องค์กรแรงงาน รวมพลังจี้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ทุกจังหวัดพร้อมทั่วประเทศ ภายในเดือน ม.ค.นี้ ชี้ ราคาสินค้าพุ่งแซงค่าจ้าง ตบเท้าเข้าพบ “ยิ่งลักษณ์” 7 ต.ค.นี้ ขู่เมินข้อเรียกร้องแรงงานทุกจังหวัดแจ้งความรัฐบาลทำผิดสัญญาหาเสียง พร้อมล่า 5 ล้านชื่อ ฟ้องศาลปกครอง ด้าน “เผดิมชัย” อ้อนขอนำร่อง 7 จังหวัดก่อน ตั้งเป้าไม่ถึง 2 ปี ได้ครบทุกจังหวัด
วันนี้ (5 ก.ย.) ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค ดินแดง กทม. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดงานและปาฐกถาเรื่อง “นโยบายค่าจ้างและแรงงานของรัฐบาลใหม่” ในการสัมมนาเรื่อง “นโยบายค่าจ้าง : แนวคิดร่วมสมัย มุมมองและประสบการณ์” จัดโดยเครือข่ายองค์กรแรงงาน โซลิดาริตี้ เซ็นเตอร์ และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท ว่า ปัจจุบันมีแรงงานในระบบและนอกระบบรวมทั้งสิ้นประมาณ 38 ล้านคน และในช่วงเดือนมกราคม-มิถุยายน ปีนี้ มีผู้ว่างงาน 1.6 แสนคน หรือคิดเป็น 0.7% ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ต่ำมาก ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น และยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การที่รัฐบาลใช้คำว่าให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท ไม่ได้บิดเบือนนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ แต่มีเจตนาที่บริสุทธิ์ที่ต้องการให้แรงงานทุกกลุ่มทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น แรงงานภาคเกษตร ผู้ที่รับงานไปทำที่บ้าน มีโอกาสได้มีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท โดยไม่รวมค่าทำโอที ซึ่งรัฐบาลจะทำทันทีโดยให้ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ ไม่มีใครบอบช้ำ ได้เปรียบเสียเปรียบ ยุติธรรม และพอใจทั้งสองฝ่าย
“ผมยืนยันว่า ไม่พลิกลิ้น จะเพิ่มรายได้ให้แรงงานและดูแลสวัสดิการให้ดีขึ้น จะเริ่มนำร่องเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และ ภูเก็ต โดยอาจนำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อนและนำอัตราที่เพิ่มขึ้นไปบวกกให้กับจังหวัดอื่นๆ ก่อน เพื่อปรับฐานค่าจ้างสูงขึ้นก่อนดำเนินการให้มีอัตรา 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศใน 77 จังหวัด ผมจะเร่งทำทันที และทำในเวลากระชับ ทุกอย่างจะไม่ใช้เวลายาวถึง 2 ปี จะดำเนินการผ่านคณะกรรมการไตรภาคี 3 ฝ่าย ทั้งฝ่ายรัฐ ลูกจ้าง และนายจ้าง ซึ่งจะดำเนินการให้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย โดยจะให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปเป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย นายจ้างอยู่ได้และลูกจ้าง” รมว.แรงงาน กล่าว
นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า การปรับเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาท จะมีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผู้ประกอบการสบายใจ และรู้สึกคุ้มค่าที่จะปรับรายได้เป็นวันละ 300 บาท โดยมีนโยบายจะพัฒนาสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดรวม 77 แห่ง ให้สามารถพัฒนาฝีมือแรงงานได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ โดยมีการปรังปรุงหลักสูตรและการอบรมอาชีพให้มีศักยภาพสอดคล้องกับความต้องการของแต่ละท้องถิ่น และจะพัฒนาแรงงานไทย จากแรงงานไร้ฝีมือไปสู่แรงงานกึ่งฝีมือ และมีฝีมือในที่สุด ขณะนี้ได้เสนอของบประมาณ 3,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ขานรับแนวทางนี้แล้ว
รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า ส่วนมาตรการดูแลผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาทนั้น ได้มอบให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจค่าใช้จ่ายของนายจ้างและผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ เพื่อนำผลสำรวจนั้นมาวางแนวทางช่วยเหลือ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี จะใช้มาตรการทางภาษี เช่น ลดภาษีนิติบุคคลให้แก้ผู้ประกอบการในปีแรกจาก 30% เหลือ 23% และปีที่สองจาก 23% เหลือ 20% ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
นอกจากนี้ ไทยยังต้องเตรียมรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 ซึ่งจะต้องมีการปรับตัวจากการใช้แรงงานด้วยค่าจ้างถูก ไปเป็นการใช้ฐานความรู้และการลงทุน รวมทั้งเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งการที่แรงงานไทยมีทักษะฝีมือดีขึ้นจะช่วยจูงใจนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งจะต้องมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว ดูแลการเข้าออกของแรงงานต่างชาติทุกประเภทที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างเข้มงวด เนื่องจากเชื่อว่าจะมีแรงงานไร้ฝีมือต่างชาติไหลเข้ามาทำงานในไทยจำนวนมาก และจัดระเบียบเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านแรงงาน
“ผมมีนโยบายดูแลด้านสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรม จะมีการดูแลแรงงานให้มีความมั่นคง ปลอดภัยในการทำงาน และเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขกฎหมาย เช่น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น คล่องตัวเป็นประโยชน์ต่อแรงงาน และแก้ไขให้สอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 และแก้ไข พ.ร.บ.รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 เพื่อให้สอดรับกับหลักการของอนุสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะเริ่มนำร่องใน 7 จังหวัดก่อน แต่ทุกจังหวัดก็จะได้รับการเพิ่มค่าจ้างใกล้เคียงกัน เพราะนำสัดส่วนการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัด ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 มาเป็นฐานในการเพิ่มค่าจ้างให้แก่จังหวัดอื่นๆ ซึ่งคาดว่า จะมีผลภายในเดือนมกราคม 2555 ทั้งนี้ คาดว่า ภายใน 1 ปีทุกจังหวัดจะได้รับการปรับเพิ่มค่าจ้างเป็น 300 บาท โดยขณะนี้ได้มอบให้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด ไปสำรวจค่าครองชีพเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ทั้งนี้ในวันที่ 14 ก.ย.นี้ คณะกรรมการค่าจ้างกลางจะมีการประชุมกัน แต่คาดว่า อาจจะยังไม่ได้ข้อสรุป เพราะหลายเรื่องอยู่ในระหว่างดำเนินการ
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า ตอนนี้ ราคาสินค้าในบางจังหวัดปรับขึ้นสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำไปแล้ว และสถานประกอบการบางจังหวัด ก็มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันไปแล้ว ดังนั้น แรงงานไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐมนตรีแรงงานในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่จะเริ่มนำร่องใน 7 จังหวัด ก่อนนำสัดส่วนการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใน 7 จังหวัดซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 มาเป็นฐานในการเพิ่มค่าจ้างให้แก่จังหวัดอื่นๆ โดยอยากให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดพร้อมกันทั่วประเทศในเดือนมกราคมปีหน้า
นายชาลี กล่าวอีกว่า จากการที่องค์กรแรงงานได้สำรวจค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้แรงงานใน 16 จังหวัด เช่น กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง ปราจีนบุรี จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 3,660 คน พบว่า ในจำนวนนี้ 68.1% ได้รับค่าจ้างไม่ถึงวันละ 300 บาท และอีก 19.86% ได้รับค่าจ้างเกินวันละ 300 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหารเช้า-เย็น ค่าเช่าบ้าน ค่าสาธารณูปโภค ค่าสินค้าอุปโภค เช่น สบู่ ยาสีฟัน หากคิดเป็นต่อ 1 คนอยู่ที่ 348.39 บาทต่อวัน และหากคิดเป็นต่อครอบครัว 3 คน อยู่ที่ 561.79 บาทต่อวัน ทั้งนี้ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในส่วนค่าเล่าเรียนบุตร
“ขณะนี้แรงงานทั่วประเทศมีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ แรงงานจึงอยากได้ค่าจ้างที่เป็นธรรม โดยอยากให้รัฐบาลปรับปรุงโครงสร้างค่าจ้างโดยคนที่ทำงานมาแล้ว 1 ปี ก็ควรได้รับการปรับค่าจ้างประจำปี รวมถึงผู้ที่จบปริญญาตรี ก็ควรได้เงินเดือน 15,000 บาทต่อเดือนตามที่รัฐบาลหาเสียงไว้ และองค์กรแรงงานจะร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ทั้งนี้ ในวันที่ 7 ต.ค. คสรท.จะร่วมกับกลุ่มองค์การแรงงาน จะไปพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อขอความชัดเจนในเรื่องการปรับค่าจ้าง 300 บาท หากในเดือนมกราคม รัฐบาลยังไม่ดำเนินการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทให้แก่แรงงานทุกจังหวัดทั่วประเทศ จะแจ้งความว่ารัฐบาลทำผิด มาตรา 53 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.พ.ศ.2550 ในเรื่องทำผิดสัญญาหาเสียงโดยสัญญาว่าจะให้แล้วไม่ทำตามที่หาเสียงไว้ โดยจะมีการรวบรวมรายชื่อแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จำนวน 5 ล้านคน ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองด้วย” ประธาน คสรท.กล่าว
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่กลุ่มแรงงานมารวมตัวกันมากที่สุด แต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องอยากให้ทำในนามของกลุ่มแรงงานทั่วประเทศ ไม่ใช่ในนามขององค์กรใดองค์กรหนึ่งเท่านั้นเพื่อจะได้เกิดพลังในขับเคลื่อนให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งสาเหตุแรงงานต้องรวมตัวเรียกร้องเช่นนี้เพราะค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาสินค้อุปโภคบริโภคขายราคาเท่ากันในห้างใหญ่ๆที่กระจายอยู่ตามภูมิภาค แต่เหตุใดจะนำร่องปรับค่าจ้างแค่ 7 จังหวัดไม่ดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศ
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ กล่าวว่า ค่าจ้างเป็นประเด็นทางการเมือง เมื่อรัฐบาลหาเสียงที่จะปรับค่าจ้างซึ่งเป็นการส่งสัญญาณทำให้สินค้าปรับราคาสูงขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้การปรับค่าจ้างก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งรัฐบาลที่ผ่านมาไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าได้ จึงอยากให้รัฐบาลชุดนี้ควบคุมีราคาสินค้าให้ได้ ทั้งนี้ ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท จะต้องใช้บังคับกับแรงงานภาคเกษตรและแรงงานข้ามชาติด้วย แต่หากรัฐบาลทำไม่ได้ก็ขอให้ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ทั้งนี้ นายชาลีได้อ่านแถลงการณ์ซึ่งออกร่วมกันโดยคสรท. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย สหพันธ์แรงงานกิจการต่างๆ โดยเรียกร้องให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันพร้อมกันทั่วประเทศ เนื่องจากในเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยได้รณรงค์หาเสียงไว้ หากได้จัดตั้งรัฐบาลจะปรับค่าจ้าง เนื่องจากแรงงานเลือกพรรคเพื่อไทย เพราะนโยบายนี้ แต่ขณะนี้กลับมีกระแสกดดันจากนายทุนทำให้รัฐบาลมีท่าทีเปลี่ยนไป ซึ่งล่าสุดเรื่องนี้กลายเป็นการนำร่องปรับค่าจ้าง 300 บาท ใน 7 จังหวัด จึงเรียกร้องให้รัฐบาลกล้าที่จะยืนยันตามนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ลูกจ้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกพื้นที่
นายรูดี้ พอร์เตอร์ ผู้อำนวยการโซลิดาริตี้เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตั้งแต่ พ.ศ.2520 เป็นต้นมา ยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งที่นายจ้างทำธุรกิจได้กำไรดีและแรงงานมีผลิตภาพที่ดี ทำให้ชาวยุโรปและอเมริกาไม่มีกำลังซื้อ ดังนั้น ประเทศในเอเชีย เช่น ไทย ควรจะหันมาขยายตลาดและเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศมากกว่าหวังพึ่งตลาดในยุโรปและอเมริกา