xs
xsm
sm
md
lg

สภานายจ้างขวางรัฐบาลใหม่ อย่ารื้อไตรภาคี ปรับค่าจ้าง 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สภาองค์การนายจ้าง 7 องค์การผนึกกำลังต้านรัฐบาลใหม่รื้อระบบไตรภาคีพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้าง  ยันกลไกระบบไตรภาคีใช้ได้ดี ทุกฝ่ายเชื่อถือ  ไม่ค้านขึ้นค่าจ้าง 300  บาท  แนะทยอยปรับใน 4 ปีใช้มาตรการลดภาษีค่าน้ำ-ไฟฟ้า ลดต้นทุนเอสเอ็มอี             

วันนี้ (22 ก.ค.) ดร.วัลลภ    กิ่งชาญศิลป์ ประธานสภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทยแถลงผลหารือระหว่างสภาองค์การนายจ้าง 7 องค์กรที่สโมสรทหารบก กทม.ว่า  ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ  300   บาทต่อวันของรัฐบาลชุดใหม่   ซึ่งในฐานะสภาองค์การนายจ้างเป็นฝ่ายหนึ่งในไตรภาคีของคณะกรรมการ(บอร์ด)ค่าจ้างกลางของกระทรวงแรงงานได้มีมติไม่เห็นด้วย  หากรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาก้าวล่วงบทบาทและหน้าที่ในการพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของบอร์ดค่าจ้างกลาง

ดร.วัลลภ กล่าวว่า ไตรภาคีเป็นการพิจารณาร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐบาล นายจ้างและลูกจ้างโดยมีหลักเกณฑ์ที่ดีและใช้ได้  และข้อมูลรองรับชัดเจน เช่น ค่าครองชีพของแรงงาน  อัตราเงินเฟ้อ  ภาวะเศรษฐกิจของประเทศและของโลก   ซึ่งทุกฝ่ายยอมรับและใช้มานานนับ 10 ปีแล้ว  ดังนั้น จึงไม่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ไปแก้พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 เพื่อล้มระบบไตรภาคี อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลชุดใหม่ล้มระบบไตรภาคีแล้วการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่เป็นที่พอใจของลูกจ้างก็ต้องรับผิดชอบเอง
           

“นโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ไม่ว่าจะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเท่ากันทั่วประเทศหรือนำร่องแค่เฉพาะในกทม. ปริมณฑลและภูเก็ตก่อนล้วนแต่มีผลกระทบทั้งสิ้น ทำให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าไทย แรงงานอพยพเคลื่อนย้ายมากระจุกตัวทำงานในกทม.และจังหวัดที่ได้ค่าจ้าง 300 บาท และผู้ประกอบการก็ย้ายฐานการผลิตมาอยู่ที่กทม.เพราะต้องการประหยัดค่าขนส่ง  ทำให้แรงงานต่างจังหวัดไม่มีงานทำแต่ต้องซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคแพงขึ้น” ดร.วัลลภ กล่าว 
           

นายวรพงษ์      รวิรัฐ         รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า  นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลชุดใหม่นั้นเร็วและไกลเกินไป  จึงควรค่อยๆปรับไปอย่างเป็นขั้นตอนและมีมาตรการรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น  เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้างต่างได้รับผลกระทบจากนโยบายนี้ ซึ่งนอกจากธุรกิจเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบแล้ว ยังรวมไปถึงธุรกิจภาคบริการเช่น  เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย(รปภ.)และแม่บ้าน ซี่งมีมากกว่า 4.5 แสนคน ซึ่งนายจ้างจะต้องแบกรับต้นทุนสูงขึ้นโดยสมาคมผู้ประกอบการในสองอาชีพนี้จะประชุมหารือกันและแถลงท่าทีในวันที่ 8 ส.ค.นี้ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค  ขณะที่ลูกจ้างนั้นขณะนี้ส่วนใหญ่ 80% จบแค่ชั้นประถมศึกษาไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน   จะทำให้ตกงานได้  
             

นายประสิทธิ์     จงอัศญากุล       ประธานสภานายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า  ไม่เห็นด้วยหากรัฐบาลชุดใหม่ จะเข้ามาทำลายระบบไตรภาคีเพราะช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง  อย่างไรก็ตาม   สภาองค์การนายจ้างไม่ได้คัดค้านนโยบายปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน แต่อยากให้ดำเนินการไปตามขั้นตอนและเกณฑ์ของระบบไตรภาคี  เนื่องจากตัวเลขค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันของรัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่มีที่มาที่ไปและข้อมูลรองรับที่ชัดเจน  
           

รัฐบาลจะต้องมีมาตรการรองรับเพื่อลดต้นทุนให้แก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี  ซึ่งไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 27%    เช่น ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแบบขั้นบันไดในเวลา 3-4 ปี  แต่หากจะปรับทันทีก็ต้องมีมาตรการรองรับ เช่น ลดมูลค่าเพิ่ม ให้เครดิตค่าสาธารณูปโภคทั้งค่าไฟฟ้า  ประปาแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีโดยสมมติธุรกิจเอสเอ็มอีมีกำลังจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำได้แค่ 240 บาทต่อวันที่เหลือเป็นส่วนต่าง 60 บาท  รัฐบาลก็จ่ายต้นทุนส่วนต่างนี้ให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีและปีต่อๆไปก็ค่อยลดเหลือ 40 บาทและ20 บาทจนธุรกิจเอสเอ็มอีมีกำลังจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันได้เองทั้งหมด อย่างไรก็ตาม จะรอฟังนโยบายและมาตรการรองรับของรัฐบาลชุดใหม่และรมว.แรงงานคนใหม่”นายประสิทธิ์ กล่าว
           

นายประสิทธิ์  กล่าวด้วยว่า   วันนี้ช่วงบ่ายสภาองค์การนายจ้างทั้ง 7 องค์กรได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้ศาลพิจารณายกเลิกคำสั่งของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ที่จะเรียกเก็บเงินจากสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ปีละ 2.3 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปีแรกในการที่จะโอนสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนกว่า 9.6 ล้านคนจากระบบประกันสังคมไปยังระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สปสช.ดูแลอยู่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและขัดต่อมาตรา 5 ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2545
กำลังโหลดความคิดเห็น