ส.อ.ท.เตรียมฟ้องศาลปกครอง ระงับปรับค่าแรง 300 บาท ส่งทีม กม.ยื่นต้นปีหน้าชี้ ปัจจัยเสี่ยงปีหน้าเพียบ ทั้งปัญหาน้ำท่วมซ้ำ ค่าแรงเพิ่ม และการเมืองที่กำลังมีแนวโน้มรุนแรง
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สมาชิก ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการพิจารณาหาช่องทางทางกฎหมาย ฟ้องต่อศาลปกครอง เพื่อระงับการประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ขณะที่สมาชิก สอท.มองว่าไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบต่อการลงทุน และการจ้างงานในประเทศทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
คาดว่าจะสามารถยื่นฟ้องได้ประมาณต้นปีหน้า หรือก่อนที่รัฐบาลจะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 เมษายน 2555 ใน 7 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ภูเก็ต, กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ปทุมธานี สมุทรปราการ, สมุทรสาคร และนครปฐม โดยการนำร่องใน 7 จังหวัดนั้น ถือว่าปรับขึ้นคราวเดียวเฉลี่ย 36-40% ซึ่งสูงเกินไป นอกจากนี้รัฐบาลยังกำหนดที่จะขึ้นทั่วประเทศให้เป็น 300 บาทต่อวัน ในวันที่ 1 เมษายน 2556 อีกด้วย
“เรากำลังหารือกันอยู่ หากจะดำเนินการคงจะดูช่วงต้นปี 2555 เพราะเอกชนมองว่าการขึ้นค่าแรงทำได้แต่ต้องเป็นไปตามกลไก แต่นี่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติที่ควรจะเป็น เชื่อว่ามีการครอบงำ คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาค่าจ้างจากฝ่ายการเมือง อีกทั้งการขึ้นค่าจ้างก็เป็นประเด็นการเมืองจากนโยบายหาเสียง”
นายทวีกิจกล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยเสี่ยงในการลงทุนในปี 2555 ของไทยอยู่ที่ 3 ปัจจัยสำคัญ คือ 1.ภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เอกชนไม่มั่นใจว่าจะเกิดซ้ำหรือไม่ 2.นโยบายการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันที่นำร่อง 7 จังหวัด และจะครอบคลุมทั่วประเทศ ในเดือนเมษายนปี 2556 ยังรวมถึงความไม่แน่นอนการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เป็น 1.5 หมื่นบาท ขณะที่มีกระแสการเรียกร้องให้รวมถึงพนักงานทั่วไปอีกด้วย และ 3.ปัญหาการเมือง ที่ยังคงมีแนวโน้มที่รุนแรงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ผลักดันให้การตัดสินใจ ขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านแทนที่ไทยจะสูงขึ้นในอนาคต แน่นอนว่าที่สุดคนไทยจะเสี่ยงกับภาวะว่างงานมากขึ้น
ด้าน นายพากร วังศิลาบัตร ประธาน ส.อ.ท. จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ขณะนี้โรงงานใน จ.พระนครศรีอยุธยา บางโรงต่างทยอยเปิดดำเนินการผลิต แต่ภาพรวมก็ยังไม่มากนัก ปัจจัยหนึ่งมาจากโรงงานยังรอการนำเข้าเครื่องจักรเข้ามาทำงาน ที่อาจต้องใช้เวลา 4-6 เดือน จึงทำให้บางโรงงานเริ่มจ้างพนักงานให้ลาออก และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง