xs
xsm
sm
md
lg

“เผดิมชัย” ยันไม่บิดเบือน แจงค่าแรง 300 บ.ไม่รวมค่าสวัสดิการ-โอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์
“เผดิมชัย” ยันรัฐบาลไม่ได้บิดเบือนนโยบายค่าจ้าง 300 บ.เปลี่ยนเป็นรายได้เพื่อให้แรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ มีโอกาสปรับค่าจ้างเท่าเทียมกัน อัดผู้นำแรงงานอย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว บีบรัฐบาลปรับค่าจ้าง    แจงนโยบายปรับค่าจ้างเน้นพัฒนาฝีมือแรงงาน เตรียมของบ 3 พันล้านรองรับ ระบุชัดเจนหลังกฎหมายงบประมาณปี 2555 บังคับใช้  เล็งเริ่มในกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้างหน่วยงานรัฐ-รัฐวิสาหกิจ ก่อน พร้อมนำร่องจังหวัดที่มีความพร้อม

วันนี้ (26 ส.ค.) นายเผดิมชัย     สะสมทรัพย์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) เปิดเผยว่า  นโยบายรัฐบาลด้านแรงงานที่แถลงต่อรัฐสภาที่มุ่งให้แรงงาน มีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท ต่างจากช่วงที่หาเสียง ซึ่งใช้คำว่าเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท   เนื่องจากมีการปรับถ้อยคำในการแถลงนโยบาย อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการบิดเบือนนโยบายหาเสียง แต่เพราะต้องการให้แรงงานทั้งในระบบ และนอกระบบ เช่น เกษตรกร ผู้ทำงานรับเหมา ได้มีโอกาสมีรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท โดยเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่ได้เฉพาะแรงงานในระบบ   
               

“หลังนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบาย ผู้นำแรงงานก็ได้ออกมาแสดงความไม่พอใจ บอกว่า เป็นการบิดเบือนนโยบายหาเสียง และกดดันให้รัฐบาลทำตามที่ได้หาเสียงไว้   แรงงานไม่ควรแก่เห็นประโยชน์ฝ่ายเดียว และถามว่า จะได้อะไรเพียงอย่างเดียว   จะต้องฟังเหตุฟังผล และให้เกียรติคนอื่นด้วย   อยากให้แรงงานบอกว่าตัวเองจะต้องทำอะไรเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น  การพัฒนาฝีมือทักษะให้ดีขึ้น  เพื่อให้นายจ้างรู้สึกว่าได้รับประโยชน์คุ้มค่าจากการปรับขึ้นค่าจ้าง   ผมอยากจะปรับค่าจ้างให้แรงงานใจจะขาด     แต่ถามว่า ถ้าไปปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300  บาททันที   ใครจะจ้างงานได้  จะทำให้มีคนตกงานเพิ่มขึ้น”   นายเผดิมชัย กล่าว
                 

รมว.แรงงาน กล่าวด้วยว่า ตนไม่รู้สึกหนักใจกับนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง  ตนสมัครใจและเต็มใจมาทำงานนี้  เนื่องจากเป็นประโยชน์ต่อแรงงานส่วนใหญ่   หากลูกจ้างได้ปรับเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาท  หากคิดเวลา 26 วัน ใน 1 เดือน ก็จะมีรายได้เดือนละ 7,800 บาท โดยไม่เกี่ยวกับโอที และสวัสดิการอื่นๆ    แต่การเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงาน จะต้องมีความเป็นธรรม  และทำให้ทุกฝ่ายเกิดความสบายใจ ทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้าง  ทั้งนี้  หากผู้นำแรงงานจะขอเข้าพบตนก็ยินดี  โดยตนมีเวลาว่างช่วงบ่ายวันจันทร์ และวันศุกร์
               

นายเผดิมชัย กล่าวอีกว่า    หลังจากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้แล้ว ซึ่งคาดว่า น่าจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านโยบายลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท จะมีความชัดเจน โดยเบื้องต้นมีแนวคิดว่า จะนำร่องในจังหวัดที่มีความพร้อมก่อน ซึ่งจะนำอัตราค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นของจังหวัดที่มีความพร้อมไปบวกให้กับจังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการปรับค่าจ้างให้เป็น 300 บาทต่อวันได้ เพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้น  เช่น  ปัจจุบันค่าจ้างขั้นต่ำของ กทม.อยู่ที่ 215 บาทต่อวัน ขาดอีก 85 บาท จึงจะถึง 300 บาท หรือคิดเป็น 40% ของอัตราที่เพิ่มขึ้น  ก็จะนำ 40% นี้ไปบวกเพิ่มให้แก่จังหวัดอื่นๆ ที่ยังไม่สามารถดำเนินการปรับค่าจ้างให้เป็น 300 บาทต่อวันได้  ทั้งนี้  การปรับเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท น่าจะเริ่มได้ก่อนในกลุ่มของข้าราชการ ลูกจ้างหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากมีงบประมาณรองรับ
               

“ขณะนี้ผมได้เตรียมมาตรการรองรับการเพิ่มรายได้ไม่น้อยกว่าวันละ 300 บาท โดยมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และนายจ้าง รู้สึกว่า คุ้มค่าที่จะปรับเพิ่มรายได้ให้เป็นวันละ 300 บาท  โดยจะเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการพัฒนาฝีมือแรงงาน และปรับปรุงสถาบัน และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ เพื่อให้มีความพร้อมในการยกระดับฝีมือแรงงาน ให้แก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เป็นจำนวน 3 พันล้านบาท รวมทั้งจะปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรมทักษะฝีมือแรงงานของแต่ละสถาบัน และศูนย์ให้สอดคล้องกับตำแหน่งงานในพื้นที่นั้นๆ  และให้กรมต่างๆ ไปจัดทำข้อมูลงานต่างๆ ที่จะต้องของบประมาณเพิ่มเติมด้วย และให้เสนอมาภายใน 2 เดือน” รมว.แรงงาน กล่าว
               

นายเผดิมชัย  กล่าวต่อไปว่า   ยังได้ให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจจำนวนสถานประกอบการเอสเอ็มอี ว่า มีจำนวนเท่าใด  เพื่อเตรียมมาตรการช่วยเหลือ  เช่น มาตรการทางภาษี  และเสนอของบประมาณช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบในการปรับเพิ่มรายได้เป็นวันละ 300 บาท    อีกทั้งจะจัดหาทีมผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายแรงงาน เพื่อให้เข้าไปช่วยดูแลแรงงานต่างด้าว และกฎระเบียบขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)  เพื่อป้องกันปัญหาการใช้แรงงานต่างโดยไม่ถูกกฎหมายและการค้ามนุษย์ 
               

นอกจากนี้  จะให้โอกาสนักโทษในเรือนจำได้มีโอกาสมีงานทำ และกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติหลังพ้นโทษ  โดยจะให้ กพร.เข้าไปอบรมอาชีพแก่นักโทษในเรือนจำ และให้กรมการจัดหางาน (กกจ.) หางานรองรับ  และขอความร่วมมือกรมราชทัณฑ์และกรมควบคุมความประพฤติให้การรับรองว่านักโทษเหล่านี้มีความประพฤติดี และสามารถทำงานได้จริง  
กำลังโหลดความคิดเห็น