xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดค่าจ้างมีมติสั่งสำรวจผลกระทบหากปรับค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
บอร์ดค่าจ้างมีมติสั่งสำรวจค่าครองชีพ พร้อมศึกษาผลกระทบก่อนขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน นายจ้างโวยต้องรับภาระแทนพรรคการเมือง  ลูกจ้างโอดรับเละค่าครองชีพพุ่งเกิน 300 บาท  บ่นสำรวจข้อมูลซ้ำซาก

           
วันนี้ (15 ส.ค.) นพ.สมเกียรติ   ฉายะศรีวงศ์   ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง (บอร์ดค่าจ้าง) เปิดเผยผลประชุมคณะกรรมการค่าจ้างว่า ที่ประชุมบอร์ดค่าจ้างวันนี้   ยังไม่ได้มีการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  อย่างไรก็ตาม  ที่ประชุมได้มอบให้ทุกฝ่ายไปรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เช่น ต้นทุนสินค้า อัตราเงินเฟ้อ ตัวเลขจีดีพีโดยให้เวลาดำเนินการ 4 เดือนก่อนที่จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันตามนโยบายรัฐบาลในช่วงเดือนมกราคม ปี 2555  รวมทั้งที่ประชุมให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปสำรวจค่าครองชีพมาใหม่ด้วย เพื่อให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันส่งผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ ตนจะรวบรวมข้อคิดเห็นทั้งหมดเสนอ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อไป
           
“ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นเท่าไหร่ก็ได้ หากแรงงานมีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบ มีวินัย และสามารถผลิตชิ้นงานได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะเข้าไปช่วยในเรื่องนี้เพื่อที่เติมเต็มศักยภาพให้แก่แรงงานไร้ฝีมือ” นพ.สมเกียรติ กล่าว
           
นพ.สมเกียรติ กล่าวอีกว่า  ส่วนการที่ รมว.แรงงาน สั่งให้ตนสำรวจข้อมูลอัตราค่าจ้าง โดยเฉพาะตัวเลขของแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 300  ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อนำมาเป็นฐานในการปรับขึ้นค่าจ้างตามนโยบาย 300 บาทนั้น ล่าสุด ตนได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทุกจังหวัด สำรวจตัวเลขดังกล่าว โดยจะนับเฉพาะผู้ที่หักส่งเงินสมทบโดยมีฐานเงินเดือน ต่ำกว่า 9,000  บาท คาดว่า จะสามารถนำเสนอข้อมูลดังกล่าวได้ ภายใน 1-2 วันนี้
           
นายปัณณพงศ์   อิทธิ์อรรถนนท์   กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง  กล่าวว่า  อยากให้รัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำโดยทำแบบเป็นขั้นบันได ซึ่งปีนี้ควรปรับขึ้นค่าจ้างไม่ต่ำกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล    หลังจากนั้น จึงค่อยขยับปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวัน ภายใน 2-3 ปี  
           
“เมื่อพรรคการเมืองหาเสียงด้วยนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  300 บาทต่อวัน  ถ้าพรรคการเมืองมีความสามารถก็ต้องทำให้ได้จริง    ทำไมต้องโยนภาระมาให้พวกผมรับผิดชอบ     หากมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300  บาทต่อวัน ก็เท่ากับเป็นการช่วยพรรคการเมืองพรรคหนึ่งไม่ให้ถูกยุบพรรคตามมาตรา 53 (5) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสส.และการได้มาซึ่งสว.ปี 2550   ในเรื่องความผิดการหาเสียง” นายปัณณพงศ์   กล่าว 
           
นายอรรถยุทธ    ลียะวณิช    กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายนายจ้าง  กล่าวว่า  ที่ประชุมได้มอบให้ฝ่ายนายจ้างไปรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน ของหน่วยงานต่างๆเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย ศูนย์วิจัยของหน่วยงานต่างๆ     รวมถึงให้คณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดไปศึกษาตัวเลขค่าครองชีพและอัตราค่าจ้างที่เสนอปรับขึ้นมาใหม่แล้วนำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งหน้า เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างและวางแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา  อย่างไรก็ตาม  คงไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นในเดือนตุลาคมนี้ แต่คาดว่า จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างในเดือนมกราคมปี 2555  ส่วนจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวันคราวเดียวหรือไม่นั้น ยังบอกอะไรไม่ได้ในขณะนี้เพราะต้องรอฟังความชัดเจนจากนโยบายรัฐบาล  รวมทั้งดูถึงผลกระทบ และเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องมาพิจารณาร่วมกันผ่านระบบไตรภาคี
           
“ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันตามนโยบายรัฐบาลนั้น ฝ่ายนายจ้างได้มีการหารือกันมาเรื่องนี้มาเป็นระยะ  ทั้งนี้  จะต้องมาดูผลประกอบการในช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ด้วยว่าเป็นอย่างไร  แต่โดยส่วนตัวผมอยากให้การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นไปตามกฎหมายและกลไกระบบไตรภาคี ไม่อยากให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ทั้งนี้  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่ทำเพื่อสนองนโยบายของพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง ไม่เช่นนั้นเลือกตั้งครั้งหน้าหากมีพรรคการเมืองหาเสียงบอกว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 500 บาทต่อวัน  คณะกรรมการค่าจ้างกลางก็ต้องทำตามนโยบายฝ่ายการเมือง” นายอรรถยุทธ กล่าว  
           
นายชัยพร   จันทนา  กรรมการค่าจ้างกลางฝ่ายลูกจ้าง  กล่าวว่า   ทุกวันนี้ลูกจ้างไม่ได้ดีใจกับนโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันเลย  หลังจากที่มีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายดังกล่าวมาก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาสินค้าได้พุ่งเกินค่าจ้าง 300 บาทไปแล้ว
           
ปัญหาของลูกจ้างขณะนี้ คือ ราคาสินค้าที่พุ่งเกินค่าจ้าง 300 บาท ซึ่งค่าจ้าง 300 บาทต่อวันไม่ได้สะท้อนค่าครองชีพที่แท้จริง ขณะที่ค่าจ้างปัจจุบันควรอยู่ที่กว่า 400 บาทต่อวัน สาเหตุหลักมาจากที่ค่าจ้างขั้นต่ำถูกกดมานานทำให้ไม่สามารถที่จะปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดได้  ทุกวันนี้ฝ่ายลูกจ้างต้องรับเละฝ่ายเดียว” นายชัยพร กล่าว
           
นายชัยพร กล่าวอีกว่า ฝ่ายลูกจ้างไม่พอใจในเรื่องการสำรวจค่าครองชีพ และการเสนอปรับตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำอีกรอบเพราะได้สำรวจกันหลายรอบแล้ว ซึ่งมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองโดยแต่ละฝ่ายต่างดูถึงท่าทีกันและกัน   ดังนั้น ขอเสนอรัฐบาลให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน ทันทีในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดที่มีสภาพเศรษฐกิจดีเพราะผลกระทบมีน้อยกว่าการปรับขึ้นพร้อมกันทีเดียวทั่วประเทศ  เนื่องจากบางจังหวัดยังมีค่าจ้างขั้นต่ำกว่า 100 บาทต่อวัน หากปรับขึ้นเป็น 300 บาทต่อวันเท่ากับปรับขึ้นกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทำให้ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจนอยู่ไม่ได้และลูกจ้างถูกเลิกจ้างตามมา   
           
ทั้งนี้ ในฐานะตัวแทนกรรมการฝ่ายลูกจ้างก็เป็นห่วงในประเด็นนี้  ขณะนี้ลูกจ้างที่อยู่ในข่ายรับค่าจ้างขั้นต่ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งหมดประมาณกว่า 5 ล้านคน ถ้าทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งไม่รวมแรงงานต่างด้าว   ส่วนมาตรการดูแลจังหวัดที่ผู้ประกอบการไม่สามารถปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาทต่อวันได้ ก็ให้คูปองค่าครองชีพเติมเข้าไปให้ได้ค่าจ้างขั้นต่ำ  300 บาทต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น