xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจี้ปรับค่าจ้าง-หนุนตั้งสหภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เนต
นักวิชาการ จี้ รมว.แรงงาน เดินหน้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บ.-เงิน ป.ตรี 1.5 หมื่น ชี้ บทพิสูจน์รัฐบาลใหม่ แนะขยับค่าจ้างให้แรงงานฝีมือ หนุนตั้งสหภาพแรงงาน ด้าน กก.ค่าจ้าง วอนอย่าแทรกแซงระบบไตรภาคี  ปล่อยให้พิจารณาขึ้นค่าจ้างอย่างอิสระ

วันนี้ (11 ส.ค.) ศาสตราภิชานแล  ดิลกวิทยรัตน์   อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นโยบายด้านแรงงาน ที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน (รมว.รง.) ควรเริ่มดำเนินการทันที คือ การทำตามสัญญาที่ไว้หาเสียงไว้ในเรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ต่อวันทั่วประเทศ และการปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศนั้น แรงงานทั่วประเทศต่างจับตา ว่า รัฐบาลชุดใหม่จะทำได้หรือเปล่า เป็นเรื่องที่พิสูจน์รัฐบาลชุดนี้  ถ้าทำให้เป็นรูปธรรมได้   แรงงานก็จะให้การยอมรับรัฐบาลชุดนี้

ศาสตราภิชานแล กล่าวอีกว่า สิ่งที่อยากให้ รมว.รง.ช่วยผลักดันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานมากที่สุด ก็คือ การปรับค่าจ้างของแรงงานให้เหมาะสม และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตโดยไม่ต้องทำโอที และกู้เงินมาใช้จ่าย จะได้ไม่ต้องเบียดเบียนเวลาที่อยู่กับครอบครัว จนสร้างปัญหาครอบครัวแตกแยก ซึ่งปัจจุบันต้นทุนค่าจ้างอยู่ที่ 10% โดยสินค้าราคา 100 บาท เป็นต้นทุนค่าจ้าง 10 บาท อยากให้ต้นทุนค่าจ้างเพิ่มเป็น 15-20% และแรงงานที่ทำอยู่เดิมซึ่งได้ค่าจ้างมากกว่า 300 บาทต่อวันไปแล้ว จะได้ขยับขึ้นค่าจ้างเป็นทอดๆ ไป แรงงานจะได้เดินหน้าอ้าปากได้   อย่างไรก็ตาม  ไม่เห็นด้วยหากจะนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยส่วนต่างต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นให้แก่นายจ้าง เพราะอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งนายจ้างต้องรู้จักเฉือนเนื้อตัวเองและเสียสละ  รับผิดชอบต่อสังคมบ้าง

        
“ขณะเดียวกัน อยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้การรับรองเรื่องอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) ฉบับที่  87 และ 98  ในเรื่องสิทธิเสรีภาพจัดตั้งสหภาพแรงงาน เพื่อให้แรงงานได้มีสหภาพไว้เจรจาต่อรองสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ กับนายจ้างได้โดยไม่ถูกไล่ออก แต่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่นายจ้างสามารถทำได้   รวมทั้งเร่งพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดรับการปรับขึ้นค่าจ้าง  และยกระดับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้เป็นองค์กรอิสระ ไม่ใช่ให้ปลัดกระทรวงแรงงาน หรือ รมว.แรงงาน เป็นประธานบอร์ด สปส.และสนับสนุนแรงงานนอกระบบสู่ประกันสังคม   ทั้งนี้    นอกจากนโยบายรัฐบาลทั้งสองเรื่องแล้ว  รมว.แรงงาน แทบไม่ต้องคิดทำอะไรใหม่เลย เพราะมีโจทย์ที่ฝ่ายแรงงานได้ชี้เป้าเอาไว้ให้หลายปีแล้ว  แค่รัฐมนตรีทำงานไปตามโจทย์เหล่านี้  จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้ดีขึ้นได้มาก” ศ.ภิชานแล กล่าว

รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์   ผอ.วิจัยการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า  รมว.แรงงาน จะต้องเดินหน้านโยบายที่รัฐบาลได้หาเสียงไว้ทั้งการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน การปรับเงินเดือนปริญญาตรีเป็น 1.5 หมื่นบาท การดูแลต่างด้าว รวมทั้งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและเตรียมมาตรการด้านแรงงานรองรับประชาคมอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2558 และเฝ้าระวังป้องกันการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ไทยถูกต่างประเทศจับตามองเป็นพิเศษ เพราะอยู่ในระดับ 2  หากขึ้นถึงระดับ 3 จะถูกกีดกันทางการค้า  ดังนั้น กระทรวงแรงงานจึงต้องร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อเฝ้าระวังและแก้ปัญหาในเรื่องนี้

        
นายอรรถยุทธ ลียะวณิช   กรรมการค่าจ้างกลางและเลขาธิการสภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและผู้บริการเครื่องอุปโภคบริโภค กล่าวว่า   ขอขอบคุณ รมว.แรงงาน ที่มีท่าทีประนีประนอมในการเดินหน้านโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยจะดำเนินการผ่านคณะกรรมการระบบไตรภาคีที่มีทั้งฝ่ายรัฐบาล นายจ้าง และลูกจ้าง ร่วมกันพิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น และทำให้ทั้งฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างสามารถอยู่ได้  อย่างไรก็ตาม การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นอยากให้รมว.แรงงานปล่อยให้คณะกรรมการไตรภาคีได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่  ไม่เข้ามาแทรกแซง   ปล่อยให้การปรับขึ้นค่าจ้างเดินไปตามกลไกที่มีอยู่  ซึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการระบบไตรภาคีปฏิบัติหน้าที่ด้วยดี และเป็นเหตุเป็นผลอยู่แล้ว และอยากให้ รมว.แรงงาน สนับสนุนการจัดตั้งสภาองค์การนายจ้างและสภาองค์การลูกจ้างของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ  รวมทั้งจัดสรรงบประมาณสนับสนุนสภาทั้งสองส่วนนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น