xs
xsm
sm
md
lg

“เผดิมชัย” ยันไม่หนักใจนโยบาย 300 บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายเผดิมชัย    สะสมทรัพย์   รมว.แรง งานสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงานในโอกาสเดินทางเข้ามาทำงานวัน แรกโดยมีผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงแรงงานนำโดยนพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ
“เผดิมชัย” เข้าทำงานวันแรก ยันไม่หนักใจนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน  เดินหน้าผ่านระบบไตรภาคีไม่ให้กระทบทั้งฝ่ายนายจ้าง-ลูกจ้าง  เล็งปรับพร้อมกันทั่วประเทศหากทำได้   คาด  1  สัปดาห์หลังรัฐบาลแถลงนโยบายแล้วถกกับภาคเอกชน

วันนี้ (17 ส.ค.) เวลา  08.35 น. นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางเข้ามาทำงานที่กระทรวงแรงงานวันแรก โดยมีผู้บริหารและข้าราชการกระทรวงนำโดย นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงานให้การต้อนรับ ซึ่งนายเผดิมชัยได้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ ได้มี ส.ส.พรรคเพื่อไทย  8  คนได้นำกระเช้ากุหลาบแดงมามอบเพื่อให้กำลังใจแก่นายเผดิมชัยด้วย
       
หลังจากนั้น นายเผดิมชัยให้สัมภาษณ์ว่า การผลักดันนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น จะต้องมาปรึกษากับปลัดกระทรวงแรงงาน  สภานายจ้างต่างๆ และสภาลูกจ้างหรือที่เรียกว่า ระบบไตรภาคี เพื่อหาเหตุผลที่จะทำให้ลงตัว ส่วนรูปแบบการปรับขึ้นค่าจ้างยังไม่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นเป็น 3 ระยะหรือไม่ จะต้องทำการศึกษาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่ายก่อนเพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเดือดร้อน 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้นโยบายค่าจ้าง 300 บาทต่อวันน่าจะมีความชัดเจนแล้วเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าเป็นนโยบายเร่งด่วน นายเผดิมชัยกล่าวว่า ขณะนี้เรื่องนี้ก็มีความชัดเจนอยู่บ้าง แต่เราจะทำในสิ่งที่ไม่ชัดเจนให้ชัดเจนพร้อมกัน ซึ่งขณะนี้ยังบอกไม่ได้เพราะยังไม่มีการแถลงนโยบายของรัฐบาล อยากให้รอฟังการแถลงนโยบายของรัฐบาลในวันที่ 24 ส.ค.นี้ว่าเป็นอย่างไร หลังจากนั้นก็ต้องให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ รวมถึงกระทรวงแรงงานไปจัด ทำร่างแผนนโยบายบริหารราชการแผ่นดินให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 6 ก.ย.นี้ 

รมว.แรงงานกล่าวอีกว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้นยังไม่สามารถระบุเวลาชัดเจนได้ว่าจะทำได้ในเวลา 6 เดือน หรือ 1  ปี เพราะที่ผ่านมาผู้บริหารกระทรวงแรงงานได้มีการทำงานเรื่องนี้มาพอสมควร ขณะเดียวกันนโยบายของพรรคเพื่อไทย (พท.) ก็มีความชัดเจนว่าจะทำให้ทุกคนมีความสุขและโอกาสที่ทัดเทียมกันเพื่อให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งหนึ่งในนโยบายดังกล่าว คือ การเพิ่มค่าตอบแทนให้แก่คนไทยได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ดังนั้น ฝ่ายการเมืองกับข้าราชการก็ต้องมานั่งทำงานร่วมกัน และต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีมาใหม่ก็ต้องรับฟัง ข้อมูลจากทุกฝ่ายเพื่อผลักดันนโยบายให้สำเร็จ

“การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะต้องมองเรื่องดัชนีค่าครองชีพในความเป็นจริง คนไทยควรมีรายได้เพียงพอให้อยู่ได้อย่างไร คนที่มีลูก 1-2 คนสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข ซึ่งอาจจะได้ค่าตอบแทน 300 บาท 400  บาท หรือ  500 บาทต่อวัน ถ้าทำได้  เพราะพื้นฐานนโยบายรัฐบาลอยากให้คนไทยทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีความสุข  ถ้าเขาอยู่ไม่ได้เขาอาจจะทำผิดกฎหมายเพื่อมาเติมเต็มชีวิตและสร้างปัญหาให้แก่สังคมซึ่งจะต้องมองบริบทตรงนี้ด้วย” นายเผดิมชัยกล่าว

รมว.แรงงานกล่าวต่อไปว่า  การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันนั้น  หากเป็นไปได้ก็อยากปรับขึ้นค่าจ้างในทิศทางเดียวกันพร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ของแรงงานก็ขึ้นอยู่ภาคเอกชนจะเสนอมายังรัฐบาล ซึ่งยินดีรับฟังข้อมูล อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว 1 สัปดาห์ ก็อยากจะหารือกับภาคเอกชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งบางเรื่องก็ได้หารือกันไปบ้างแล้วแต่ก็ยังไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ โดยระหว่างก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายของ รัฐบาลก็ได้มีการทำงานควบคู่กันไป แต่ยังไม่สามารถบอกรายละเอียดได้เพราะไม่อยากพูดไปก่อนแล้วทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าได้มีการตกลงกันแล้ว ขณะนี้ได้พยายามหาข้อมูลที่จะไม่ทำให้ทั้ง 3 ฝ่ายได้รับความเดือดร้อน   
“ผมไม่มีความหนักใจในเรื่องนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเราต้องการทำให้คนไทยมีความสุขซึ่งเราก็ต้องไม่ไปเอาเปรียบสังคมเพื่อให้พวกเขาอยู่ได้โดยค่าแรงก็ต้องขึ้นไปตามค่าครองชีพ นอกจากนี้ ต้องพูดคุยกับหลายฝ่ายในคณะรัฐมนตรี เช่น ขอให้กระทรวงพาณิชย์ที่ดูแลเรื่องราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะไม่ให้เพิ่มขึ้น หลังปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทแล้ว อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องทำนโยบายนี้อยู่แล้ว ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะถ้ารัฐบาลไม่ทำก็จะผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะหารือกับผู้บริหารกระทรวงแรงงานเพื่อวางแนวทางดำเนินการต่อไป” นายเผดิมชัยกล่าว

รมว.แรงงานกล่าวด้วยว่า ส่วนการขึ้นเงินเดือนให้ผู้ที่จบปริญญาตรีเป็น  15,000  บาท  จะต้องมีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น