xs
xsm
sm
md
lg

ก.แรงงาน ของบ 5.4 พันล้าน จ่ายลูกจ้างเผชิญพิษน้ำท่วม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แฟ้มภาพ
ปลัด ก.แรงงาน เตรียมเสนอรัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาน้ำท่วม ของบกลาง 5.4 พันล้าน จ่ายค่าจ้างเดือนละ 3,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ให้แก่ลูกจ้าง 6 แสนคน ชะลอการเลิกจ้างช่วงฟื้นฟูน้ำท่วม ขณะลูกจ้างหวั่นไม่ได้เงินชดเชย

วันนี้ (18 ต.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.)เปิดเผยว่า ในการประชุมแผนช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ได้ข้อสรุปว่า กระทรงแรงงานจะเข้าไปช่วยเหลือเยียวยาใน 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และประชาชนที่อยู่นอกภาคอุตสาหกรรม ทั้งนี้ มาตรการช่วยเหลือนายจ้าง และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ได้ข้อสรุปออกมาดังนี้ 1.โครงการเงินกู้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ในส่วนของลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตน 8 พันล้านบาท ให้กู้ได้คนละ 5 หมื่นบาท คิดดอกเบี้ย 2.5% คงที่ 2 ปี และเงินกู้ของนายจ้าง 2 พันล้านบาท กู้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 3% คงที่ 3 ปี ทั้งนี้ มีเสียงเรียกร้องจากผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่าวงเงินกู้น้อยเกินไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะพิจารณาขยายวงเงินกู้อีกครั้ง

2.สปส.อนุมัติ ในหลักการให้ตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ในวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการเสริมสภาพคล่อง พัฒนาเครื่องจักร ปรับระบบเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของเงื่อนไขในการปล่อยกู้ โดยให้ธนาคารคิดดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำที่สุด ทั้งนี้ ทั้งสองมาตรการนี้จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ในวันที่ 25 ต.ค.นี้

3.กองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งปล่อยกู้ให้สถานประกอบการนำมาพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยปัจจุบันมีเงินกองทุนฯ อยู่กว่า 500 ล้านบาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยในลงเหลือ 0.1% จากเดิมเก็บอยู่ 3% ต่อปี ซี่งมีการอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานในช่วงหยุดงานชั่วคราวจากปัญหาน้ำท่วม

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า กระทรวงเตรียมเสนอมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม โดยเป็นมาตรการที่จะเข้าไปช่วยเหลือนายจ้างในช่วงฟื้นฟูน้ำท่วม โดยการช่วยจ่ายเงินเดือนให้กับลูกจ้างเดือนละ 3,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องรักษาสภาพการจ้างงานลูกจ้างไว้ทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 5.4 พันล้านบาท จากการประเมินตัวเลขแรงงานที่จะได้รับผลกระทบประมาณ 6 แสนคน

“แนวทางในการจ่ายเงิน จะจ่ายผ่านทางนายจ้าง ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่มีข้อมูลทั้งในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างอยู่แล้ว เพื่อป้องกันเงินไม่ถึงมือลูกจ้าง ทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตของนายจ้าง ทั้งนี้ จะเสนอต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน เพื่อพิจารณานำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป ทั้งนี้ ได้สั่งการให้ สปส.เร่งสำรวจว่ามีตัวเลขของนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยน้ำท่วม ทั้งลูกจ้างรายวัน รายเดือน และลูกจ้างรับเหมาช่วง ว่าแต่ละพื้นที่มีจำนวนเท่าใด โดยให้ สปส.รายงานข้อมูลกลับมาโดยเร็วที่สุด” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวด้วยว่า บริษัทที่จะเข้าร่วมโครงการจะต้องยืนยันอย่างชัดเจนว่าจะไม่เลิกจ้างลูกจ้าง และจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างให้ครบถ้วน โดยรัฐให้เงินช่วยเหลือเดือนละ 3,000 บาทดังกล่าว ส่วนบริษัทที่ไม่เข้าร่วมก็ต้องแจ้งให้ชัดเจนว่าจะเลิกจ้าง เพื่อที่กระทรวงจะได้แยกการช่วยเหลือแรงงานให้ชัดเจน ส่วน แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม และยังไม่มั่นใจในสถานภาพการจ้างงานของตัวเองในขณะนี้ ก็ขอให้ไปแจ้งเรื่องไว้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดในพื้นที่ของตนเอง เพื่อที่กระทรวงจะประสานไปยังบริษัทต้นสังกัด เพื่อให้ยืนยันสภาพการจ้างงานให้ชัดเจน เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการเยียวยาให้ชัดเจนต่อไป

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า มาตรการช่วยเหลือลูกจ้างขณะนี้ ในเฉพาะหน้ามีโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน โดยจัดหาตำแหน่งงานว่างรองรับ ล่าสุดมีแล้วกว่า 1.8 หมื่นอัตรา และหาตำแหน่งงานรองรับให้แก่ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง รวมทั้งให้เงินชดเชยจากกองทุนว่างงานของประกันสังคม และกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างที่เตรียมของบเพิ่มอีก 200 ล้านบาท

ด้าน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดเบื้องต้นประเมินว่า มีลูกจ้างได้รับผลกระทบ 4.2 แสนคน ขณะนี้ยังไม่พบว่ามีแรงงานถูกเลิกจ้าง อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่เป็นกังวลในเรื่องนายจ้างจะไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะสถานประกอบการต้องปิดชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่ขณะนี้สถานประกอบการยังจ่ายค่าจ้างอยู่ ซึ่งมีอัตราตั้งแต่ 100% 75% และ 50% ของเงินเดือน ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยประสานกับผู้ประกอบการเพื่อให้จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานเต็มจำนวน รวมทั้งตอนนี้ยังมีแรงงานบางส่วนติดอยู่ตามหอพัก อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องอาหาร น้ำดื่ม และเครื่องอุปโภคให้แก่แรงงานกลุ่มนี้ด้วย

ด้าน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธาน คสรท.กล่าวว่า เรื่องนี้ก็เป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือลูกจ้างด้วย ไม่ใช่แค่นายจ้างเท่านั้น โดยตนเสนอว่า 1.รัฐบาลควรมีการหารือกับนายจ้างที่ประสบภัยว่า ระหว่างฟื้นฟูจะสามารถจ่ายค่าจ้างให้แก่พนักงานในสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้รัฐบาลควรยื่นมือช่วยเหลืออีกทาง 2.เมื่อมีการฟื้นฟูแล้วเสร็จ ขอให้นายจ้างรับคนงานเดิมกลับเข้าทำงาน โดยไม่หันไปจ้างแรงงานที่ค่าแรงถูกกว่า และ 3.รัฐบาลต้องอย่าละเลยกลุ่มลูกจ้าง ซึ่งเป็นคนตัวเล็กๆ ที่ไม่สามารถไปต่อรองกับใครได้ แต่มีจำนวนมาก จึงอยากวิงวอนให้เห็นใจกลุ่มแรงงานด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น