xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดค่าจ้างเสียงแตกไม่เคาะเพิ่ม 40%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ดค่าจ้างเสียงแตกเสนอ 2 แนวทางขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ฝ่ายรัฐเสนอ 2 ปี  ขณะที่นายจ้างโวยมาตรการอุ้มผู้ประกอบการไม่ชัดเจน   ชงมาตรการ 4 ขั้นทยอยขึ้นค่าจ้าง  4 ปี วอนรัฐหนุนส่วนต่างค่าจ้าง   ถอดใจหากโหวตแพ้  นัดถกใหม่ 17 ต.ค.นี้ “สมเกียรติ” วอนกระทรวงที่เกี่ยวข้องเร่งเดินหน้ามาตรการอุ้มธุรกิจรองรับค่าจ้าง 300 บาท

วันนี้ (5 ต.ค.) เวลา 09.30-13.30 น.ที่กระทรวงแรงงานได้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยมีการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีนพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลางเป็นประธานการประชุม  

       
นพ.สมเกียรติ กล่าวภายหลังประชุมเป็นเวลาเกือบ 4 ชั่วโมงว่า  ที่ประชุมยังไม่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทโดยระยะแรกจะปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2555   แต่มีข้อเสนอทางเลือกให้ 2 แนวทาง คือ 1. ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทภายใน 2 ปี โดยปีแรก ปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2555 ส่วนปีที่สอง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.2556 โดยมีเงื่อนไขว่าในปีแรกจังหวัดใดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้ว ก็ให้คงอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่นั้นไว้ 2-3 ปี เพื่อแบ่งเบาภาระให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว

    
ทั้งนี้  ส่วน แนวทางที่สอง ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแบบขั้นบันไดในเวลา 4 ปี โดยไม่ต้องอาศัยกลไกพิเศษเข้ามาช่วย เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัวได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ได้ขัดข้องทั้งสองแนวทาง แต่อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการค่าจ้างกลางไปรวบรวม มาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการมาเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งหน้า วันที่ 17 ต.ค.2555 เวลา 09.30 น.ที่กระทรวงแรงงาน

“ในที่ประชุมตัวแทนฝ่ายรัฐและฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างในเวลา 2 ปี  ขณะที่ฝ่ายนายจ้างขอเวลา 4 ปีและเสนอมาตรการเพิ่มเติมเช่น  การลดภาษีมูลค่าเพิ่ม   แต่ก็เข้าใจฝ่ายของนายจ้าง   ซึ่งต้องการเห็นมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เพราะนายจ้างเป็นผู้จ่ายเงินให้แก่ลูกจ้าง  จึง อยากรู้ว่าเขาจะได้รับความช่วยเหลือกลับมาอย่างไรบ้าง แต่วันนี้ยอมรับว่ามาตรการต่างๆ ก็ยังไม่ชัดเจน ซึ่งในฐานะบอร์ดค่าจ้างก็ไม่ได้เป็นเจ้าของเรื่องที่จะไปตอบแทนหน่วยงานเจ้า ของเรื่องได้   อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะไปหารือกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์   รมว.แรงงาน  ขอ ให้ช่วยพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อให้ออกมาช่วยชี้แจงมาตรการต่างๆ ในส่วนที่รับผิดชอบ รวมทั้งอยากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้า สู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พร้อมกันไปในคราวเดียวเพื่อให้มาตรการช่วยเหลือออกมา เป็นแพคเกจ”  นพ.สมเกียรติ กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า     ในส่วนของกระทรวงแรงงานมีความชัดเจนอยู่แล้ว เช่น การลดจ่ายเงินสมทบประกันสังคมลงฝ่ายละ 1.5% ใน 4 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร และเสียชีวิตจากเดิมฝ่ายรัฐบาลจ่ายอยู่ที่ 2.75% และ ฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างจ่ายอยู่ที่ฝ่ายละ 5% ของค่าจ้างโดยการลดเงินสมทบนี้จะครอบคลุมแรงงานในระบบประกันสังคมทั้ง 9.6 ล้านคน และขอยืนยันว่าจะไม่ไปกระทบถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ รวมทั้งเงินออมชราภาพด้วย   ทั้งนี้  จะเสนอให้รัฐบาลนำเงินสมทบในส่วนที่ลดลง 1.5% ในส่วนของรัฐบาล ไปเติมไว้ในส่วนของกรณีว่างงานและเงินออมชราภาพ ซึ่งเป็นมาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราวในระยะ 1-2 ปีเท่านั้น  รวมถึงโครงการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่จะเสนอขออนุมัติงบลงทุนเพื่อสังคม วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยจะเสนอต่อบอร์ด สปส.ในวันที่ 11 ต.ค.นี้  และการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้ผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้น

“ผม ตั้งใจว่าจะให้ได้ข้อยุติเรื่องปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 ต.ค.นี้ เพื่อให้ทันกับแผนการปรับขึ้นค่าจ้าง  ผมไม่อยากใช้วิธีการโหวต  แม้จะชนะ  แต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน  อย่างไรก็ตาม คิดว่าถึงจุดหนึ่งต้องมีข้อยุติ แต่อยากให้เป็นความเห็นร่วมกัน” นพ.สมเกียรติ กล่าว

    

นายอรรถยุทธ   ลียะวณิช   กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง  กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างได้เสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 4-5% เพื่อลดต้นทุนของนายจ้าง และเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกจ้าง เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้รับประโยชน์ ส่วนมาตรการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ทางเอสเอ็มอีก็ไม่อยากเป็นหนี้
 

นายอรรถยุทธ กล่าวอีกว่า  ได้เสนอมาตรการ 4 ขั้น คือ ให้พิจารณาตามกรอบที่ได้เคยทำมา คือ ขั้นแรก วันที่ 1 ม.ค. 2555 ปรับขึ้นจากค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพฯ คือ 215 บาท เป็น 230 บาท ขั้นที่สอง วันที่ 1 ม.ค. 2556 ปรับขึ้นเป็น 245-255 บาท ขั้นที่สาม วันที่ 1 ม.ค.2557 ปรับขึ้นเป็น 265-275 บาท ขั้นที่สี่ วันที่ 1 ม.ค. 2558 ปรับขึ้นเป็น 300 บาท โดยส่วนต่าง 300 บาท ที่ภาครัฐได้หาเสียงไว้ก็เป็นส่วนที่รัฐบาลจะต้องชดเชยในส่วนนี้ เป็นขั้นบันไดตามค่าจ้างที่ปรับขึ้นรายปี ซึ่งเมื่อครบปี 2558 รัฐก็หยุดชดเชย เพราะค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นมาที่ 300 บาทพอดี

“ที่ผ่านมารัฐบาลชดเชยทั้งน้ำท่วม ทั้งจำนำข้าว จึงอยากให้เข้ามาชดเชยส่วนต่างค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท นี้ด้วย ซึ่งถ้าทำได้รัฐบาลก็ไม่ต้องมีมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เพราะเป็นสิ่งที่ทางรัฐบาลและพรรคร่วมได้หาเสียงและสัญญากับประชาชนไว้ ซึ่งคาดว่าการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 17 ต.ค. หากมีการโหวตก็เตรียมใจไว้แล้วถ้าจะต้องแพ้โหวต” นายอรรถยุทธ กล่าว

        
วันเดียวกันเวลา 09.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน  น.ส.วิไลวรรณ   แซ่เตีย   รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน

น.ส.วิไลวรรณ กล่าวว่า  คสรท.มี มติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ ซึ่งในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น. คสรท.จะร่วมกับองค์การแรงงานต่างๆ รวมประมาณ 3 พันคน ไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ รวมทั้งขอให้ช่วยผลักดันการรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อให้แรงงานสามารถจัดตั้งสหภาพและรวมตัวเรียกร้องสวัสดิการต่างๆ จากนายจ้างได้

“แรงงานสนับสนุนนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทของรัฐบาล และอยากให้ทำพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า หากรัฐบาลไม่สามารถทำได้ ทาง คสรท.ก็จะหารือกันเพื่อดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมาย โดยรวบรวมรายชื่อยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะรัฐบาลทำผิดกฎหมายในเรื่องการหาเสียงเลือกตั้ง”  รองประธาน คสรท. กล่าว

นายเผดิมชัย   กล่าวภายหลังรับหนังสือดังกล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้เร่งดำเนินการเรื่องปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทอย่างเต็มที่   ซึ่งเหตุผลที่ต้องดำเนินการในเวลา  2 ปี เนื่องจากรัฐบาลมีมาตรการในการลดภาษีนิติบุคคล โดยปี 2555 จะลดจาก 30% เหลือ 23% และปี 2556 ลดจาก 23% เหลือ 20%  ทั้งนี้  การลดหย่อนภาษีต้องทำเป็นรอบปี  จึงไม่สามารถปรับค่าจ้าง 300 บาททั่วประเทศได้ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ตามที่แรงงานเรียกร้องได้  ส่วน ที่แรงงานจะออกมาเคลื่อนไหวให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง โดยจะไปยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เป็นสิทธิที่สามารถเคลื่อนไหวได้  แต่อยากให้เป็นไปตามครรลอง และไม่กระทบต่อการท่องเที่ยว
กำลังโหลดความคิดเห็น