xs
xsm
sm
md
lg

ค่าจ้าง300บ.ไร้ข้อสรุปบอร์ดเลื่อนถก17 ต.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-บอร์ดค่าจ้างเสียงแตก เสนอ 2 แนวทางขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ฝ่ายรัฐเสนอ 2 ปี ลูกจ้างขอขึ้นทันที 1 ม.ค.55 ทั่วประเทศ นายจ้างขอทะยอย 4 ปี โวยมาตรการช่วยผู้ประกอบการไม่ชัด หวั่นขึ้น 40%ขัดมาตรา 87 กม.คุ้มครองแรงงาน เลื่อนถกใหม่ 17 ต.ค.นี้ ด้าน “สมเกียรติ” ชี้ทำตามกฎหมายถูกขั้นตอน ไม่ได้ล็อบบี้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด

วานนี้ (5 ต.ค. ) เวลา 09.30 -13.30 น. ที่กระทรวงแรงงานได้มีการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลาง โดยมีการพิจารณาการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมี นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลางเป็นประธานการประชุม

นพ.สมเกียรติ กล่าวภายหลังประชุมว่า ที่ประชุมยังไม่มีมติปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท โดยระยะแรกจะปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2555 แต่มีข้อเสนอทางเลือกให้ 2 แนวทาง คือ 1.ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทภายใน 2 ปี โดยปีแรก ปรับเพิ่มขึ้น 40% ทุกจังหวัดในวันที่ 1 ม.ค.2555 ส่วนปีที่สอง ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศในวันที่ 1 ม.ค.2556 โดยมีเงื่อนไขว่าในปีแรกจังหวัดใดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำถึง 300 บาทแล้ว ก็ให้คงอัตราค่าจ้างที่ปรับใหม่นั้นไว้ 2-3 ปี เพื่อแบ่งเบาภาระให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัว

ทั้งนี้ ส่วนแนวทางที่สอง ให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแบบขั้นบันไดในเวลา 4 ปี โดยไม่ต้องอาศัยกลไกพิเศษเข้ามาช่วย เพื่อให้นายจ้างได้มีเวลาปรับตัวได้มากขึ้น ทั้งนี้ ตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่ได้ขัดข้องทั้งสองแนวทาง แต่อยากให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการค่าจ้างกลางไปรวบรวมมาตรการต่างๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการมาเสนอต่อที่ประชุมในการประชุมครั้งหน้า วันที่ 17 ต.ค.2555 เวลา 9.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน

“ในที่ประชุมตัวแทนฝ่ายรัฐและฝ่ายลูกจ้างเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างในเวลา 2 ปี ขณะที่ฝ่ายนายจ้างขอเวลา 4 ปีและเสนอมาตรการเพิ่มเติม ซึ่งยอมรับว่ามาตรการต่างๆ ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น จากนี้จะไปหารือกับนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน ขอให้ช่วยพูดคุยกับกระทรวงการคลัง และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อให้ออกมาช่วยชี้แจงมาตรการต่างๆ ในส่วนที่รับผิดชอบ รวมทั้งอยากให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเสนอมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเข้าสู่คณะรัฐมนตรี(ครม.)พร้อมกันไปในคราวเดียวเพื่อให้มาตรการช่วยเหลือออกมาเป็นแพคเกจ”นพ.สมเกียรติ กล่าว

นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า กระบวนการต่างๆดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสนอตัวเลขมาจากอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดอย่างเป็นขั้นตอน เพียงแต่การให้น้ำหนักในการคำนวนต่างๆเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ยึดติดกับแนวทางที่เคยทำมา และไม่มีการล็อบบี้อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด เพียงแต่ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัดในการจัดประชุมและเสนอตัวเลขมายังส่วนกลางโดยเร็วเท่านั้น

นายอรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง กล่าวว่า ฝ่ายนายจ้างได้เสนอให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เหลือ 4-5% เพื่อลดต้นทุนของนายจ้าง และเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกจ้าง เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% เหลือ 23% ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ได้รับประโยชน์ ส่วนมาตรการให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ทางเอสเอ็มอีก็ไม่อยากเป็นหนี้

นายอรรถยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติให้ปรับเพิ่มค่าจ้างออกมา 40% ถือว่าไม่เป็นไปตามกรอบมาตรา 87 แม้กฎหมายคุ้มครองแรงงานจะไม่กำหนดบทลงโทษไว้แต่ก็มีคำถามว่าเป็นมติที่ชอบด้วยมาตรา 84 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่

วันเดียวกันเวลา 09.30 น. ที่กระทรวงแรงงาน น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้มายื่นหนังสือต่อนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน และปลัดกระทรวงแรงงาน โดยยืนยันว่า ขอให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทพร้อมกันทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า ตามที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ ซึ่งในวันที่ 7 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น. คสรท.จะร่วมกับองค์การแรงงานต่างๆ รวมประมาณ 3 พันคน ไปยื่นหนังสือต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อให้ทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้
กำลังโหลดความคิดเห็น