xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ใช้แรงงาน ขอรัฐสกัดเลิกจ้างเพราะน้ำท่วม เป็นของขวัญปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานขอของขวัญปีใหม่ ให้ช่วยสกัดเลิกจ้างจากปัญหาน้ำท่วม เหตุนายจ้างย้ายฐาน พร้อมช่วยตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือ ด้านนักวิชาการชมรัฐบาลใจถึงดันจ้างพุ่ง 300 บาท ชี้ ควรทำงานร่วมกับองค์กรด้านแรงงานมากขึ้น พร้อมเร่งผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เปิดเผยว่า ในปี 2555 ทางองค์กรผู้ใช้แรงงานอยากให้รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน เข้ามาดูแลคนงานใกล้ชิดมากขึ้น เนื่องจากมีผู้ใช้แรงงานได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วม ประกอบกับมีกระแสข่าวนายจ้างย้ายฐานการผลิต ทำให้คาดการณ์ว่าช่วงหลังปีใหม่จะมีการเลิกจ้างคนงานจำนวนมาก จึงอยากให้เข้ามาช่วยเหลือและเยียวยาให้ทั่วถึง

“ตอนเกิดน้ำท่วม แม้รัฐบาลและกระทรวงแรงงานจะมีมาตรการออกมาช่วยเหลือ แต่แรงงานยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเท่าที่ควร และการทำงานก็ไม่เชิงรุก เพราะแรงงานยังต้องวิ่งเข้าหาเจ้าหน้าที่ ทั้งที่จริงเจ้าหน้าที่ควรออกมาประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ความเข้าใจกับคนงานมากกว่านี้” ประธาน คสรท.กล่าว

นายชาลี กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงานที่เคยเสนอไว้ เช่น การให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม การผลักดันบังคับใช้ (ร่าง) พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... ฉบับผู้ใช้แรงงาน เป็นต้น ให้ได้เป็นรูปธรรมก่อน

อย่างไรก็ตาม คนงานมีความหวังกับนโยบายรัฐบาลที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท และเงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท ซึ่งจะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แม้ว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงก็ตาม เพราะความเป็นจริงแรงงานมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าวันละ 300 บาท
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลทำตามนโยบายที่หาเสียงเอาไว้กับผู้ใช้แรงงานทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท และให้เงินเดือนผู้ที่จบปริญญาตรี 15,000 บาท รวมทั้งการตั้งกองทุนเพื่อช่วยชำระหนี้ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุกภัย ซึ่งคนงานส่วนใหญ่เป็นหนี้ต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ เพราะในช่วงที่น้ำท่วมคนงานไม่ได้รับเงินเดือนหรือได้รับไม่เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่างวด และถูกสถาบันทางการเงินติดตามทวงหนี้ ทั้งนี้ อยากให้ดำเนินการตั้งกองทุนเหมือนกองทุนพักชำระหนี้เกษตรกร

ผมไม่อยากให้นายจ้างฉวยโอกาสวิกฤตอุทกภัยมาเป็นข้ออ้างในการเลิกจ้าง และควรเห็นใจ เอาใจใส่ลูกจ้างด้วย เพราะลูกจ้างก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่วนค่าจ้าง โบนัส สวัสดิการอื่นๆ และการปรับเงินเดือนประจำปีนั้นก็ขอให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา” นายมนัส กล่าว

ด้านนายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาล และกระทรวงแรงงานเข้าให้การช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น เนื่องจากยังคงมีคนงานอีกจำนวนมากที่ยังไม่ทราบสภาพที่ชัดเจนว่านายจ้างจะยังจ้างงานต่อหรือไม่ ขณะที่บางส่วนก็ยังกลับเข้าทำงานไม่ได้เนื่องจากกว่านายจ้างจะฟื้นกิจการคาดว่าประมาณเดือนมีนาคม-เดือนเมษายน ซึ่งระหว่างนี้กระทรวงแรงงานต้องออกมาตรการพิเศษออกมาเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

นายศักดินา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลและกระทรวงแรงงานควรเร่งผลักดันการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์มีเสียงสามารถเจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ รวมถึงการเข้าไปดูแลแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองระบบประกันสังคม อาทิ พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ แผงลอย เกษตรกร ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น ซึ่งมีอยู่กว่า 24 ล้านคน และแม้ว่าจะมีการขยายความคุ้มครองตาม มาตรา 40 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไมสามารถดึงดูดคนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานไม่ควรหยุดนิ่งอยู่แค่การทำมาตรา 40 เท่านั้น แต่ควรหามาตรการอื่นๆ ออกมาดูแลให้ครอบคลุมกว่านี้

“อยากให้กระทรวงแรงงานทำงานร่วมกับองค์กรแรงงานอย่างเข้มแข็งใกล้ชิดและต่อสู้ยื่นอยู่เคียงข้างคนงาน ให้เหมือนกับกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ยืนอยู่ข้างนายทุนไม่ใช่ต้องมาเป็นกลางหรือไประมัดระวังฝ่ายนายจ้างเพราะกระทรวงแรงงานถูกตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน ซึ่งจะทำให้กระทรวงได้รับการยอมรับจากคนงานมากยิ่งขึ้น” นายศักตินา กล่าว

นายศักดินา กล่าวด้วยว่า ขอชื่นชมรัฐบาลและกระทรวงแรงงานเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด เพราะที่ผ่านมาการปรับค่าจ้างแต่ละครั้งน้อยมาก ทำให้คุณภาพชีวิตคนงานไม่ดีขึ้น ต้องทำงานกันอย่างหนัก เพื่อหาเลี้ยงชีพและครอบครัว รวมทั้งการที่กระทรวงแรงงานมีนโยบายกำหนดอัตราค่าจางตามมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น