xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง 10 นโยบายแรงงานรับรัฐบาลใหม่ เน้นเพิ่มรายได้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ก.แรงงาน  เตรียมพร้อมตั้งร่าง 10  นโยบายด้านแรงงาน รับการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ เดินหน้า “แรงงานไทยมั่นคงทางรายได้ควบคู่ทักษะฝีมือที่สูงขึ้น  ผู้ประกอบการมีผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น”   สอดรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้แข็งแกร่ง

นายสมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน  เผยว่า ช่วงการปรับเปลี่ยนการบริหารราชการของประเทศย่อมต้องมีนโยบายที่เกี่ยวโยงถึงงานด้านแรงงานอย่างแน่นอนและกระแสหนึ่งที่กำลังมาแรงในเชิงนโยบายคือ  “นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำวันละ  300 บาท”  ซึ่งสัมพันธ์กับภารกิจสำคัญของกระทรวงซึงเป็นหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกับระบบ เศรษฐกิจของประเทศ ทำงานเกี่ยวโยงกับนายจ้าง สถานประกอบการ  ผู้ใช้แรงงาน  คนที่กำลังหางานทำทั้งในและต่างประเทศ  ผู้ว่างงาน  และขยายสู่แรงงานที่อยู่นอกระบบ กระทรวงแรงงานจึงจัดเตรียม 10  นโยบายด้านแรงงานเชิงรุก

 
นโยบายสำคัญหลัก ได้แก่  นโยบายเรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท”  มุ่งยกระดับรายได้ของแรงงานให้ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน  โดยเน้นเรื่องการพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน  ซึ่งกระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในเรื่องค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือและประกาศใน 11  อาชีพแรกแล้วตั้งแต่  28  กรกฎาคมที่ผ่านมา  และในเดือนตุลาคมนี้จะประกาศใช้อีก 11  สาขาอาชีพต่อไป  ถือเป็นก้าวย่างที่มั่งคงของแรงงานไทยที่จะได้รับค่าตอบแทนรายได้ที่สอดรับกับมาตรฐานฝีมือ  สำหรับด้านผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ซึ่ง เป็นกลุ่มผู้ประกอบการลำดับต้นที่กระแสสังคมมีความห่วงใยว่าจะได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ จะต้องมีมาตรการเพื่อลดภาระแก่ผู้ประกอบการโดยจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ  ด้านผู้ประกอบการทั่วไปต้องใช้มาตรการทางภาษีเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ   ตัวเลขเบื้องต้นส่วนสถานประกอบการที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คน ที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมเป็นนายจ้างประมาณ 3.39 แสนคน  “แรงงานไทยได้รับค่าจ้างตามมาตรฐาน  ส่งเสริมให้มีทักษะฝีมือแรงานที่สูงขึ้น ย่อมส่งให้นายจ้าง-สถานประกอบการมีทรัพยากรคนที่มีศักยภาพ  ส่งผลต่อผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้นในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป”

นโยบายเรื่อง “การแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของและอุตสาหกรรมหลัก”  เป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเพื่อไปสู่การสร้างตำแหน่งงาน  จ้างงานที่เพิ่มขึ้น การ
จ้างงานในแต่ละพื้นที่  กระทรวงได้วางยุทธศาสตร์ไว้ 2  ด้าน  ยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มกำลังแรงงานในเชิงปริมาณและคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทั้งในส่วนของผู้จบการศึกษาใหม่และผู้ว่างงาน  ผู้ที่ทำงานไม่เต็มศักยภาพ  ตลอดจนผู้พิการและผู้สูงอายุ รวมทั้งการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเท่าที่จำเป็น  และยุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มผลิตภาพแรงงานโดยการเพิ่มทักษะฝีมือและส่งเสริมทัศนคติและพฤติกรรมที่เหมาะสม  สนับสนุนให้สถานประกอบการนำเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้  ตลอดจนเน้นการบริหารจัดการระบบโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพ   และขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังเร่งจัดทำฐานข้อมูลกำลังแรงงาน “Labour Bank”  ที่จะสามารถเชื่อมโยงความต้องการจ้างงานและกำลังคนในวัยแรงงานด้วย
 

นโยบายเเร่งส่งเสริมการฝึกทักษะพัฒนาอาชีพสำหรับแรงงาน  เร่งรัดจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ  มีมาตรการเชิงรุกเพื่อร่วมกับสถานประกอบการในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ตาม พรบ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ.2555 ที่จะมีหลักสูตรที่สถานประกอบการสามารถนำไปฝึกอบรมพัฒนาฝีมือเป็นการ “เพิ่มผลิตภาพแรงงานของตนให้สูงขึ้น”  ประกอบกับการเตรียมเข้าสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน  2558  คือ การจัดทำมาตรฐานฝีมือแรงงานกลางอาเซียนด้วย  เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของแรงงานไทยในตลาดแรงงานระดับภูมิภาค  ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนในเวทีเศรษฐกิจโลก

 

นโยบายด้านการส่งเสริมแรงงานที่มีทักษะฝีมือออกไปสู่ภาคบริการต่างๆ ภายนอกประเทศ เน้นการขยายตลาดแรงงานทักษะฝีมือไปทำงานต่างประเทศให้มากขึ้น  ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานในต่างประเทศ  การพัฒนามาตรฐานคุณภาพแรงงานไทยทั้ง “ทักษะฝีมือ”  “ภาษา”  และพื้นฐานความรู้การปรับตัวในการทำงานและการใช้ชีวิตในต่างแดน  การคุ้มครองสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ รวมทั้งยังคงรักษาฐานตลาดของแรงงานไร้ฝีมือที่มีอยู่ในต่างประเทศ

 

นโยบายการจัดระบบสวัสดิการสังคม  ปรับปรุงเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมให้มากขึ้นและครอบคลุมกฎหมายประกันสังคม ผู้ประกันตนจะสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทุกโรงพยาบาล  และขยายสิทธิการประกันสังคมกรณีว่างงานเป็นการประกันการมีงานทำ  การขยายความคุ้มครองประกันสังคมตามมาตรา 40  ส่งเสริมสถานประกอบการจัดสวัสดิการเพิ่มเติมจากที่กฎหมายกำหนดโดยใช้มาตรการจูงใจทางด้านภาษี

 

นโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว  พัฒนาระบบการขออนุญาตทำงานให้มีความสะดวก  รวดเร็ว และถูกต้องยิ่งขึ้น  รวม ทั้งควบคุมการใช้แรงงานต่างด้าวให้ใช้เฉพาะแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายตามสาขา อาชีพที่จำเป็น รวมทั้งคุ้มครองแรงงานต่างด้าวตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องควบคู่กับ

 

นโยบายการจัดระเบียบและขอบเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านแรงงาน  โดยสนับสนุนให้เกิดการบูรณาการทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการใช้แรงงานต่างด้าวให้เป็นไปตามกฎหมาย  เพื่อป้องปรามการใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย    

 

นโยบายการสร้างความสามัคคีปรองดอง  เน้นการใช้กลไกระบบไตรภาคีในการสนับสนุนให้มีการทำงานร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  เพื่อเป็นแบบอย่างที่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจากส่วนต่าง ๆ สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันได้

 

นโยบายปัญหายาเสพติด  สนับสนุนรณรงค์  ลดปัญหาการระบาดของยาเสพติดในสถานประกอบกิจการ ที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการเพื่อการก้าวพ้นปัญหายาเสพติดในที่สุด  โดยเริ่มจากสถานที่อยู่ใกล้ตัวนายจ้าง-ลูกจ้าง  นั่นก็คือ ที่ทำงานหรือสถานประกอบการโดยการเพิ่มความเข้มแข็ง “โครงการโรงงานสีขาว”

 

ท้ายสุดที่จะนำเสนอ คือ นโยบายด้านความสัมพันธ์กับต่างประเทศ  แรงงานไทยนอกจากจะเป็นพลังการขับเคลื่อนทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ  วันนี้แรงงานไทยส่วนหนึ่งที่ถูกหลอกลวงหรือประสบปัญหาในต่างแดน  กระทรวงแรงงานมีหน่วยงานในต่างประเทศที่ให้การดูแลแรงงานไทยที่ไปทำงานยังต่างประเทศให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิฯและดูแลเรื่องการขยายตลาดแรงงานในพื้นที่ 13 แห่ง  11 ประเทศ  ขณะที่มีแรงงานไทยเดินทางไปทำงานนอกเหนือจากประเทศดังกล่าว  ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมภาพพจน์ในความสามารถของแรงงานไทย และจัดหาแรงงานไทยให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ประกอบการต่างประเทศ  กระทรวงแรงงานจึงเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศด้วยระบบการจัดส่งโดยรัฐ ( G to G ) ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการให้ความคุ้มครองดูแลการรักษาสิทธิประโยชน์ที่รวมถึงสิทธิมนุษยชนของแรงงานไทยและการป้องกันการปราบปรามการค้ามนุษย์ 
กำลังโหลดความคิดเห็น