้ากองทุนช่วยเหลือ 5% ส่วนอีก 2% ลดหย่อนให้ผู้ประกอบการ เผยพร้อมจัดเวทีร่วมถกลูกจ้าง-นายจ้าง ก่อนร่วมกลุ่มแรงงานเข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” 7 ก.ย.นี้ ส่วน คสรท.ย้ำหากไม่ปรับ ม.ค.55 คงต้องฟ้อง ด้าน “เผดิมชัย” ไม่สนกลุ่มแรงงาน ลั่น จะฟ้องก็ฟ้องไป

 
วันนี้ (6 ก.ย.) นายทวี เตชะธีราวัฒน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสมาพันธ์แรงงานแห่งประเทศไทย และคณะทำงานการแรงงานและสวัสดิการสังคม  สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  ให้สัมภาษณ์ว่า จากการสัมมนาเรื่อง คิดอย่างไรกับรายได้ 300 บาทต่อวัน  ซึ่งจัดโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ   เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีตัวแทนทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเข้าร่วมด้วย ทั้งนี้   ที่ประชุมสัมมนาดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า  ฝ่ายลูกจ้างยังยืนยันข้อเสนอที่จะให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300บาทต่อวันพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปีหน้า  เพราะรัฐบาลได้ประกาศนโยบายหาเสียงไว้แล้ว

ขณะที่ฝ่ายนายจ้างเป็นห่วงผลกระทบต่อต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบอย่างมาก จึงเสนอให้รัฐบาลตั้งกองทุนช่วยเหลือธุรกิจกลุ่มนี้ โดยการนำเงินที่จะลดหย่อนภาษีนิติบุคคลให้แก่สถานประกอบการตามนโยบายรัฐจาก 30%  เหลือ 23%  ในปีหน้า  โดยหักเอาไว้ 5% คิดเป็นวงเงิน 5 หมื่นล้าน เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ ส่วนที่เหลืออีก 2%  หรือคิดเป็น 2 หมื่นล้านบาท เป็นส่วนที่ใช้ลดหย่อนภาษีให้กับสถานประกอบการ

               

 

“ในวันที่  7 ตุลาคมนี้ ผมและกลุ่ม คสรท.จะไปขอเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์   ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  เพื่อขอความชัดเจนนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300  บาท  ขณะนี้ฝ่ายลูกจ้างอยู่ระหว่างประสานงานกับฝ่ายนายจ้างเพื่อเปิดเวทีหารือร่วมกัน 2  ฝ่ายในการหามาตรการผลักดันและรับมือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำให้ ได้วันละ 300 บาท โดยจะนำข้อสรุปทั้งหมดไปเสนอต่อรัฐบาลเพื่อขอการสนับสนุนให้นโยบายนี้ปฏิบัติได้จริงทันวันที่ 1 มกราคมปีหน้า   ที่สำคัญ ขอย้ำว่า ต้องทำพร้อมกันทั่วประเทศด้วย   เชื่อว่า การดำเนินการเช่นนี้จะเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย” นายทวี กล่าว

              

นายชาลี ลอยสูง ประธาน คสรท.กล่าวว่า ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ คสรท.จะร่วมกับองค์กรแรงงานจัดกิจกรรมรณรงค์เรียกร้องค่าตอบแทนที่เป็นธรรม จึงจะใช้โอกาสนี้เข้าไปทวงถามนายกรัฐมนตรีเพื่อให้ได้คำตอบที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ  300  บาท  ส่วนการล่ารายชื่อแรงงาน 5 ล้านรายชื่อ เพื่อฟ้องศาลปกครองนั้น จะมีทั้งสภาแรงงาน รัฐวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบ รวมถึงภาคราชการที่ประกอบด้วยลูกจ้างชั่วคราว และแรงงานรับเหมาช่วง  รวมถึงแรงงานกลุ่มอื่นๆ ก็มาร่วมได้  

“การล่ารายชื่อเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะทำหากไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำในเดือนมกราคมปีหน้าเพราะกลุ่มแรงงานก็ไม่อยากทะเลาะกับรัฐบาลแต่จำเป็นจะต้องทำใน สิ่งที่ต้องทำ   ส่วนการเปิดเวทีคุยกันก่อนระหว่าง นายจ้างกับลูกจ้างก็เห็นด้วยเพราะสุดท้ายแล้วทั้งสองฝ่ายก็ต้องหารือกันซึ่ง ขึ้นอยู่กับรัฐบาลด้วยว่าจะเป็นคนกลางมาช่วยแก้ปัญหาหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลโดย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  ได้เคยมาขอความคิดเห็นและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำเรื่องนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทให้ได้” ประธาน คสรท.กล่าว

               

ด้านนายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวว่า กลุ่มแรงงานจะฟ้องก็ไม่เป็นไร  เป็นสิทธิที่ทำได้อยู่แล้วก็ปล่อยไป   ไม่จำเป็นต้องเชิญผู้นำแรงงานมาพูดคุยอีกแล้ว เรื่องนี้เป็นนโยบายรัฐบาลที่จะทำในสิ่งที่ดีงามให้แก่พวกเขา พวกเขาสิควรที่จะคิดที่จะทำอะไรที่ดีบ้างตอบแทน  ไม่ใช่มาทำวิธีอย่างนี้

ส่วนนายพนรัญชน์ กลีบไธสง  ประธานสหภาพแรงงานซันโคโกเซ   จ.ระยอง    กล่าวว่า  อยากให้รัฐบาลปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทให้แก่แรงงานทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคมปี 2555   เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่แรงงานทุกคน    เนื่องจากทุกวันนี้แรงงานมีรายได้เดือนละ 5,600 บาท จะต้องทำโอที   จึงมีรายได้เพียงพอค่าใช้จ่ายซึ่งอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 หมื่นบาท

               

 

“ตอนนี้ข้าวของมีราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวกล่องเดิมขายกล่องละ 25 บาท ตอนนี้ปรับเป็นกล่องละ 30-35 บาทแล้ว   รวมถึงเนื้อหมู น้ำมันพืช ข้าว  และสบู่ ยาสีฟัน ซึ่งเป็นของที่แรงงานต้องกินต้องใช้อยู่ทุกวัน จึงอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและสนับสนุนสวัสดิการแรงงาน เช่น ค่าเช่าบ้าน โดยใช้มาตรการภาษีช่วยลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการด้วย”  นายพนรัญชน์ กล่าว

 
กำลังโหลดความคิดเห็น