xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดค่าจ้างเมินสภาอุตฯฟ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
ประธานบอร์ดค่าจ้าง โต้สภาอุตฯ ชี้ มติบอร์ดเป็นเอกฉันท์ ไม่เกี่ยวการเมือง ยัน 1 เม.ย.ปีหน้า เดินหน้าแน่ พร้อมชี้แจงศาล หากมีการฟ้องจริง ด้านกลุ่มแรงงานเชื่อ ปรับค่าจ้าง ส่งผลดีต่อภาพรวม แรงงานรวยขึ้น ศก.ดีขึ้น
 
           
วันนี้ (19 ธ.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) กล่าวถึงกรณีที่ทางสมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) อยู่ระหว่างเตรียมยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อระงับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยระบุว่าการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ถูกฝ่ายการเมืองครอบงำ ว่า  คณะกรรมการค่าจ้างแต่ละท่านล้วนเป็นผู้ที่มีความน่าเชื่อถือในวงสังคม ต่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มีอิสระในการตัดสินใจไม่ได้ถูกอิทธิพลใดๆครอบงำ ทำให้มติบอร์ดค่าจ้างที่ให้ปรับค่าจ้างขึ้น 40% ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ใน 7 จังหวัดมีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวัน โดยเป็นมติที่เป็นเอกฉันท์ ที่ทุกฝ่ายต่างยอมรับทั้งฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างก็ร่วมกันพิจารณาชอบ  และขอยืนยันว่าการดำเนินการของบอร์ดค่าจ้างนั้นเป็นไปตามขั้นตอนและถูกต้องตามกฎหมาย แต่จะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้
           
“หากฝ่ายใดที่ไม่ถูกใจแล้วจะไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ตามกฎหมาย ถ้ามีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงทางกระทรวงแรงงานก็พร้อมชี้แจงต่อศาล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้การปรับขึ้นค่าจ้าง 40% เป็นมติ ครม.ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเรียบร้อยแล้ว ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ก็ต้องดำเนินการไปตามที่ได้ประกาศไว้ และยังไม่มีการชะลอขึ้นค่าจ้างแต่อย่างใด แต่หากศาลมีคำสั่งใดๆ ออกมาทางบอร์ดก็พร้อมจะปฏิบัติตาม”ประธานบอร์ดค่าจ้าง กล่าว     
           
ทั้งนี้  บอร์ดค่าจ้างจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่  21 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นการประชุมตามวาระปกติ คงจะไม่มีการนำเรื่องที่ส.อ.ท.เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครองเข้าหารือ เนื่องจากมติการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องที่ผ่านพ้นการพิจารณาไปแล้ว

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า   หลังจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างจะคอยติดตามผลกระทบที่เกิดจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท  และหามาตรการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น   รวมทั้งจะเร่งผลักดันปรับอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงานในบางสาขาที่มีอัตราค่าจ้างต่ำกว่าวันละ 300 บาท

ด้านนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์ไทย (คสรท.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่ทาง สอท.จะฟ้อง เนื่องจากเป็นการปรับค่าแรงที่มีการพิจารณาจากคณะกรรมการไตรภาคี รัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ ซึ่งผลกระทบจากการปรับค่าจ้างอาจเกิดกับสถานประกอบการบางส่วนที่มีเงินทุนน้อย แต่คิดว่าจะเกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมหากเรามองภาพรวมของประเทศ

นายชาลี กล่าวอีกว่า ผลด้านบวกในภาพรวมมี 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องของขวัญกำลังใจของแรงงานที่ได้รับการปรับขึ้นค่าจ้าง 2.เมื่อลูกจ้างได้ค่าจ้างมากขึ้น ทำให้มีกำลังใช้เงิน ส่งผลให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น