xs
xsm
sm
md
lg

คลังเล็งชง 4 มาตรการอุ้ม SME ขึ้นค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.คลัง เตรียมชง 4 มาตรการอุ้มธุรกิจเอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบขึ้นค่าจ้าง 300 บาท “เผดิมชัย” เผย ผู้ประกอบการ-ลูกจ้างหนุนปรับค่าจ้างภายใน 1 ปี ปลัดแรงงานสั่งแรงงานจังหวัดล็อบบี้ผู้ว่าฯ ประสานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเร่งประชุมภายใน 29 ก.ย.นี้ ยันปรับค่าจ้างได้ข้อยุติกลาง ต.ค.นี้ แจงลูกจ้างได้อานิสงส์ 5.3 ล้านคน ในจำนวนนี้อยู่ในธุรกิจเอสเอ็มอี 1.7 ล้านคน

วันนี้ (22 ก.ย.) นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) กล่าวถึงความคืบหน้าการผลักดันนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทต่อวันว่า ในการประชุมมอบนโยบายแก่ผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงแรงงานทุกหน่วยงานในวันนี้ ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานช่วยกันผลักดันนโยบายดังกล่าว เพราะเป็นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อให้แรงงานได้รับค่าจ้างที่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ก็ได้เสนอของบประมาณให้แก่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานประมาณ 3 พันล้านบาทเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้นายจ้างรู้สึกว่าคุ้มค่าที่จะปรับขึ้นค่าจ้าง ซึ่งคาดว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2555 จะมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.ปีหน้า

รมว.แรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานเริ่มมีความเข้าใจในนโยบายการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ตามรูปแบบที่ตนเสนอโดยจะปรับในระยะแรกร้อยละ 40 เท่ากันทั่วประเทศ เพื่อปรับฐานค่าจ้างให้สูงขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 2555 และภายในปี 2555 จะปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็น 300 บาทครบทุกจังหวัด และจะไม่ปรับค่าจ้างอีก 3 ปี ซึ่งสิ่งที่ผู้ประกอบการยังติดขัดคือเรื่องระยะเวลาในการปรับค่าจ้างอยากให้ปรับในช่วงเวลา 2-3 ปี แต่ด้วยมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาลทั้งมาตรการภาษีและการยกระดับฝีมือผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานก็เริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้น

ส่วนเรื่องที่หลังจากปรับค่าจ้าง 300 บาทแล้ว จะไม่ปรับค่าจ้างเป็นระยะเวลา 3 ปีนั้น จะต้องดูในข้อกฎหมายว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ยังเชื่อว่าในสมัยที่ผมดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่ากากระทรวงแรงงานการไม่ปรับค่าจ้าง 3 ปี จะสามารถทำได้” นายเผดิมชัย กล่าว
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวว่า ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงานร่วมมือกันผลักดันนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารในเรื่องของสถานประกอบการที่ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาทไปแล้ว รวมทั้งได้ให้แรงงงานจังหวัดไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดและอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดทุกจังหวัดก่อนที่จะมีการประชุมเพื่อให้เข้าใจถึงนโยบายและมาตรการของรัฐบาลในการรองรับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ จะได้พิจารณาไปในทิศทางเดียวกันกับนโยบายรัฐบาล รวมทั้งประสานอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดให้เข้าประชุมครบองค์ประชุมเพื่อเร่งพิจารณาการเสนอปรับค่าจ้างขั้นต่ำภายในวันที่ 29 ก.ย.นี้ โดยหัวหน้าหน่วยงานของทุกหน่วยงานของกระทรวงแรงงาน เช่น ผอ.ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดมารอชี้แจงข้อมูลต่างๆ แก่ที่ประชุมด้วย

นอกจากนี้ ได้ให้แรงงานจังหวัดไปดำเนินการ และส่งผลสำรวจผลกระทบและความต้องการในการช่วยเหลือจากรัฐบาลทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างเสนอเข้ามายังกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 7 ตุลาคมนี้ โดยจะนำข้อมูลทั้งผลสำรวจและผลประชุมของอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดแต่ละจังหวัดมาใช้ในการประกอบการพิจารณาในเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาทของคณะกรรมการค่าจ้างกลาง

“เรื่องการปรับค่าจ้างนั้นจะให้ได้ข้อยุติภายในกลางเดือนตุลาคมนี้ โดยจากข้อมูลของกระทรวงแรงงานและกรมสรรพากร พบว่า ปัจจุบันมีลูกจ้างในสถานประกอบการทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็กในระบบประกันสังคมที่มีรายได้ไม่ถึงวันละ 300 บาท ทั้งหมด 5.3 ล้านคนในจำนวนนี้เป็นลูกจ้างของธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีลูกจ้างต่ำกว่า 50 คนเป็นจำนวน 1.7 ล้านคนจากธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 3 แสนแห่งทั่วประเทศ ขณะที่ข้อมูลของสำนักงานวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุมีธุรกิจเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านแห่งทั่วประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำเอาตัวเลขของผู้ประกอบอาชีพอิสระเช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวที่ทำกันเองในครอบครัวไม่ได้จ้างลูกจ้างมารวมอยู่ด้วย” นพ.สมเกียรติ กล่าว

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการลดภาระเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ 1.ยกระดับผลิตภาพด้านเครื่องจักรโดยยกเว้นภาษีเงินจากการขายเครื่องจักรเก่า รวมทั้งตั้งกองทุน Machine Fund วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท โดยสนับสนุนเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ MLR-3 ในการพัฒนาผู้ประกอบการไทยในการสร้างเครื่องจักรระบบอัตโนมัติ เพื่อให้ประกอบการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้วิสาหกิจที่เข้าร่วมโครงการกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อเครื่องจักร 1 ชุดต่อกิจการ บวกงบบริหารอีก 400 ล้านบาท รวมเป็น 10,400 ล้านบาท ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 2 พันกิจการ มีแรงงานได้รับการยกระดับขัดความสามารถ 2 หมื่นคน และลดมูลค่านำเข้าเครื่องจักรได้ไม่น้อยกว่า 4 พันล้านบาท

2.มาตรการยกระดับผลิตภาพด้านแรงงานโดยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีมาจดทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางเพื่อประเมินตนเองและจัดฝึกอบรมแรงงานตามความต้องการของธุรกิจอย่างเป็นระบบโดยนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมมาหักภาษีได้ 2 เท่า 3.มาตรการสนับสนุนด้านแหล่งเงินทุนโดยให้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำและขยายเป้าสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาเรื่องสินเชื่อของเอสเอ็มอีโดยให้บรรษัทบริหารสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาค้ำประกันเงินกู้ให้เอสเอ็มอีในวงเงินรวมทั้งสิ้น 6 หมื่นล้านบาท แยกเป็นวงเงินเดิมที่มีอยู่แล้ว 5 หมื่นล้านบาท และวงเงินที่จะตั้งเพิ่มอีก 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งผลักดันกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และ 4.มาตรการลดภาระต้นทุนโดยลดอัตราภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในปีหน้า และนำส่วนต่างค่าแรงมาหักภาษีได้ 2 เท่า

“มาตรการข้างต้นเป็นของกระทรวงการคลัง ซึ่งคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า ผมได้มอบให้หน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงแรงงานในแต่ละจังหวัด เช่น แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนำข้อมูลนี้ไปชี้แจงต่อผู้ประกอบการและอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังได้มีมาตรการอื่นๆรองรับเช่น การพัฒนาฝีมือแรงงานซึ่งสถานประกอบการสามารถกู้เงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยต่ำและนำค่าฝึกอบรมมาขอลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่าตาม พ.ร.บ.พัฒนาฝีมือแรงงานพ.ศ. 2545 อีกทั้งจะเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) ขออนุมัติงบลงทุนเพื่อสังคมวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท เพื่อปล่อยกู้แก่สถานประกอบการผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยสปส.ขอดอกเบี้ยจากธนาคาร 1% และธนาคารเอาไปปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ย 2.5% โดยการปล่อยกู้มีเงื่อนไขว่าสถานประกอบการต้องรักษาสภาพการจ้างงานหรือห้ามเลิกจ้างลูกจ้าง รวมทั้งต้องมีโปรแกรมการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วย ทั้งนี้ ตามกฎหมายประกันสังคมสามารถทำได้และเงินดังกล่าวเป็นเงินกู้ไม่ใช่เงินช่วยเหลือสถานประกอบการ โดยทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างได้รับประโยชน์จากโครงการนี้” นพ.สมเกียรติ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น